ผ่าทางตัน “แรงงานถูกเลิกจ้าง” ยื่นรัฐ 5 ข้อ สร้างหลักประกันความเสี่ยง

แรงงาน

เวทีเสวนาออนไลน์ “วิกฤตแรงงานถูกเลิกจ้าง VS กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” จัดขึ้นวันที่ 7 ต.ค. 2564 “วันงานที่มีคุณค่าสากล” (International Day on Decent Work)

วันสำคัญที่แรงงานทั่วประเทศรณรงค์เรียกร้องเพื่อการจ้างงานที่มั่นคง ซึ่งแรงงานแถวหน้าร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์แรงงานแต่ละประเภท และปัญหาการถูกเลิกจ้างจากวิกฤตโควิด-19

การจ้างงานไม่มั่นคง

นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มลูกจ้างแรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคบริการ โรงแรม ซึ่งมีพนักงานบริการ มัคคุเทศก์หลายล้านคนตกงาน แม้รัฐจะผลักดันเปิดประเทศ จากภูเก็ตแซนด์บอกซ์สู่พื้นที่อื่น ๆเช่น กรุงเทพฯ จะเปิด 1 พ.ย.นี้ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือเยียวยาแม้มีหลายโครงการ แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

อุตสาหกรรมสิ่งทอก็มีปัญหาหนัก ไม่มีความยั่งยืนด้านการจ้างงาน เป็นการจ้างรายวัน หรือตามค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นนายทุนข้ามชาติ เข้ามาลงทุนในไทยแบบกระเป๋าใบเดียว

พร้อม know-how การเย็บผ้า จากนั้นเช่าโกดังตั้งโรงงาน โดยไม่ต้องมีทุนจดทะเบียนมาก เมื่อเกิดปัญหาก็ย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น ทิ้งผู้บริหารไทยที่ไม่ใช่เจ้าของจริง ๆ โดนฟ้อง ขณะที่แรงงานไทยเผชิญปัญหาตกงาน สูญเสียรายได้

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หลายบริษัทย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่น อุตสาหกรรมยานยนต์แม้ยังลงทุนเหนียวแน่นในไทยแต่ต้องเน้นส่งออก ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในการทำงาน

ตั้งกองทุนประกันเสี่ยง-สำรองเลี้ยงชีพ

“ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนายทุนต่างชาติต้องมีหลักประกันให้ลูกจ้าง ควรให้แต่ละบริษัทมีกองทุนสมทบ กองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อให้บริษัทของนายทุน หากปิดโรงงาน จะได้มีเงินจากกองทุนชดเชยให้กับลูกจ้าง”

ปัจจุบันมีแรงงานหลายบริษัทประสบปัญหาในลักษณะนี้และได้ร้องเรียนที่กระทรวงแรงงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เช่นบริษัทแห่งหนึ่งที่ศาลตัดสินให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชย เนื่องจากบริษัทปิดตัว แต่ยังไม่สามารถจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ เนื่องจากบริษัทมีนายทุนข้ามชาติ ไม่มีหลักประกันคุ้มครองลูกจ้าง และมีทรัพย์สินจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาท

“ต้องหาทางออกให้ลูกจ้างมีความมั่นคง เพราะแม้จะมี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ที่แก้ไขเมื่อปี 2550 แต่การบังคับใช้ยังไม่เป็นรูปธรรม ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาก็ไม่จบ”

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ได้เข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อหารือการตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ช่วยคนที่ต้องออกจากงานให้มีเงินเก็บ และเสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ. บังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องทำ ไม่ใช่สมัครใจ ทั้งเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. ให้นายจ้างมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานแบบบังคับ และให้ตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในบริษัท เป็นต้น

“การบังคับใช้กฎหมาย” ปัญหาใหญ่

สำหรับมุมมองฝ่ายนายจ้าง นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นักลงทุนจำนวนมากสนใจมาตั้งสถานประกอบการในไทย แต่พอเห็นกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนในไทยแล้วมักกังวลเพราะมีข้อกฎหมายมากมาย ในที่ประชุมระดับอาเซียนครั้งหนึ่งได้เปรียบเทียบกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประเทศในภูมิภาค ปรากฏว่าไทยมีกฎหมายครอบคลุมทุกหัวข้อ

