รายงาน ILO เผย ฉีดวัคซีนครบทุก 14 คน ส่งผลจ้างงานเพิ่ม 1 ตำแหน่ง

ภาพ: REUTERS/Kevin Coombs

ไอแอลโอระบุ ทุก 14 คนที่ได้รับวัคซีนครบในไตรมาส 2 ของปี 2564 เทียบเท่ากัการเพิ่มงานเต็มเวลา 1 ตำแหน่งเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลก ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่ำ ประสบกับความถดถอยในการฟื้นตัวด้านตลาดแรงงาน

วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization) เปิดเผยรายงาน “การติดตามสถานการณ์ของไอแอลโอฉบับที่ 8: โควิด-19 และโลกแห่งการทำงาน” เกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานทั่วโลก ซึ่งมีความชะงักงัน และมีความเหลื่อมล้ำอย่างมีนัยสำคัญ

สูญเสียชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น

ไอแอลโอระบุว่า การสูญเสียชั่วโมงทำงานในปี 2564 อันเนื่องจากการระบาดใหญ่โควิด-19 จะสูงกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก (ทำการประเมินก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2564) ขณะที่การฟื้นตัวในอัตราเร่งที่ไม่เท่ากันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนากำลังคุกคามเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

โดยคาดการณ์ว่าชั่วโมงการทำงานทั่วโลกในปี 2564 จะต่ำกว่าชั่วโมงการทำงานในช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 (ไตรมาส 4 ของปี 2562) โดยชั่วโมงการทำงานลดลงจาก 3.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 100 ตำแหน่ง เป็น 4.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเทียบเท่ากับงานเต็มเวลาจำนวน 125 ล้านตำแหน่ง

รายงานฉบับนี้มีการเตือนว่า หากไม่มีการสนับสนุนทางการเงิน และทางวิชาการที่เป็นรูปธรรม “ความแตกต่างอย่างมาก” ของแนวโน้มการฟื้นตัวในการจ้างงานระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาจะยังคงอยู่

ประเทศที่มีรายได้สูงมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ โดยชั่วโมงทำงานยังคงลดลง 3.6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 3 ของปี 2564 เมื่อเที่ยบกับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับล่าง ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการได้รับวัคซีนต่ำ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จำกัด ประสบกับความถดถอยในการฟื้นตัวด้านชั่วโมงการทำงาน

โดยประเทศที่มีรายได้ต่ำมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานจาก 3.7 เปอร์เซ็นต์ช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 เพิ่มไปมีการสูญเสียชั่วโมงการทำงาน 5.7 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 3 ของปี 2564

ส่วนประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับล่าง มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มประเทศอื่น ๆ จาก 5.6 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับบน มีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น สามารถฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2564 แต่ชะงักงันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยอัตราการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอน และไม่เท่ากันระหว่างแต่ละกลุ่มประเทศเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ขณะที่มุมมองระดับภูมิภาคยุโรป และเอเชียกลาง มีการสูญเสียชั่วโมงการทำงานน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการระบาด (2.5 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือเอเชียและแปซิฟิกซึ่งอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์ แอฟริกา อเมริกาและรัฐอาหรับพบการลดลง 5.6 เปอร์เซ็นต์, 5.4 เปอร์เซ็นต์ และ 6.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

วัคซีนและมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ไอแอลโอระบุว่า การเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศที่มีรายได้ปานกลางในระดับล่าง และประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีความแตกต่างกันอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อการฟื้นตัวในด้านงาน

โดยตัวเลขประมาณการบ่งชี้ว่า ทุก 14 คนที่ได้รับวัคซีนครบในไตรมาส 2 ของปี 2564 เทียบเท่ากัการเพิ่มงานเต็มเวลา 1 ตำแหน่งเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วโลก ขณะเดียวกัน การไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ส่งผลต่อการสูญเสียชั่วโมงการทำงาน โดยหากไม่มีการได้รับวัคซีนจะก่อให้เกิดการสูญเสียชั่วโมงการทำงานที่ 6 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาส 2 ของปี 2564 แทนที่จะเป็น 4.8 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การเริ่มฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างมาก และผลกระทบเชิงบวกได้เกิดขึ้นมากที่สุดในประเทศที่มีรายได้สูง เกิดขึ้นเล็กน้อยในประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ และเกือบจะเป็นศูนย์ในประเทศรายได้ต่ำ

ทั้งนี้ ความไม่สมดุลนี้สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านความร่วมมือของทั่วโลกในเรื่องวัคซีนให้มากยิ่งขึ้น โดยไอแอลโอประเมินว่า หากประเทศรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 โดยเท่าเทียมกันมากขึ้น การฟื้นตัวของชั่วโมงการทำงานจะไล่ทันประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่าในเวลาเพียงหนึ่งไตรมาสกว่า ๆ เท่านั้น

ส่วนมาตรการกระตุ้นทางการคลังก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการต่อการฟื้นตัวทางด้านตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดี ช่องว่างการกระตุ้นทางการคลังในแต่ละประเทศยังคงไม่ได้รับการแก้ไข โดยประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์ของมาตรการกระตุ้นทางการคลังทั่วโลกกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้สูง

โดยเฉลี่ยแล้วการเพิ่มขึ้นของการกระตุ้นทางการคลังที่ 1 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อปี ได้ทำให้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2562

อัตราความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงที่สุด

วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิต แรงงาน และธุรกิจ ในลักษณะที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่มากยิ่งขึ้น โดยช่องว่างของผลผลิตระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาคาดว่าจะขยายจาก 17.5 ต่อ 1 เป็น 18 ต่อ 1 ของมูลค่าที่แท้จริง ซึ่งเป็นอัตราส่วนสูงที่สุดที่มีการบันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 2548

นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า แนวโน้มปัจจุบันของตลาดแรงงานมีการฟื้นตัวอย่างช้า เนื่องจากความเสี่ยงเชิงลบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และความแตกต่างอย่างมากระหว่างเศรษฐกิจของพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา การกระจ่ายวัคซีนโควิด-19 และศักยภาพทางการคลังที่ไม่เท่าเทียมก็กำลังขับเคลื่อนความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทั้งสองอย่างจำเป็นต้องได้รับการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 การประชุมใหญ่ของไอแอลโอได้รับรองข้อเรียกร้องระดับสากล ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 โดยเน้นที่คนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นแผนงานที่ให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความมั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมจากวิฤตจะเป็นไปอย่างครอบคลุม ยั่งยืน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มที่ ถึงเวลาแล้วที่ต้องดำเนินการตามแผนงานนี้ ที่มีความสอดคล้องและสนับสนุนวาระร่วม รวมถึงตัวเร่งในการดำเนินการสากลเพื่อการสร้างงาน และการคุ้มครองทางสังคมของสหประชาชาติ”