กสิกร มุ่งสู่ Net Zero ก้าวข้ามทศวรรษแห่งการดำเนินการ

ภาพจาก : Nicholas Doherty/unsplash
ภาพจาก : Nicholas Doherty/unsplash

เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้สูงถึง 3 องศาเซลเซียส ถึงแม้มีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งร่วมลงนามโดย 195 ประเทศทั่วโลกในปี 2558 ที่ระบุแผนการทำงานและเป้าหมายชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความร่วมมือเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้ยังคงห่างไกลจากเป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้ KBank Private Banking จึงร่วมกับ “ลอมบาร์ด โอเดียร์” (Lombard Odier) ผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ จึงจัดงานสัมมนาออนไลน์แห่งปีในหัวข้อ “The Race to Net Zero : A Sprint or a Marathon”

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้มี “บัน คีมุน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ มาแสดงปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานกับสหประชาชาติ และแนวทางในการผลักดันประเด็นความยั่งยืนให้เป็นวาระหลักของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก “จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์” Private Banking Group Head จากธนาคารกสิกรไทย และ “ฮูเบิร์ต เคลเลอร์” Senior Managing Partner จากลอมบาร์ด โอเดียร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

ต้องเร่งแก้ปัญหาโลกร้อน

“บัน คีมุน” กล่าวว่า ปี 2021 ถือเป็นปีที่ 2 ที่โลกเผชิญกับโรคโควิด-19 และยังประสบกับความยากลำบากหลาย ๆ ด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณภูมิโลกเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และอัตราการเกิดไฟป่าในพื้นที่หลายแห่งของโลกเพิ่มขึ้น ภัยพิบัติเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น ทุกคนและทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยกัน

บัน คีมุน
บัน คีมุน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ภาพจาก : WEF-Remy Steinegger)

“ตามรายงานของ UN IPCC เมื่อเดือนสิงหาคมผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วง 100,000 ปีหลัง ดังนั้น เราไม่เหลือเวลามากนักที่จะแก้ไขสถานการณ์นี้ แต่ผมยังหวังว่าการช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสได้ หากพวกเราไม่ทำอะไรสักอย่างตอนนี้ ลูกหลานจะต้องอาศัยอยู่บนโลกที่มีแต่ภัยพิบัติต่าง ๆ”

“สถาบันทางการเงินสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลกได้ เพราะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจให้การสนับสนุน และร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่เป็นไปตาม Paris Agreement ซึ่งสามารถป้องกันการสูญหายของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความยากลำบากอื่น ๆ”

“เช่น เรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ส่วนภาคธุรกิจอื่น ๆ ต้องเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่หนทางแห่งการสร้างความยั่งยืน และนักลงทุนสามารถร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้ได้ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น รวมถึงภาคเกษตรที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะหลายประเทศทั่วโลกต้องพึ่งการทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจ”

“ดังนั้น ภาคการเกษตรต้องปรับตัว เช่น เพาะปลูกที่ทำให้เกิดร่องรอยคาร์บอนน้อยที่สุด สร้างการตระหนักรู้ การสนับสนุนด้านเงินทุนและเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้”

“บัน คีมุน” กล่าวด้วยว่า 10 ปีต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทางสหประชาชาติเรียกว่า “ทศวรรษแห่งการดำเนินการ” ซึ่งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชนจะต้องช่วยกันในการดำเนินกิจกรรม และให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน

“การผลักดันเรื่องภาวะโลกร้อนให้เป็นวาระสำคัญของโลกเป็นเรื่องยากมาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีข้อจำกัดของตนเอง รวมถึงต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายบางอย่าง ที่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี”

“รวมถึงมีข้อติดขัดเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องร่วมมือกันต่อเนื่อง นอกจากนั้นทุกประเทศควรต้องทำระบบเตรียมความพร้อมหากเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์ไฟป่า การสร้างป่าโกงกางเพื่อป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งธุรกิจการเงินมีบทบาทสำคัญมากในการระดมเงินทุนไปสู่เป้าหมายที่ครอบคลุม เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างสมดุล”

3S ดันการลงทุนยั่งยืน

“จิรวัฒน์” กล่าวว่า KBank Private Banking ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมและประเทศให้มีความก้าวหน้า ยั่งยืน และเป็นสุข จึงกำหนดพันธกิจ 3S ขึ้นมา ซึ่งประกอบไปด้วย

