กระทรวงแรงงาน ผนึกเอกชน ดำเนิน 3 กลยุทธ์ จ้างงานผู้พิการพันอัตรา

ภาพประกอบข่าว : Kim Hong-Ji/Reuters

กระทรวงแรงงาน ผนึกกำลังภาคเอกชน เร่งจ้างงานผู้พิการ ผ่าน 3 แนวทาง จ้างงาน ตาม พรบ.-เอ็มโอยูจ้างงานคนพิการเชิงสังคม-รวบรวมตำแหน่งว่างจับคู่ผู้พิการ

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการการจ้างงานคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยบรูณาการ 3 กลยุทธ์ ทั้งการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550, ประสานความร่วมมือสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง ในโครงการ MOU จ้างงานคนพิการเชิงสังคม จำนวน 329 อัตรา และรวบรวมตำแหน่งว่างของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ เพื่อการจับคู่ (matching) งานกับผู้พิการ ตั้งเป้า 1,000 อัตรา

โดยวันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ 7 แห่ง โดยมีนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงานร่วมงาน และมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ยังขาดโอกาส จึงมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการโครงการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยัง ลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมสร้างโอกาสให้คนพิการในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

“ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยได้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน ระหว่าง 12 กระทรวง 1 หน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขานรับนโยบายรัฐบาล และเร่งดำเนินการสนับสนุนการจ้างงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และการสนับสนุนให้คนพิการมีงานทำตามศักยภาพ และความต้องการทำงาน ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเชิงสังคม ระหว่างกรมการจัดหางาน และสถานประกอบการชั้นนำ จำนวน 7 แห่ง โดยจ้างงานคนพิการ จำนวน 329 อัตรา ได้แก่

  1. กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย
  2. บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  3. บริษัท รักษาความปลอดภัยการ์ดฟอร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด
  4. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  5. บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด
  6. กลุ่มบริษัทชัยรัชการ
  7. บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส)

พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จ้างคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 (ต้องจ้างคนพิการ 1 คนต่อลูกจ้าง/เจ้าหน้าที่ 100 คน เศษของลูกจ้าง/เจ้าหน้าที่ 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน) หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามมาตรา 34 ในอัตรา 114,245 บาทต่อปี ตามจำนวนคนพิการที่ไม่ได้จ้าง

“ที่ผ่านมามีการนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ปีละกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกต่อนายจ้าง/สถานประกอบการที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย แต่คนพิการจะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มอบหมายกรมการจัดหางานโน้มน้าวสถานประกอบการเพื่อเปลี่ยนมาจ้างงานคนพิการเชิงสังคม โดยใช้สิทธิตามมาตรา 35 ประเภทจัดจ้างเหมาช่วงงาน หรือการจ้างเหมาบริการ โดยเงินก้อนเดิมที่ถูกนำส่งกองทุนฯ จะเปลี่ยนไปสร้างโอกาสให้คนพิการมีงานทำใกล้บ้าน คนพิการมีรายได้จากบริษัทโดยตรง”

“ซึ่งจากความร่วมมือของสถานประกอบการภาคเอกชนทั่วประเทศ ยืนยันการจับคู่ (matching) พร้อมทำงานแล้ว 568 อัตรา จากเป้าหมาย 1,000 อัตรา แบ่งเป็น จากสถานประกอบการทั้ง 7 แห่งที่ร่วมทำ MoU จำนวน 329 อัตรา และสถานประกอบการเอกชนอื่น ๆ ทั่วประเทศที่ให้ตำแหน่งรวม 239 อัตรา ทั้งหมดจะทำสัญญาจ้าง ภายใน 31 ธันวาคม 2564 และเริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 มกราคม 2565 วิธีนี้คนพิการจะมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถรับประโยชน์ได้โดยตรง” นายสุชาติกล่าว

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน ประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้สถานประกอบการเลือกใช้วิธีการจ้างเหมาบริการคนพิการปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐในจังหวัดที่คนพิการอาศัยอยู่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการ ศูนย์บริการคนพิการของท้องถิ่น เทศบาล

โดยครั้งแรกนี้มีเป้าหมายจ้างงานคนพิการเชิงสังคม จำนวน 1,000 อัตรา มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่ประสงค์ให้สิทธิคนพิการแล้ว จำนวน 568 อัตรา คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ประสงค์ทำงาน จำนวน 1,285 อัตรา และมีหน่วยบริการสาธารณะที่สามารถรับคนพิการเพื่อปฏิบัติงาน จำนวน 1,128 อัตรา

มีการยืนยันการจับคู่ (matching) ครบ 3 ฝ่าย (นายจ้าง/สถานประกอบการ+คนพิการฯ+หน่วยบริการสาธารณะ) จำนวน 568 อัตรา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศยังเร่งดำเนินการต่อไปเพื่อให้ถึงเป้าหมายจ้างงานคนพิการครบ 1,000 อัตรา