ภารกิจเร่งด่วนรับเปิดประเทศ นำเข้าแรงงาน-จ้างงาน-ฟื้น SMEs

โค้งสุดท้ายลงทะเบียนต่างด้าว

ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาผ่านมานับจากเกิดมหันตภัยไวรัสร้าย กระทรวงแรงงานถือเป็นแขนขาหนึ่งของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีบทบาทอย่างยิ่งในการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแรงงานในระบบและนอกระบบ

ที่สำคัญ จากกรณีที่รัฐบาลจะเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ทางกระทรวงแรงงาน ซึ่งนำโดย “สุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงต้องหารือ และเตรียมความพร้อมต่อการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติขาดแคลน, การจ้างงาน, การช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม

ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ “สุชาติ” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีดังกล่าว

ภารกิจเร่งด่วน MOU นำเข้าแรงงานต่างด้าว

เบื้องต้น “สุชาติ” กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กระทรวงแรงงานได้ชะลอการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามมาตรการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงส่งผลให้จำนวนแรงงานข้ามชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการ

“จากที่มอบหมายให้ กรมการจัดหางาน (กกจ.) สำรวจความต้องการจ้างงานแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติกว่า 424,703 คน

แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 256,029 คน สัญชาติกัมพูชา 130,138 คน และสัญชาติลาว 38,536 คน โดยประเภทกิจการที่มีความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก

คือ 1.เกษตรและปศุสัตว์ 2.ก่อสร้าง 3.บริการ 4.เกษตรต่อเนื่อง 5.ผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป ส่วนจังหวัดที่มีความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่, กรุงเทพมหานคร, จันทบุรี, สมุทรสาคร และระยอง ตามลำดับ”

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงแรงงานจึงจัดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้นตั้งเป้าไว้ที่ 50,000-80,000 คน จาก 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา, กัมพูชา และ สปป.ลาว โดยจัดกลุ่มนำเข้าแรงงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่

กลุ่มสีเขียว คือ ผู้ที่ฉีดวัคชีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 1 เดือนขึ้นไป จะเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นลำดับแรก และต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ต

กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลา 1 เดือน

และกลุ่มสีแดง คือ ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียง 1 เข็ม หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ทั้งนี้ เมื่อแรงงานเดินทางเข้ามาในไทย ต้องแสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR ที่มีผลไม่เกิน 72 ชั่วโมง ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วย

“การนำเข้าแรงงานตาม MOU ครั้งนี้ นายจ้างต้องแจ้งความประสงค์ไปที่อธิบดีกรมการจัดหางาน เพื่อขออนุมัติจำนวน โดยเมื่อได้รับการอนุมัติแล้ว นายจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าใบอนุญาตทำงาน (work permit) สำหรับ 2 ปี

จำนวน 1,900 บาท, ค่าที่กักตัวก่อนเริ่มงาน โดยต้องเป็นสถานที่ของรัฐ หรือของเอกชน ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดให้การรับรอง, ค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR จำนวน 3 ครั้ง หากผลตรวจโรคไม่ผ่านต้องเข้ารับการรักษา โดยมีนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย”

“สุชาติ” กล่าวด้วยว่า ไม่อยากให้นายจ้างต้องรับภาระค่าวัคซีนโควิด-19 จึงแนะนำนายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ม.33 เพื่อที่แรงงานข้ามชาติที่ครบกำหนดระยะเวลากักตัว จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามสิทธิผู้ประกันตน

“อย่างไรก็ตาม ระหว่าง 3 เดือนที่รอให้เกิดสิทธิประกันสังคมนั้น นายจ้างจะต้องซื้อประกันสุขภาพให้แก่ลูกจ้างด้วย หากเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ จะได้มีค่ารักษาพยาบาล กรณีไม่สมัครเป็นผู้ประกันตน ม.33 นายจ้างต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกแก่แรงงานต่างด้าว และไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายนี้กับลูกจ้างได้”

มองแรงงานไทยชดเชยแรงงานข้ามชาติ

นอกจากนั้น ยังจัดทำโครงการหาแรงงานไทยที่ต้องการมีงานทำ มาชดเชยส่วนแรงงานข้ามชาติที่ขาดแคลนด้วย เพราะแรงงานไทยวุฒิประถมศึกษา-มัธยมศึกษาปีที่ 6 ขึ้นทะเบียนหางานผ่านเว็บไซต์ไทยมีงานทำ 112,759 คน

รวมผู้ประกันตนว่างงานที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคมแต่ยังหางานทำไม่ได้อีกจำนวนมาก แรงงานส่วนนี้สามารถเติมเต็มงานเกษตร ปศุสัตว์, ก่อสร้าง และงานในไลน์ผลิตภาคอุตสาหกรรมที่กำลังขาดแคลนได้

“ขณะนี้สำนักงานจัดหางานจังหวัดกำลังเร่งประสานงานกับสถานประกอบการที่มีความต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวในประเภทกิจการที่แรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าวได้ เพื่อจัดทำคลิปวิดีโอ ประกอบด้วย รายละเอียดสถานที่ตั้ง ลักษณะงานที่ต้องการจ้างงาน สวัสดิการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้แก่ผู้สมัครงาน”

เร่งจ้างงานรับมือเปิดประเทศ 1 พ.ย.

จากนโยบายเปิดประเทศ “สุชาติ” กล่าวในเรื่องนี้ว่า ให้กกจ.ทำหน้าที่รวมตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ ด้วยการลงพื้นที่หารือกับนายจ้าง โดยผลการสำรวจ ณ เดือนตุลาคม 2564

พบตำแหน่งงานว่าง 222,871 อัตรา และตำแหน่งงานว่าง 5 อันดับแรก ที่นายจ้าง/สถานประกอบการต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1.แรงงานด้านการประกอบ 2.แรงงานบรรจุภัณฑ์ 3.พนักงานขายของหน้าร้านและสาธิตสินค้า 4.ตัวแทนจัดหาบริการทางธุรกิจและนายหน้าการค้าอื่น ๆ 5.ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า

ส่วนประเภทกิจการที่ต้องการจ้างงานมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1.การผลิต 2.ขายส่ง/ปลีกจักรยานยนต์ และการซ่อมจักรยานยนต์ 3.ก่อสร้าง 4.อุปกรณ์การแพทย์ 5.กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย

“โดยกระทรวงทำหน้าที่ประสานการเคลื่อนย้ายแรงงานให้เกิดความสมดุล”

ต่อลมหายใจ SMEs รักษาการจ้างงาน

สำหรับจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่มีอยู่ขณะนี้ เป็นผู้ประกอบการ8.4 แสนราย ลูกจ้าง 11 ล้านคน กว่าครึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง SMEs 4.8 แสนราย และลูกจ้างเอสเอ็มอี 5.6 ล้านราย ธุรกิจนี้ประสบปัญหาสภาพคล่องมาก

“จึงให้เงินอุดหนุนนายจ้างในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนในฐานข้อมูลประกันสังคม ที่มีสถานะ active มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2564”

ซึ่งนายจ้างต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างเข้าร่วมโครงการ และต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

“ผมเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือนี้ จะช่วย SMEs ได้ถึง 394,621 แห่ง และอุดหนุนค่าจ้างผู้ประกันตนสัญชาติไทยอีก 4,034,590 คน นอกจากนั้น ยังมีการจ้างงานเพิ่มเดือนที่ 2 และ 3 สูงสุด 201,730 ราย ล่าสุดกรมการจัดหางานกำลังจัดทำระบบลงทะเบียนเตรียมเสนอ ครม. เพื่อให้นายจ้างลงทะเบียนได้ประมาณวันที่ 20 ตุลาคมนี้ และเริ่มจ่ายเงินปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ไปถึงเดือนมกราคม 2565”

ผุดโปรเจ็กต์ในฝันสร้าง “รพ.ประกันสังคม”

นอกจากการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานขาดแคลนแล้ว “สุชาติ” ยังมีความตั้งใจจะจัดตั้งโรงพยาบาล และสถาบันการแพทย์ของประกันสังคม เพราะที่ผ่านมาเรามองเห็นถึงความขาดแคลน และความแออัดของโรงพยาบาลภาครัฐ อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาด

“ผมอยากสร้างโรงพยาบาลที่รองรับการรักษาแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนโดยเฉพาะ และเน้นให้มีการรักษาเฉพาะทาง เช่น เรื่องอุบัติเหตุจากเครื่องจักรอุตสาหกรรม ที่สำคัญ ต้องมีการให้ความรู้ และให้การศึกษาบุตรหลานของผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับการแพทย์ด้วย ผมจึงอยากตั้งสถาบันการแพทย์”

“รวมถึงการให้ทุนการศึกษาเพื่อสอบชิงทุนเรียนด้านการแพทย์ เพื่อมาทำงานในโรงพยาบาลประกันสังคม ด้วยการนำเงินทุนจากประกันสังคมมาทำเรื่องนี้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมพยายามยื่นแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคม และหวังว่าจะเป็นจริงในเร็ววันนี้”