เฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม หนุนจัดการความเครียด พบคนไทย 3 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต

Facebook ประเทศไทย และ Instagram เปิดแคมเปญ #RealTalkThailand หนุนจัดการความเครียดและความวิตกกังวลของผู้ใช้งานออนไลน์ หลังพบคนไทยกว่า 3 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิต

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 Facebook ประเทศไทย และ Instagram ประเทศไทยประกาศเปิดตัวแคมเปญ
#RealTalkThailand มุ่งส่งเสริมการมีสุขภาพจิตที่ดีในประเทศไทย และเนื่องในโอกาสวันสุขภาพจิตโลก หรือ World Mental Health Day ที่กำลังจะมาถึง และร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรในประเทศไทย อาทิ อูก้า (Ooca) โนอิ้งมายด์ (Knowing Mind) สมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย (The Samaritans of Thailand) และอแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี พ.ศ. 2563 สร้างบทสนทนาเกี่ยวกับการมีสุขภาพจิตที่ดี พร้อมลดมุมมองเชิงลบและผลักดันให้การพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติและพูดคุยในวงกว้าง

ฟิลิป ชัว หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ Instagram กล่าวว่า หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของอินสตาแกรมคือการดูแลในเรื่องของ wellbeing หรือสุขภาวะจิตของชุมชนออนไลน์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนทั่วโลกต่างเผชิญกับความท้าทายในชีวิตด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า วิกฤตเรื่องสุขภาพได้สร้างความผันผวนให้กับชีวิตของผู้คนอย่างมาก โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข เรื่องการดูแล medical service ต่าง ๆ

คนไทย 3.3 ล้านคนมีปัญหาสุภาพจิต

สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า มีคนไทยจำนวนกว่า 3.3 ล้านคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า และความคิดอยากฆ่าตัวตาย และสถานการณ์การแพร่ระบาดก็ได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเทศมากกว่ากลุ่มอื่น โดยผลการศึกษาขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำปี พ.ศ.2563 พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กและเยาวชนชาวไทยได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด ความทุกข์ และความวิตกกังวล จากความไม่แน่นอนทางด้านการเงินและโอกาสในการถูกจ้างงานในอนาคต

“ดังนั้นเราจึงเห็นแพลตฟอร์มเกี่ยวกับสุขภาพจิตเกิดขึ้นอย่างมากมายบนโลกออนไลน์ หรือบุคคลมีชื่อเสี่ยงออกมาแชร์ประสบการณ์และให้กำลังใจผู้คน เช่นเดียวกับ Facebook และ Instagram เราก็เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่หวังอยากช่วยสังคมในการดูแลสุขภาพจิต จากข้อมูลล่าสุด มีผู้คนจำนวนกว่า 200,000 คน เป็นสมาชิกในกลุ่มบน Facebook ราว 2,000 กลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือผู้คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตยังผลักดันให้เกิดพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์บน Instagram เป็นจำนวนกว่า 2.2 ล้านครั้งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา”

แคมเปญ #RealTalkThailand

สำหรับแคมเปญ #RealTalkThailand เป็นแคมเปญล่าสุดจาก Facebook ประเทศไทย ที่มุ่งให้ความรู้แก่คนไทยเกี่ยวกับวิธีการควบคุมประสบการณ์บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นแคมเปญภายใต้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (United Nations หรือ UN) และโนอิ้งมายด์ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิต เช่น วิธีการจัดการกับความเครียดในสถานการณ์โควิด-19 เคล็ดลับที่แนะนำว่าควรติดต่อเพื่อรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อใด วิธีการรับฟังด้วยความเข้าใจ และวิธีรักตัวเองให้เป็น ซึ่งติดตามได้บนเพจ Facebook Thailand

Instagram กับฟีเจอร์แก้ปัญหาเครียด-กังวล

นอกจากนี้ ฟิลิป ชัว กล่าวอีกว่า ในส่วนของ Instagram การร่วมในแคมเปญนี้มาพร้อมการสร้าง Instagram Guides เพื่อให้ความรู้แก่ผู้คนเกี่ยวกับความสำคัญในการจัดการกับความวิตกกังวลและความเครียด รวมถึงการเป็นผู้ฟังที่ดีให้กับผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหา การเข้าดูไกด์ต่าง ๆ สามารถไปที่หน้าโปรไฟล์ของพันธมิตรแคมเปญ ทั้งโนอิ้งมายด์ อูก้า และสมาคมสะมาริตันส์ จากนั้นกดไปที่ปุ่มไอคอนไกด์เพื่อรับชมไกด์ของพวกเขา

