BOI ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดภาษี 50% สร้าง “คน” ดึงนักลงทุนไทย-เทศ

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ
ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาฯบีโอไอ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชูเศรษฐกิจหมุนเวียน ลดภาษี 50% สร้าง “คน” ดึงนักลงทุนไทย-เทศ

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยในงานเสวนา “อุดมศึกษากับการพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนการลงทุน” ซึ่งจัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ว่าบีโอไอเตรียมมาตรการส่งเสริมนักลงทุน โดยเฉพาะสำหรับภาคเอกชนที่ลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งผ่านความเห็นชอบหลักการจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการลงนามจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเท่านั้น

สำหรับเงื่อนไขคือผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในโครงการทั้งรายเก่า และรายใหม่ หากเพิ่มการฝึกอบรมให้กับพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้หลักสูตรของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง New S-curve และ S-curve ทั้งนี้ยังต้องเป็นโครงการที่มองในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy-CE) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด 50% ของค่าใช้จ่าย แต่จะต้องไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อนิติบุคคล รวมระยะเวลา 2 ปี โดยมีเป้าหมายทั้งนักลงทุนไทย และต่างประเทศ

เนื่องจากช่วงผ่านมา แม้ว่าจะมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้วคืออุตสาหกรรมในกลุ่ม New S-curve แต่ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น ที่สำคัญ นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมักเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve เป็นหลัก หากมีมาตรการเสริมเพื่อจูงใจอีกขั้น ไม่เพียงแต่จะได้คนทำงานที่มีความเชี่ยวชาญตามที่ตลาดต้องการแล้ว ยังช่วยดึงดูดการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศด้วย

“ก่อนหน้านี้มีหลายโครงการติดต่อเข้ามาที่บีโอไอ เพียงแต่อยู่ระหว่างเลือกพื้นที่ว่าจะลงทุนอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยเลือกลงทุนในไทย เพราะไม่คิดว่าจะหาคนทำงานได้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เพราะต้องใช้เครื่องมือ Automatic ถามว่าเรามีคนที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้มากน้อยแค่ไหน และเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญของ BOI ที่จะต้องทำให้สอดคล้องระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย เพื่อตอบสนองให้ทันกับความต้องการของตลาดแรงงานที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ”

นางสาวดวงใจเปิดเผยต่อว่า สำหรับภาคธุรกิจที่มีการพัฒนาคนของตัวเองนั้น หรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรทั่วไป จะได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขสำหรับโครงการที่ยื่นขอบีโอไอ และมีการฝึกอบรมพนักงานเอง รวมถึงการรับนักศึกษาฝึกงานทั้งจากทวิภาคี, สหกิจศึกษา หรือมีการอบรมที่เรียกว่า “Advances Training” เพื่อขอสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ การพัฒนาคนนั้นบีโอไอมองว่า การลงทุนในแต่ละโครงการมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการฝึกอบรมเข้าไปด้วย

“เพราะทั้ง 2 เรื่องมีความเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งตามพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ก็บรรจุเรื่องการพัฒนาคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศด้วยเช่นกัน”