Care the Wild รวมพลัง “ปลูก ป้อง ป่าเปลี่ยนโลก”

ภาพจาก : Reuters
ภาพจาก : Reuters

ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกประเทศกำลังเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนจะมีการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยมีตัวแทนกว่า 200 ประเทศเข้าร่วมเพื่อปฏิบัติตามสัญญาที่ทำในปารีสเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายที่ท้าทายคือรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียส

โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเร่งดำเนินการคือปลูกต้นไม้เพื่อรักษาระบบนิเวศ ซึ่งเมื่อไม่นานผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดงานเสวนา Climate Care Forum #2 “ปลูก ป้อง ป่าเปลี่ยนโลก” ในโอกาสครบรอบ 1 ปี โครงการ Care the Wild “ปลูกป้อง” Plant & Protect เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นโลกร้อน ทั้งยังเชิญชวนภาคเอกชนไทย และประชาชนร่วมกันปลูกต้นไม้ ผ่านการระดมทุนในแพลตฟอร์มของตลาดหลักทรัพย์ฯ

โดยมี นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย และสถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึง เข็มอัปสร สิริสุขะ ศิลปิน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมให้ข้อมูลถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม

“นพเก้า สุจริตกุล” กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมป่าไม้ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าประมาณ 102 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 322 ล้านไร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วเราต้องมีพื้นที่ป่าประมาณ 128 ล้านไร่ ถึงจะทำให้ระบบนิเวศในธรรมชาติเกิดความสมดุล นั่นหมายถึงเรายังขาดอีกประมาณเกือบ 30 ล้านไร่ จึงจะถึงเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งในช่วงหลังภาครัฐพยายามจะออกกฎระเบียบต่าง ๆ ขึ้นมา เพื่อให้กระบวนการสูญเสียป่านิ่งขึ้น และทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมานฉันท์

นพเก้า สุจริตกุล
นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“แต่ความพยายามเหล่านี้ยังไม่พอ เพราะหากดูภาพรวมทั้งโลก เรายังขาดป่าไม้อีกกว่า 5 แสนล้านไร่ ซึ่งจริง ๆ แล้วยังมีพื้นที่ที่น่าจะเอามาใช้ในการปลูกป่าได้เป็นพันล้านไร่ แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าทำแล้วจะได้ผลทันที เพราะระหว่างทางต้นไม้ก็ต้องใช้เวลาในการปลูกกว่าจะเจริญเติบโต ซึ่งแต่ละประเทศมีการตั้งเป้าหมายกันว่าจะปลูกกี่หมื่นกี่แสนไร่ เพราะทุกประเทศต้องการจะปลูกให้ทันกับปัญหาโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้”

สำหรับโครงการ Care the Wild มีความมุ่งหมายว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องป่าไม้ โดยอาศัยการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ องค์กร หรือภาคประชาสังคมต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วม ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาช่วยเรื่องการปลูกป่า ดูแลต้นไม้อย่างครบวงจร สามารถตรวจสอบได้

“นพเก้า” กล่าวอธิบายถึงโครงการต่อว่า เราใช้หลักการธรรมาภิบาลป่าไม้ คือ การสร้างความโปร่งใสในกระบวนการปลูกป่า ดูแลป่า ด้วยการระดมทุนในการปลูกต้นไม้ใหม่ ปลูกต้นไม้เสริม และส่งเสริมการดูแลต้นไม้ ร่วมกับภาคีองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนโดยเน้นการร่วมดูแลต้นไม้ที่ปลูกให้เติบโตจนกลายเป็นผืนป่าอย่างแท้จริง

โดยที่ผู้ระดมทุนปลูก ร่วมติดตามการเติบโตของต้นไม้ การทำงานของชุมชน การมีส่วนร่วมในการขยายผลเพื่อพัฒนาชุมชน และร่วมดูแลเอาใจใส่ไม้ปลูกให้เติบโตเป็นส่วนสำคัญของการขยายแนวผืนป่าของประเทศ ผ่านแอปพลิเคชั่น Care the Wild ใช้เวลาอย่างน้อย 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าจะทำให้ต้นไม้อยู่รอด 100%

“โครงการนี้ไม่ใช่แค่การปลูกอีเวนต์ แต่เราหวังให้ต้นไม้เกิดขึ้นได้จริง และเติบโตแบบเทวดารดน้ำ ใน 3-6 ปี โดยมีข้อต่อ 3 ส่วน ได้แก่ ข้อต่อแรก ร่วมกับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ ช่วยให้ข้อมูลเรื่องพื้นที่ กฎหมาย ข้อต่อที่สอง ภาคธุรกิจ หรือคนทั่วไปร่วมเป็นสปอนเซอร์ซื้อต้นไม้ ต้นละ 200 บาท หรือไร่ละ 40,000 บาท ทั้งยังสามารถเลือกพื้นที่ต้องการปลูกได้ และติดตามการดูแลผ่านแอปตลอดเวลา และเข้ามาร่วมลงพื้นที่ ช่วยกันพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ”

“นอกจากนี้ยังมีช่องทางให้ติดตามผ่าน set social impact รวมทั้งมีเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ช่วยเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ เป็นการดูแลป่าโดยไม่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์ เพราะมีคนวางแพลตฟอร์มให้แล้ว เพียงแค่บริจาคตามกำลังแต่ละคน”

“และข้อต่อที่สาม อินโนเวชั่นเรื่องป่า เราร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม หลากหลายบริษัททั้งที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม คาร์บอนฟุตพรินต์ งานป่าไม้ ด้วยการนำความรู้มาช่วยขึ้นรูปแบบ หรือแนวทางการทำงาน และอีกภาคส่วนสำคัญเลยคือนักวิชาการที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการด้วยกัน ซึ่งท้ายสุดแล้วทุกคนจะมีเป้าหมายเดียวกันคืออยากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม และพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กัน”

“ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ที่ทำงานด้านป่า และสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน พยายามทำให้ป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง หรือจะอยู่ในชนบท ชายทะเล กลางทุ่งนา หรือแม้แต่อยู่บนเขา แต่สิ่งที่พบคือทุกวันนี้คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าของต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เรามีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยธรรมชาติ

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร
ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย และสถาบันอาศรมศิลป์

ทั้งนี้ ตัวเลขจากหลายหน่วยงานระบุว่า สถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยเริ่มดีขึ้น แต่ข้อเท็จจริงในสนามกลับพบว่ายังเสื่อมลงทุกวัน เกษตรกรหลายรายทำเกษตรด้วยวิธีการเดิม ๆ คือ ปลูกข้าวเสร็จ ทำลายหน้าดินด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพดบ้าง มันสำปะหลังบ้าง ขยายพื้นที่ทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็น 2-3 พันไร่ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตรงนี้สร้างความเสื่อมโทรมต่อสภาพแวดล้อม ฉะนั้น ต้องหยุดกิจกรรมเหล่านี้ให้ด้วยการปลูกป่าแบบผสมผสาน

“สำหรับหลักการเริ่มปลูกป่า ด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสานนั้น ผมต้องบอกว่าผมทำงานหลายร้อยพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำเองเพราะใช้วิธีสร้างคน สร้างเครือข่าย เริ่มจากจุดเล็ก ๆ สร้างให้เกิดต้นแบบในทุกจังหวัดกระจายตัวออกไปเรื่อย ๆ มีผู้นำชุมชนเป็นเสาหลัก”

“ถ้าทำตามโครงการโคก หนอง นา เรามีเงื่อนไขว่า พื้นที่ 30% เป็นอย่างน้อยต้องมีป่าเกิดขึ้น สมมติมีพื้นที่ 3 ไร่ ถ้าจะทำคอนเซ็ปต์โคก หนอง นา ต้องมีป่า 1 ไร่ ถ้ามี 30 ไร่ ก็ต้องมีป่า 10 ไร่ โดยประมาณ บางคนก็ทำ 80% ขึ้นอยู่กับชาวบ้านว่าต้องการแบบไหน หลักการของผู้นำ หรือต้นแบบไม่ใช่การเปลี่ยนความเชื่อชาวบ้าน แต่เป็นการชวนทดลองทำ”

“ดร.วิวัฒน์” กล่าวต่ออีกว่า การปลูกป่าต้องปลูกตั้งแต่ยอดดอยสูงสุดลงไปยังทะเล เพราะกลางทะเลก็มีป่า เรากำลังชวนนักประดาน้ำลงไปรักษาแหล่งอนุบาลสัตว์กลางทะเล เพราะว่าทะเลอ่าวไทยค่อนข้างตื้น ลึกสุดแค่ 80 เมตรเท่านั้น ยกเว้นทะเลทางฝั่งอันดามันลึกประมาณ 3,000 เมตร

“เหตุผลที่ทำเพราะเรากังวลว่าอาหารจะไม่พอกิน สถานการณ์โควิด-19 บวกกับเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ปัญหาวิกฤตทางการเงินทำทั่วโลกอดอยากมาก เพราะ 17 ข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) โดยเฉพาะข้อ 2 ความอดอยากหิวโหยเป็นเรื่องใหญ่สุด เราจึงคิดว่าแหล่งอาหารสำคัญที่สุดคือป่า เราจึงต้องช่วยกันดูแล”

“เข็มอัปสร สิริสุขะ” กล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ว่า การปลูกป่าที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้คนเข้าไปยุ่งกับป่า แล้วให้ป่าพลิกฟื้นเพื่อเติมเต็มระบบนิเวศด้วยตัวเอง แต่ดิฉันเห็นว่าป่าของเราค่อนข้างเสื่อมโทรม

เข็มอัปสร สิริสุขะ
เข็มอัปสร สิริสุขะ ศิลปิน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นจึงอยากช่วยเร่งให้ป่าฟื้นคืนกลับมาให้เร็วที่สุด จนมาเป็นโครงการ “ลิตเติล ฟอเรสต์” ที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ 20,000 ต้น แล้วก็หาเงินมาดูแลต้นไม้ 3 ปีต่อเนื่อง มีการวัดอัตราการรอดตาย แล้วก็มีการปลูกซ่อม มีการแทร็กป้ายชื่อต้นไม้ เพื่อให้ทราบว่าแต่ละต้นเป็นต้นอะไรบ้าง เป็นการปลูกแบบผสม และมีการวัดความสูงทุก ๆ 3 เดือน

“ถามว่าทำไมต้อง 3 ปี จริง ๆ แล้วอย่างดีที่สุดต้อง 6 ปี ในการทำให้ต้นไม้เติบโตอย่างแข็งแรง แต่อย่างน้อย 3 ปี จะเป็นช่วงที่เติบโตพ้นจากไฟป่า และต้องเกิดความมั่นใจว่าคนในพื้นที่เขาจะช่วยเราดูแลด้วย ถ้าเขาเห็นด้วยกับเรา โครงการก็จะไปต่อได้ แต่ถ้าเขาไม่ร่วมด้วย ถ้าเราปลูกไปแล้ว วันไหนที่เขาอยากใช้พื้นที่ไปทำอย่างอื่น ต้นไม้อาจหายไปเลยก็ได้”

ฉะนั้น ชาวบ้านคือกำลังสำคัญ หรือเป็นเสาหลักเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะร่วมมือกับชาวบ้าน เพราะการที่จะหันไปปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยว หรือพืชอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีความล่อตาล่อใจในแง่ของผลประโยชน์ที่จับต้องได้ง่าย ถ้าเราคุยกับคนพื้นที่ได้ก็จะไม่ยาก สำหรับการทำงาน

“เข็มอัปสร” กล่าวในตอนท้ายว่า เวลาคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาสร้างโมเดลในการปลูกป่าด้วยตัวเองทั้งหมด ถ้าหากเราไม่มีพลังก็สามารถหาข้อมูลได้ ว่ามีแพลตฟอร์มไหนที่เราสามารถไปสนับสนุนได้ อย่างดิฉันก่อนหันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ศึกษา ลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ก่อนจะร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ ปลูกต้นไม้

“หรืออย่าง Care the Wild ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สร้างไว้แล้ว ทุกคนสามารถเลือกแนวทางหรือรูปแบบที่จะส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ด้วยมุมของตนเอง”