โดยในขณะเยี่ยมชมไกด์ จะเห็นโพสต์และวิดีโอต่าง ๆ ที่ครีเอเตอร์ได้เลือกสรรมาจัดแสดง ซึ่งจะถูกจับคู่กับเคล็ดลับและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังสามารถแชร์ไกด์เหล่านี้ไปยัง Instagram Stories หรือส่งเป็นข้อความ (Direct) ด้วยการกดปุ่มแชร์

ก่อนหน้านี้ อินสตาแกรมได้พยายามทำงานหลายส่วนเพื่อลดปัญหาสุขภาพจิตผู้คน ในการออกโปรดักซ์ หรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ เช่น 1) การซ่อนไลก์ ช่วยในการควบคุมว่าจะทำให้เห็นยอดไลก์หรือไม่ให้เห็นก็ได้ เนื่องจากบางครั้งยอดไลก์ก็เป็นส่วนทำให้บ่งบอกถึงความเป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน ก็อาจเป็นจุดที่สร้างความกดดันแก่ผู้ใช้บางคนได้

2) การจำกัด ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรังแกกันบนโลกออนไลน์ หรือ bullies โดยที่ผู้รังแกจะไม่ได้รับการแจ้งเตือน หรือสามารถมองเห็น เข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาของผู้ใช้ได้ 3) ลิมิต ช่วยให้ผู้คนสามารถซ่อนความคิดเห็นและคำขอในการส่งข้อความตรงโดยอัตโนมัติ จากผู้คนที่ไม่ได้ติดตามหรือผู้คนที่เพิ่งเริ่มติดตามพวกเขาในช่วงที่ผ่านมา

4) การควบคุมด้านการส่งข้อความและการมีปฏิสัมพันธ์ การตั้งค่าที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเลือกได้ว่าต้องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครส่งข้อความหรือแท็กมาหาผู้ใช้งานได้ 5) การควบคุมเนื้อหาที่มีความอ่อนไหว ผู้คนสามารถเลือกเนื้อหาที่พวกเขาเห็นในหน้า Instagram Explore ได้ตามความต้องการของตัวเอง จากการมอบทางเลือกในการเห็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว (sensitive) จำนวนมากขึ้นหรือน้อยลงก็ได้ อินสตาแกรม ยังกรองเนื้อหาบางประเภทออกจากหน้า Explore ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจถูกมองว่ามีความอ่อนไหว หรือสร้างความขุ่นเคือง (offensive) และผู้ใช้วัยรุ่นจะเลือกเห็นเนื้อหาประเภทนี้ในจำนวนน้อยลงได้อย่างเดียวเท่านั้น

และ 6) การเตือน (Nudges) เป็นฟีเจอร์ที่กำลังพัฒนาอยู่ในการสนับสนุนให้ผู้คนหยุดพักและไตร่ตรองว่าเนื้อหาประเภทไหนที่พวกเขาต้องการรับชม และหวังที่จะช่วยเชื่อมต่อผู้คนเข้ากับเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจและยกระดับจิตใจของพวกเขา เป็นการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต

โควิดทำคนโทรปรึกษาความเครียดเพิ่มขึ้นเท่าตัว

ด้านตระกาน เชนศรี นายกสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย หนึ่งในพันธมิตรของแคมเปญ กล่าวว่า พันธกิจหลักของสมาคมคือการป้องกันการฆ่าตัวตาย และช่วยแบ่งเบาความรู้สึกทุกข์ใจของคนที่มีความทุกข์ โดยสามารถโทรเข้ามาผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ และจะมีอาสมัครที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง ช่วยประคองอารมณ์ให้การรับฟังและร่วมพูดคุย ในแต่ละปีมีการให้บริการเฉลี่ย 10,000 สาย แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด เห็นได้ชัดว่าคนมีภาวะความเครียดเพิ่มมากขึ้น

ในปีนี้เฉพาะครึ่งปีแรก เรารับสายไปแล้วกว่า 10,000 สาย ถ้ารวมทั้งปีน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหนึ่งเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าตอนนี้คนมีความเครียดหลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง การทำมาหากิน ความอยู่รอดทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีคนประสบปัญหาอย่างมากมาย และมีความรู้สึกว่ามองไปข้างหน้าแล้วไม่มีความหวัง

องค์กรเริ่มเห็นความสำคัญสุขภาพจิตพนักงาน

ด้านร้อยโทหญิง ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ ประธานกรรมการบริหาร Ooca หรือ อูก้า กล่าวว่า อูก้าเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจิตวิทยาออนไลน์ โดยมีการเชื่อมโยงกับอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในระบบมากกว่า 100 ท่าน โดยการบริการคือสามารถทำให้ผู้คนสามารถจองคิวเข้ามาคุยกับนักจิตวิทยาได้โดยไม่ต้องรอนาน และสามารถจองคิวได้ตลอด 24 ชม.

ทั้งนี้สถิติของความเครียดมีสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ประชาชนคนทั่วไปเริ่มมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต รวมถึงคนเริ่มเปิดรับมากขึ้น แล้วก็คาดหวังว่า สังคมเราจะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้เกิดความเข้าใจว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่รอให้เป็นโรคซึมเศร้าก่อนค่อยไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย

“อูก้าพยามให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านช่องทางทั้ง facebook-Instagram เป็นประจำ ซึ่งปีที่แล้วยอดผู้ใช้งานรวมมีประมาณ 80,000 คน แต่ปัจจุบันยอดผู้ใช้งานรวมเพิ่มขึ้นเป็น 120,000 คน ถือว่าเพิ่มขึ้นมามากพอสมควร และเห็นแนวโน้มว่าไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่ให้ความสนใจสุขภาพจิตตนเอง แม้กระทั่งองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็เปิดใจมากขึ้น สนับสนุนพนักงานเข้ามาใช้บริการ แสดงว่า องค์กรหรือเอชอาร์ เริ่มเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มีแต่สุขภาพกายที่สำคัญ ถ้าพนักงานสุขภาพใจไม่ดี หรือได้รับผลกระทบบางอย่างที่ทำให้สูญเสียกำลังใจ ก็ไม่สามารถทำงานออกมาได้ดี”

ค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรคเข้าถึงจิตแพทย์

ด้านสมภพ แจ่มจันทร์ นักจิตวิทยาการปรึกษา และผู้อำนวยการ Knowing Mind Center ศูนย์บริการด้านการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ กล่าวว่า เราเป็นศูนย์บริการเล็ก ๆ ที่มีนักจิตวิทยาเพียง 7 คน ใน 1 ปี รองรับผู้เข้ามาใช้บริการราว 2,000-3,000 คน จากข้อมูลที่ผ่านมาร้อยละ 90 คนที่เข้ารับคำปรึกษาเป็นคนธรรมดาทั่วไป มีเพียงร้อยละ 10 ที่มีอาการจิตเวชที่จิตแพทย์ส่งมา ผมเชื่อว่าเรื่องสุขภาพจิตใคร ๆ ก็มีเพียงแต่ว่ามีแล้วเราจะหาทางออกอย่างไร

“ทุกคนมีความไม่สบายใจ แต่ไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่าต้องพบแพทย์ตอนไหน เพราะบางคนกว่าจะมาพบแพทย์อาการก็รุนแรงมากแล้ว ปัจจุบันนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิตก็มีความหลากหลาย มีทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักบำบัด การเลือกไปหาผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็เลือกได้ยากเช่นกัน แล้วก็มีศูนย์หรือสถาบันค่อนข้างจำกัด ทั้งคนจำนวนมากยังไม่รู้จัก และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย การมาหาผู้เชี่ยวชาญ ถ้าในต่างประเทศประชาชนทำงานแค่ไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่เกิน 1 วัน ก็มีเงินเพียงพอพบผู้เชี่ยวชาญได้แล้ว แต่คนไทยถ้าเราเทียบค่าแรงขั้นต่ำอิงจากเลทของ โนอิ้งมายด์เอง คนไทยต้องทำงาน 3-4 วันจึงมีเงินเพียงพอมาพบนักจิตวิทยาได้ 1 ชม. ผมว่ามันก็เป็นอุปสรรคในการเข้าถึง จะรอศูนย์บริการจากรัฐก็รอนาน”

ขณะที่ อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ประจำปี 2563 ในฐานะผู้สนับสนุนสุขภาพจิต กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว มีความสนใจในเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตให้แก่ผู้คน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์ตรงที่เคยผ่านมาด้วยตัวเอง และยังได้ทำแคมเปญเพื่อร่วมรณรงค์ให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการรับฟัง และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตมาโดยตลอด

จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนแคมเปญ ในครั้งนี้ และจากที่ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแคมเปญนี้จะสามารถเข้าถึงผู้คนในวงกว้าง และผลักดันให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น

สำหรับแคมเปญ #RealTalkThailand จะเริ่มระหว่างวันที่ 8-20 ตุลาคม 2564 ผ่านเพจ FacebookThailand และมีส่วนร่วมในการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นด้านสุขภาพจิตด้วยการติดตามอินสตาแกรม @amanda.obdam, @knowingmindcenter, @samaritansthailand, @ooca.ok, @reenp และ @romanticraipoet