ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Coworking Space

เพื่อสนองนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องไทยแลนด์ 4.0 เอไอเอสจึงจัดตั้งศูนย์อินเตอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Coworking Space พร้อมลงนามบันทึกความร่วมมือกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จ.ลำปาง จัดอบรมผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล

โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอไอเอส “Digital For Thais” ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนภาครัฐ
ด้วยการใช้ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนฯเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการในชุมชน

“วิไล เคียงประดู่” ผู้ช่วยกรรมการ ผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 มุ่งเน้นการนำเอาเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลเข้าไปส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
“เอไอเอสในฐานะผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัล เล็งเห็นความสำคัญของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อันสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเอไอเอส ภายใต้แนวคิด Digital For Thais ที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปยกระดับรากฐานของประเทศใน 4 ด้าน คือ สาธารณสุข, การเกษตร, การศึกษา และผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ (Startup) เพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

“เอไอเอส, กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) สนับสนุนการจัดทำโครงการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Coworking Space AIS ร่วมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ โดยมีสาระสำคัญเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาชุมชนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างคุณค่าให้กับสินค้า และบริการของวิสาหกิจชุมชน และธุรกิจรายย่อย”

“ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ มีภารกิจหลักในการช่วยเหลือสตรีที่ขาดโอกาส และครอบครัวมีฐานะยากจน ด้วยการสนับสนุนด้านการศึกษา และสร้างอาชีพ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ”

“วิไล” กล่าวต่อว่า เรามองเห็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน และสตรีที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพ ให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการแข่งขัน ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตลาดออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ

“ด้วยการจัดอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติด้านการตลาดออนไลน์ และการให้คำปรึกษาธุรกิจ วิเคราะห์แนวทางการทำตลาดออนไลน์ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล และการตลาดออนไลน์มาสอนให้กับผู้ประกอบการจำนวน 8 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การทำบัญชี การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาให้การทำงานง่ายมากขึ้น การถ่ายภาพ การออกแบบสินค้าให้ออกมาน่าสนใจ สามารถเพิ่มยอดขายของสินค้า และลดต้นทุนในการบริหารจัดการธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และสังคมในยุคปัจจุบัน”

“เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต” อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มีภารกิจในการมุ่งหวังให้ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ สร้างประโยชน์ให้แก่สมาชิกในเครือข่ายครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข และมีความยั่งยืนในอนาคต

“โดยมีความตั้งใจในการนำองค์ความรู้ด้านดิจิทัลไปส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบธุรกิจ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภายในศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ ซึ่งถือเป็นต้นแบบในการให้ทุกภาคส่วนที่สนใจทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชารัฐ เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เกิดเป็นองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมใหม่
ให้เกิดขึ้นในชุมชน และสามารถนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่สู่สังคมความเข้มแข็งตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป”

“ชาลี สมมาตร” ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จ.ลำปาง กล่าวว่า เรามีวัตถุประสงค์เพื่อให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบธุรกิจในชุมชน และเป็นแหล่งแลกเปลี่ยน
เรียนรู้ระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ผลิต เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครือข่ายในชุมชน จนเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมกับเชื่อมโยงองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคม

“โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มสตรี และกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจในชุมชนที่ผ่านการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพของศูนย์เรียนรู้ฯ รวมถึงประชาชน และกลุ่มสตรีที่ประกอบธุรกิจภายในชุมชน สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ซึ่งได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพให้กลุ่มอาชีพรู้เท่าทันยุคดิจิทัล และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ทั้งยังมีการให้ความรู้ด้านอาชีพควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสด้านการศึกษา”

“ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน ต้นแบบ Coworking Space AIS ร่วมบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนดิจิทัล ถือเป็นต้นแบบในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชารัฐ และประชาชนทั่วไป เข้ามาศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการเริ่มตันพัฒนา หรือต่อยอดการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความสามารถ ในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลต่อไปอย่างยั่งยืน”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว