ภัทรารัตน์ฯ รางวัลเหมืองแร่สีเขียว

อาจเป็นเพราะการประกอบกิจการโรงแต่งแร่ย่อมมีภาพลักษณ์ในเชิงลบ โดยถูกมองว่าเป็นผู้ก่อปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายมิได้คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขาดการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ขาดการนำหลักทางวิชาการ และความปลอดภัยมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งยังขาดจิตสำนึกในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของสถานประกอบการของตนให้เรียบร้อยสะอาดตา

ตลอดจนไม่ใส่ใจในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมโดยรอบ

ดังนั้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ในเชิงบวกให้กับอุตสาหกรรมโรงแต่งแร่ บริษัท ภัทรารัตน์ เคลย์ แอนด์ มิเนอรัล (1992) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มภัทรา โดยมี วัชรีพร วงศ์นิรันดร์ กรรมการผู้จัดการ และ นันทวิทย์ แก้วควรชุม ผู้จัดการทั่วไปจึงนำพาองค์กรเข้าร่วมโครงการเหมืองแร่สีเขียว และเริ่มมีการประกาศนโยบายเหมืองแร่สีเขียว (green mining policy) ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา

โดยมุ่งหวังที่จะเป็นผู้ประกอบการโรงแต่งแร่ที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหมืองแร่สีเขียวที่กำหนดขึ้นทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคม, การกำจัด ลด ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของบุคลากรและชุมชนใกล้เคียง, มีพื้นที่สีเขียว และทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา, มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า

บริษัท ภัทรารัตน์ เคลย์ แอนด์ มิเนอรัล (1992) จำกัด จึงกำหนดนโยบายเหมืองแร่สีเขียวของบริษัทคือการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเปิดโอกาสให้ชุมชน และสังคมมีส่วนร่วมมากที่สุด

ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วม

เพราะการเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วม พนักงานจะมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อีกทั้งยังจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เมื่อองค์กรมีปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ซึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมมีดังต่อไปนี้ คือ

หนึ่ง การมีส่วนร่วมประชุมประจำเดือนภายในองค์กร โดยให้หัวหน้างานเข้าร่วมประชุม เพื่อให้พนักงานได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร สถานการณ์ขององค์กร

สอง การมีส่วนร่วมตัดสินใจ เปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมมือ และร่วมในการตัดสินใจ เพราะหากพนักงานเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ พนักงานจะมีส่วนรับผิดชอบในงานมากกว่าการที่พนักงานไม่มีส่วนร่วมในการร่วมตัดสินใจ

สาม การมีส่วนร่วมในการสร้างระบบงาน ด้วยในปัจจุบันองค์กรได้นำเอาระบบเข้ามาเพื่อพัฒนาองค์กร เช่น ระบบมาตรฐาน ISO 9001 : 2008 และมุ่งมั่นที่จะเข้าระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015 เข้ารับการฝึกอบรม CSR-DPIM Beginner เพื่อมุ่งมั่นเข้าสู่ CSR-DPIM ทั้งยังมุ่งมั่นเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย ในปี 2561

ทั้งนั้นเพราะเราเชื่อว่าการบริหารงานที่ดีต้องเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าร่วมเรียนรู้ระบบ ศึกษาระบบ และอบรมพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง

สี่ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสัมพันธ์ กิจกรรมสัมพันธ์เป็นการกระทำเพื่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร เช่น การจัดงานเลี้ยงปีใหม่ การจัดกีฬาสานสัมพันธ์ประจำปี เป็นต้น

ห้า การมีส่วนร่วมในการสัมมนา ฝึกอบรม โดยจัดการฝึกอบรมทั้งภายใน และภายนอกให้กับพนักงาน เพราะการจัดการฝึกอบรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานเกิดพัฒนาตนเอง

ผลจากการดำเนินโครงการเหมืองแร่สีเขียวนี่เอง ที่สุดจึงทำให้บริษัท ภัทรารัตน์ เคลย์ แอนด์ มิเนอรัล(1992) จำกัด ได้รับรางวัลต่าง ๆ ตลอดมา นับตั้งแต่ปี 2553

ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มีความประสงค์จะคัดเลือกสถานประกอบการเหมืองแร่ โรงแต่ง โรงโม่ บด และย่อยหินและโรงประกอบโลหกรรม เพื่อขอรับรางวัลเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2553-2554

โดยพิจารณาคัดเลือกจากสถานประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกสถานประการชั้นดี จำนวน 87 ราย ซึ่งมี
โรงแต่งแร่ของ บริษัท ภัทรารัตน์เคลย์ แอนด์ มิเนอรัล (1992) จำกัด เป็นหนึ่งในสถานประกอบการดังกล่าว ที่ได้รับการคัดเลือกสถานประการชั้นดี ประจำปี 2550

เดือนมีนาคม 2554 ได้ส่งข้อมูลเพื่อขอรับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประจำปี 2554

วันที่ 9 มิถุนายน 2554 ได้มีการเข้ามาตรวจประเมินการขอรับรางวัลเหมืองแร่สีเขียวประจำปี 2554 ของบริษัท ภัทรารัตน์ เคลย์ แอนด์ มิเนอรัล (1992) จำกัด

วันที่ 23 ธันวาคม 2554 เข้ารับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว ประเภทโรงแต่งแร่ ประจำปี 2554

วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เข้าร่วมรับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ประเภทโรงแต่งแร่ ประจำปี 2558

และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 เข้าร่วมรับรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว ประเภทโรงแต่งแร่ประจำปี 2560 ในครั้งนี้


อันเป็นรางวัลแห่งการทำงานหนักของพนักงานทุกคนตลอดช่วงที่ผ่านมา