“แม้มีข้อกฎหมายมากมาย แต่ในความเป็นจริง การบังคับใช้กฎหมายบ้านเราอ่อนมาก สิ่งที่ควรแก้ไขไม่ใช่เพิ่มเงื่อนไขเพราะจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน เมื่อเทียบในระดับอาเซียน”

แต่ควรแก้เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กลไกการติดตามที่จะทำให้คนเคารพกฎหมาย การสื่อสารให้แรงงานรู้ว่า เขามีสิทธิ์อะไรบ้าง ถ้าบังคับใช้ข้อกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวดขึ้น มีกลไกประชาสังคม กลไกลูกจ้าง กลไกภาครัฐที่เอาจริง

จะช่วยคัดกรองนักลงทุนที่ดีเข้ามาในไทยได้ ไม่ใช่นักลงทุนที่พร้อมจะออกไปง่าย ๆ เมื่อเกิดปัญหา ทิ้งภาระให้กับคนทำงาน

ซึ่งต้องวิเคราะห์ว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มาแล้วก็ย้ายไป

“สมัยนี้สิ่งที่นายจ้างคิดเมื่อทำธุรกิจจะต่างจากสมัยก่อน เมื่อก่อนต้องได้กำไรสูงสุด แต่ตอนนี้ต้องเป็นคอนเซ็ปต์ทำธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งกำไรอย่างเดียว ต้องยั่งยืนในการจ้างงาน จะเห็นว่านายจ้างที่รู้ว่าลูกจ้างคือ ทรัพยากรที่มีค่าส่วนใหญ่จะเลือกรักษาลูกจ้างไว้แม้ยามมีวิกฤต เพราะรู้ว่าถ้าธุรกิจกลับมาได้ แต่ไม่มีแรงงานก็จะเดินต่อไปไม่ได้”

ดูแลลูกจ้างสร้างความเข้มแข็งธุรกิจ

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ให้มุมมองเกี่ยวกับกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีออกจากงานว่า แม้จะช่วยลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเลิกจ้าง

และอาจไม่ได้รับการชดเชยตามกฎหมาย ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนช่วงที่ลูกจ้างยังหางานทำไม่ได้ แต่เป็นการช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ

ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจต้องดูแลลูกจ้างให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสภาพการจ้าง สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มีการทำงานอย่างปลอดภัย การประกอบธุรกิจจึงจะอยู่รอดได้ มีศักยภาพในการแข่งขันและช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

อย่างไรก็ตาม ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยรุนแรง กระทบลูกจ้างในวงกว้าง มีการเลิกจ้าง และอาจไม่ได้รับชดเชยตามกฎหมาย กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างจึงมีบทบาทสำคัญในการเยียวยาเบื้องต้น นอกเหนือจากเงินจากกองทุนประกันสังคม

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2564 มีลูกจ้างถูกเลิกจ้างและขอใช้เงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ รวม 2,884 คน คิดเป็นวงเงิน 41 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2564 อาจมีลูกจ้างมารับเงินกองทุนสงเคราะห์เพิ่มอีกกว่า 8 ล้านบาท

5 ข้อเรียกร้องด้านแรงงาน

ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน และที่ปรึกษา รมว.แรงงาน กล่าวว่า วันที่ 4 ต.ค. คณะที่ปรึกษาด้านแรงงาน คณะทำงานของ รมว.แรงงาน ได้ร่วมหารือกับ รมว.แรงงาน

ก่อนนำข้อเรียกร้องของภาคแรงงานยื่นต่อรัฐบาล 5 ประเด็น คือ 1.ให้จัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือธนาคารผู้ประกันตน ที่ผู้ใช้แรงงานได้เรียกร้องมาทุกปี

2.จัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมหรือสถาบันให้ความรู้/ให้การศึกษาบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับการแพทย์

3.จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง และจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

4.ให้สถานประกอบการต้องมีระเบียบการเกษียณอายุ 60 ปี จึงบอกเลิกสัญญาจ้างได้ หากละเมิด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย 400 วัน ซึ่งตอนนี้มีเกือบ 3 หมื่นโรงงานที่ไม่มีคำว่าเกษียณอายุในกฎข้อบังคับ 5.การงดจ่ายภาษีกรณีได้รับเงินก้อนสุดท้าย เนื่องจากออกจากงาน

“ผมหวังว่าการพูดคุยถึงแนวทางและข้อเสนอแนะ จะเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ให้ลูกจ้างมีหลักประกันมากขึ้น” นายมนัสกล่าว