คิดแบบย้อนแย้ง

ประกอบบทความ
เอชอาร์ คอร์เนอร์

ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ผมเคยเล่าให้ฟังเกี่ยวกับความคิดของคนแบบแถว ๆ ที่เรียกว่า “cognitive dissonance” โดยบอกว่าคนเรามักจะคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เพราะคนทุกคนจะมีกลไกป้องกันตัวเองเพื่อลดความเครียดลง เช่น คนที่ไปลัก วิ่ง ชิง ปล้น บางคนก็จะบอกว่าที่ต้องทำอย่างนั้นเพราะเอาเงินไปเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กให้ได้เรียนหนังสือ เพราะถ้าคิดว่าตัวเองทำผิดนิสัยไม่ดีที่เป็นโจรก็จะทำให้เกิดความเครียด

ยิ่งถ้าใครคิดตำหนิตัวเองมาก ๆ เข้าก็อาจจะถึงขั้นคิดสั้นขึ้นมาได้ ก็เลยต้องคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อลดความเครียดดังที่ผมยกตัวอย่างมา ซึ่งก็จะทำให้คนรอบข้างที่ฟังเหตุผลแล้วก็คงจะส่ายหน้าเป็นพัดลมว่าคิดได้ยังไง หรือท่านคงเคยได้ยินข้อแก้ตัวของคนที่ทำความผิดว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” จนกระทั่งมีคำพูดอำกันเล่น ๆ ว่า รู้อะไรไม่สู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำนองนั้นแหละครับ

นี่คือความคิดของคนแบบ cognitive dissonance ในรูปแบบหนึ่ง

ยังมีเรื่องเล่าของความคิดย้อนแย้งในตัวเองแบบที่เรียกว่า cognitive dissonance ที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้อย่างนี้ครับ

ครั้งหนึ่งมีการทดลองโดยการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม โดยทั้ง 3 กลุ่มจะให้ทำงานเหมือนกันคือ การใช้เมาส์ลากวงกลมที่อยู่ทางซ้ายมือของจอภาพไปใส่ไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านขวาของจอภาพให้ได้มากที่สุดในเวลา 5 นาที

โดยมีการบอกกับทั้ง 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 จะได้รับค่าแรง US$ 5 เป็นค่าตอบแทน

กลุ่มที่ 2 จะได้รับค่าแรง 50 Cent เป็นค่าตอบแทน

และกลุ่มที่ 3 ไม่ได้รับค่าแรงบอกว่า การทดลองครั้งนี้จะเป็นสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร

ผลปรากฏว่าภายใน 5 นาที

กลุ่มที่ 1 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 159 วง

กลุ่มที่ 2 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 101 วง และกลุ่มที่ 3 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 168 วง ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ 1 และ 2 เสียอีก

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ?

แน่นอนครับว่ากลุ่มที่ 2 จะมีผลงานที่ต่ำกว่ากลุ่มแรก เพราะความรู้สึกที่ว่าตัวเองได้รับค่าแรงที่น้อยกว่า แต่ที่น่าสนใจคือผลงานของกลุ่มที่ 3 ที่สูงที่สุดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ตรงนี้นักจิตวิทยาอธิบายเรื่องนี้ว่า เวลาที่คนเราจะทำอะไรให้กับคนอื่นก็มักจะตัดสินใจเอาไว้ก่อนว่าตัวเองคาดหวังผลตอบแทนแบบไหนระหว่างผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หรือผลตอบแทนเชิงสังคม

ถ้าคนคิดว่าตัวเองคาดหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินหรือเป็นเชิงพาณิชย์ ก็จะคิดเล็กคิดน้อยเกี่ยวกับค่าตอบแทนเป็นพิเศษ แต่ถ้าคนคิดว่าตัวเองทำสิ่งนั้นเพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ก็จะทำอย่างเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงิน หรือมัวแต่คิดเล็กคิดน้อยในเรื่องค่าตอบแทนเลย

การทดลองข้างต้นจะเห็นได้ว่าคนใน 2 กลุ่มแรกคาดหวังค่าตอบแทนเป็นหลัก กลุ่มที่ 1 จึงทำงานตามค่าตอบแทนที่คาดหวัง ส่วนกลุ่มที่ 2 คิดเล็กคิดน้อยว่าค่าตอบแทนของตัวเองต่ำกว่ากลุ่มที่ 1 ก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบจึงทำงานไปตามค่าแรงที่ได้น้อยกว่า

ส่วนกลุ่มที่ 3 แม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองมีส่วนร่วมสำคัญที่จะทดลองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ เป็นการได้รับค่าตอบแทนทางใจ (เกิดความภาคภูมิใจ)

จึงสรุปได้ว่าเมื่อไหร่ที่คนเราคิดว่าเขาทำงานใด ๆ เพื่อผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็จะทำงานไปในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก และจะคิดเล็กคิดน้อยเมื่อไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างที่คาดหวังเอาไว้

แต่ถ้าเมื่อไหร่คนเราคิดว่าเขาทำงานใด ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคม ก็จะยินดีทำงานนั้น ๆ อย่างเต็มที่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นตัวเงิน และจะมีความสุขใจภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำอีกด้วยแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน

อีกตัวอย่างหนึ่งเพื่อยืนยันเรื่องนี้ คือ สมมุติว่าท่านกำลังเดินข้ามถนน ทันใดนั้นมีรถยนต์พุ่งเข้ามาหาท่านอย่างรวดเร็วแล้วก็มีใครคนหนึ่งพุ่งเข้ามารวบตัวท่านให้พ้นจากการถูกรถชนได้อย่างหวุดหวิด

ลองคิดดูสิครับว่า ถ้าท่านบอกกับพลเมืองดีคนนั้นว่า “ที่คุณช่วยผมไว้เมื่อตะกี้นี้ คุณต้องการเงินเท่าไหร่ ?”

ท่านคิดว่าพลเมืองดีคนนั้นเขาจะมองจะคิดยังไง หรือจะพูดอะไรกับท่าน ?

จะเห็นได้ว่าพลเมืองดีคนนั้นทำด้วยจิตสำนึกเชิงสังคมที่ต้องการช่วยชีวิตคนคนหนึ่งเอาไว้โดยไม่ได้หวังค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน ถ้าขืนไปรับเงินค่าช่วยชีวิตเอาไว้เขาก็จะเกิดความขัดแย้งภายในความคิดตัวเองขึ้นมาทันที แบบที่เรียกว่า cognitive dissonance นั่นเอง

ในขณะที่พลเมืองดีที่สละชีวิตมาช่วยเราคนนี้อาจจะเพิ่งหงุดหงิดกับหัวหน้าที่ขึ้นเงินเดือนให้เขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงาน 200 บาทก็เป็นได้

จากที่ผมเล่าให้ฟังมานี้เราสามารถได้ประโยชน์จากการคิดที่ย้อนแย้งของคนข้างต้น เช่น หัวหน้าที่สามารถจูงใจให้ลูกน้องเกิดความคิดว่างานที่เขารับผิดชอบอยู่มีความสำคัญ เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ และเมื่องานนี้เสร็จจะเป็นผลงานที่เป็นเครดิตและจะสร้างความภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับตัวของลูกน้องเองที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ลูกน้องก็จะมุ่งไปสู่ผลสำเร็จของงานมากกว่าการมองแค่ตัวเงิน


อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าท่านคงจะได้ไอเดียในการนำเรื่องนี้ไปปรับใช้ในงานบ้างแล้วนะครับ ?