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head จากธนาคารกสิกรไทย

หนึ่ง S-curve เป็นตัวเชื่อมด้านเงินทุนให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่แสวงหาโอกาสใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (new S-curve) ผลักดันให้เกิดการลงทุนที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจยั่งยืน

สอง sustainability ผลักดันให้เกิดการลงทุนที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืน
ของโลก รวมถึงสร้างกองทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

สาม sharing สร้างความสุขจากการแบ่งปัน ขับเคลื่อนองค์กรสาธารณกุศุลให้ทำงานด้านการแบ่งปันอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสุขให้ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และสังคม

“ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ในฐานะที่ KBank Private Banking เป็นส่วนหนึ่งของภาคการลงทุน จึงพยามผลักดันการลงทุนในกองทุนที่สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือผลกระทบเชิงบวกต่อโลก (impacted investing) กองทุนด้านความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (climate change) และกองทุนเพื่อความยั่งยืนของโลก เพื่อสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ในด้านนี้ และสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับลูกค้า”

“โดยเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ภาคธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาของโลกด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างความยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนที่ชัดเจนและมั่นคง แม้ในช่วงวิกฤตโควิด-19”

ปรับทิศเศรษฐกิจสู่ CLIC

“ฮูเบิร์ต เคลเลอร์” กล่าวถึงบทบาทของภาคการเงินต่อเป้าหมายในการสนับสนุนให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ว่า สถาบันด้านการเงินต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกไปสู่ CLIC economy

ฮูเบิร์ต เคลเลอร์
ฮูเบิร์ต เคลเลอร์ Senior Managing Partner จากลอมบาร์ด โอเดียร์

ประกอบด้วย circular ใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน, lean ลดความสูญเปล่าหรือใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และ inclusive and clean สร้างความเท่าเทียมด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดำเนินการที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

“นอกจากนั้น ต้องช่วยสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนของลูกค้าด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และสอดคล้องไปกับโอกาสในการลงทุนต่าง ๆ ตามกระแสโลก โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์เรื่อง net zero เหมือนกัน รวมถึงบริษัทที่มีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสด้านความยั่งยืนอยู่เสมอ รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้สามารถขับเคลื่อนทุกภาคส่วนในสังคมไปด้วยกัน”

“ส่วนความท้าทายในการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืน และ net zero คือการเข้าใจภาพรวมทั้งหมด และค้นหาแนวทางว่าจะไปถึงจุดหมายนั้นได้อย่างไร รวมถึงต้องเข้าใจแผนงาน (roadmap) ของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนและถูกต้อง เช่น การเข้าใจถึงความต้องการด้านเทคโนโลยี และการลงทุนของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ในการปรับโครงสร้างธุรกิจหรือองค์กรเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง”

“ฮูเบิร์ต เคลเลอร์” กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดำเนินต่อไป ความเสี่ยงด้านการเงินต่อความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่าน ความเสี่ยงทางกายภาพและความเสี่ยงด้านหนี้สินกลับกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

“เรานิยามสิ่งนี้ว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate value impact-CVI) ซึ่งเป็นมาตรวัดความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศที่ประเมินจากมุมมองทางการเงิน เพื่อช่วยบ่งบอกว่า บริษัทนั้น ๆ กำลังเผชิญกับปัจจัยด้านบวกหรือลบ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ”

“โดย CVI จะช่วยวิเคราะห์ว่ากิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงหรือโอกาสอย่างไร โดยแบ่งเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้ กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแนวทางการบริหารจัดการด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท

ตลอดจนการบริหารจัดการของภาคส่วนต่าง ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน, กิจกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศมากนัก และกิจกรรมที่สอดคล้องกับโอกาสการเติบโตในปัจจุบันและในอนาคต อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ”

“ในฐานะที่ลอมบาร์ด โอเดียร์ เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ เราใช้ CVI ช่วยนำทางลูกค้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นอกจากนั้น ยังช่วยนักลงทุนปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการประเมินสถานการณ์ในอนาคต ซึ่งรวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางและวิถีการใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ และความเกี่ยวพันทางการเงิน”


นับเป็นการผลักดันให้นักลงทุนเห็นความสำคัญในเรื่องการลงทุนที่สนับสนุนให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับโลก