เช็กที่นี่! วิธีได้เงินชดเชย 30-60 เท่า กรณีถูกเลิกจ้างเพราะโควิด-น้ำท่วม

กระทรวงแรงงานบรรเทาความเดือดร้อนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุทกภัย หากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ลูกจ้างยื่นขอรับเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนายจ้าง/เจ้าของสถานประกอบการ จนทำให้บางรายจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนชั่วคราว หรือต้องเลิกกิจการ ส่งผลให้มีการเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะนายจ้างประสบปัญหาด้านการเงิน ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้ตามกฎหมาย

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติกล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับให้ดูแลลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ตามกฎหมาย กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ตรวจสอบกรณีมีการเลิกจ้างให้คุ้มครองสิทธิของลูกจ้างอย่างเต็มที่

หากนายจ้างเลิกจ้างเพราะเหตุผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือผลกระทบจากการประสบอุทกภัย หรือกรณีเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิได้กระทำผิด และไม่จ่ายเงินชดเชยหรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิยื่นขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้ ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้าง

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่ายและระยะเวลาการจ่าย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าถึงสิทธิการขอรับเงินสงเคราะห์อย่างทั่วถึง

  • ได้แก้ไขระเบียบ กรณีนายจ้างนำคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลแรงงาน จะต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด ลูกจ้างจึงมีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง แก้เป็น ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ โดยไม่ต้องรอคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด หรือนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป โดยพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว แม้คำสั่งนั้นไม่เป็นที่สุด
  • ได้แก้ไขระเบียบ การขยายระยะเวลาการยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างต้องยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด แก้ไขเป็น ลูกจ้างสามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด
  • ได้แก้ไขระเบียบ การรักษาสิทธิในการยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ เดิมลูกจ้างจะต้องมารับเงินสงเคราะห์ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบผลการพิจารณาจ่ายเงินสงเคราะห์ หากไม่มารับเงินภายใน 60 วัน สิทธิการรับเงินสงเคราะห์นั้นเป็นอันระงับ แก้ไขเป็น กรณีลูกจ้างไม่สามารถมารับเงินภายใน 60 วัน ลูกจ้างสามารถยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์ใหม่ได้ภายใน 1 ปี
นิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเป็นกลไกที่กระทรวงแรงงานจัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างลูกจ้างโดยมิได้กระทำผิด และไม่จ่ายเงินชดเชย หรือเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

“โดยในปีงบประมาณที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2564 คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างได้อนุมัติจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกจ้างแล้ว จำนวน 5,381 คน เป็นเงินกว่า 80.373 ล้านบาท”

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสงเคราะห์มี 2 กรณี ดังนี้

1. เงินสงเคราะห์ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย โดยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ให้บางส่วน หรือไม่เต็มสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด คือจ่ายให้ ลูกจ้างผู้ขอรับเงินสงเคราะห์ในอัตราดังต่อไปนี้

  • 30 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 6 ปี
  • 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปีขึ้นไป

2. เงินสงเคราะห์ในกรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย เช่น ค่าจ้างค้างจ่าย ฯลฯ จะให้การสงเคราะห์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง สำหรับอัตราเงินที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จะจ่ายในอัตราไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างพึงได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541

ทั้งนี้หากลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างกรณีไม่ได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นต้น สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์จากกองทุนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์สายด่วน 1546 หรือ 1506 กด 3