SMEs รับ 3,000 บาทต่อหัว วันแรกอนุมัติแล้ว 5 พันราย หมดเขต 20 พ.ย.

SMEs แห่ลงทะเบียนรับเงิน 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน นาน 3 เดือน (สูงสุด 6 แสนบาทต่อเดือน) อนุมัติแล้ว 5,091 ราย เงื่อนไขต้องรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 95% และส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 เดือนถัดไป กระทรวงแรงงานเตรียมโอนเงินให้ พ.ย.นี้

วันที่ 21 ตุลาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เป็นวันแรกที่เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ลงทะเบียนร่วมโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน ผ่านทางระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th โดยเปิดให้ลงทะเบียนถึง 20 พฤศจิกายน 2564

ข้อมูลผู้ลงทะเบียนวันนแรก (ณ วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 17.00 น.) มียอดรวมสถานประกอบการได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการแล้ว 5,091 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยที่ได้รับสิทธิ์ 123,847 คน แบ่งเป็นดังนี้

  • กิจการในพื้นที่ กทม. 2,231 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 53,548 คน
  • กิจการในปริมณฑล 1,101 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 29,218 คน
  • กิจการในภาคกลาง 687 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 18,247 คน
  • กิจการในภาคใต้ 454 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 8,799 คน
  • กิจการในภาคเหนือ 365 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 6,975 คน
  • กิจการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 253 ราย จำนวนลูกจ้างคนไทยได้รับสิทธิ์ 7,060 คน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาทำให้สถานประกอบการจำนวนหนึ่งประสบปัญหาจนต้องหยุดกิจการชั่วคราว บางแห่งมีการลดการจ้างงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีจำนวนมากที่พยายามพยุงกิจการไปพร้อมกับรักษาระดับการจ้างงานไว้อย่างสุดกำลัง

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เห็นถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายรักษาระดับการจ้างงานและส่งเสริมการจ้างงานใหม่ โดยอุดหนุนค่าจ้าง 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 -มกราคม 2565 เพื่อให้สถานประกอบการขนาดเล็ก-กลางเกิดสภาพคล่อง สามารถฟื้นฟูกิจการสร้างความแข็งแรงในธุรกิจพร้อมรับการเปิดประเทศที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ ทั้งยังเป็นการตอบแทนธุรกิจในกลุ่ม SMEs ที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการจ้างงานในประเทศไทย”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า นายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 สถานะ active มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2564

โดยกำหนดให้นายจ้างจะต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ระหว่างเข้าร่วมโครงการ หากไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น และกรณีนายจ้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มตามจำนวนการจ้างงานจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 5

ทั้งนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฯ โดยหลักเกณฑ์สำคัญอีกประการที่จะได้รับการอนุมัติร่วมโครงการฯ คือ นายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมผ่านช่องทาง e-service (e-payment) ของสำนักงานประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการฯ


ผู้สนใจที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694