ปรับมาตรการช่วยนายจ้าง พัฒนาฝีมือแรงงาน 20% ไม่ต้องส่งเงินสมทบ

ภาพ: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสาคร

กระทรวงแรงงาน ออกมาตรการช่วยนายจ้าง ปรับลดจำนวนพัฒนาฝีมือแรงงาน ไม่น้อยกว่า 20% ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ และขยายเวลายื่นรับรองหลักสูตรเป็น 90 วัน

วันที่ 8 ตุลาคม 2564 กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบกิจการที่ไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร.ขับเคลื่อนนโยบายช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการที่ต้องพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง ผ่านการจัดฝึกอบรมฝีมือแรงงาน ส่งเสริมให้ลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ

ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการ โดยลดอัตราการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับปี พ.ศ. 2564 จากอัตราร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.1 ของค่าจ้างที่ผู้ประกอบกิจการต้องจ่ายตามสัดส่วนจำนวนลูกจ้างที่ไม่ได้จัดให้มีฝึกอบรมฝีมือแรงงาน หรือไม่มีลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือไม่มีลูกจ้างผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันไม่ครบตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

ประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเพิ่มเติม ด้วยการลดสัดส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับผู้ประกอบกิจการที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยผู้ประกอบกิจการที่จัดให้มีการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่ลูกจ้างของตน หรือมีลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ หรือมีลูกจ้างผ่านการรับรองความรู้ความสามารถ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับลดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมดในปี พ.ศ. 2564 ผู้ประกอบกิจการนั้นไม่ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้มีการขยายระยะเวลาการยื่นขอรับรองหลักสูตร จากเดิมกำหนดให้ยื่นภายใน 60 วัน ขยายเวลาเป็น 90 วัน นับแต่วันเสร็จสิ้นการฝึก แต่ต้องไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2565

“มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งเป็นตั้งใจของกระทรวงแรงงานที่จะช่วยเหลือสถานประกอบกิจการให้เดินหน้าประกอบธุรกิจต่อไป รักษาการจ้างงานของลูกจ้าง และยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะฝีมือให้แก่แรงงานที่เป็นลูกจ้างของตนเอง พร้อมกับการฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น” อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าว

สถานประกอบกิจการที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทุกจังหวัด โดยสามารถ download ประกาศที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็บไซต์กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th/spdaa