ทุนที่พักอาศัย “AP” สร้างสรรค์พื้นที่ชีวิตให้นักศึกษา

ในฐานะที่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เชี่ยวชาญการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้ได้ประโยชน์สูงสุด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจความต้องการอันหลากหลายของคนเมือง ทั้งยังตอบสนองทุกความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้า โดยมีสินค้าและบริการเพื่อการอยู่อาศัยแบบครบวงจร

ขณะเดียวกันยังใช้ความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์สเปซสำหรับการอยู่อาศัยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นที่ผ่านมา เอพีมีโครงการ “AP Unusual Football Field” ซึ่งเป็นต้นแบบสนามฟุตบอลแนวคิดใหม่ ที่นำพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนคลองเตยมาใช้ประโยชน์ ด้วยการสร้างสรรค์เป็นพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาที่ไม่จำกัดแค่รูปทรงสี่เหลี่ยม จนเกิดเป็นสนามฟุตบอลรูปตัวแอลและซิกแซ็ก

ซึ่งเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิม ๆ ในการพัฒนาพื้นที่ด้วยการคิดต่าง สร้างสรรค์เป็นพื้นที่ชีวิต จนทำให้ได้รับการยกย่องจาก Time magazine ให้เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016

สำหรับล่าสุด เอพีได้ร่วมกับ “FABRICA” ดีไซน์สตูดิโอชื่อดังจากประเทศอิตาลี นำเสนอวิธีคิดในการออกแบบพื้นที่แห่งอนาคต และการคิดค้นนวัตกรรมพื้นที่ที่สามที่เกิดจากการทับซ้อนทางดีไซน์ ผ่านโครงการ “AP SPACE SCHOLARSHIP ทุนที่พักอาศัย เพื่อการเริ่มต้นของคนคุณภาพ” ซึ่งถือเป็นการสร้างสรรค์ทุนการศึกษารูปแบบใหม่ ที่เป็นการส่งต่อพื้นที่ชีวิตให้เป็นที่พักอาศัย ด้วยห้องชุดในคอนโดฯเอพีให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ที่ย้ายเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลา 1 ปี

“สรรพสิทธิ์ ฟุ้งเฟื่องเชวง” ผู้อำนวยการคอร์ปอเรตมาร์เก็ตติ้ง และเอพี ดีไซน์ แล็บ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า AP SPACE SCHOLARSHIP ถือเป็นโครงการต่อยอดวิธีคิดการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใหม่ โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์สเปซสำหรับการอยู่อาศัยของเอพี และจุดต่างทางความคิดเฉพาะตัวของทีมดีไซเนอร์จากทาง FABRICA ในการร่วมกันสร้างสรรค์พื้นที่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า และส่งต่อในรูปแบบทุนการศึกษาที่เป็นที่พักอาศัยให้กับน้อง ๆ นักศึกษา

“การมอบทุนการศึกษาเป็นตารางเมตร ในคอนโดมิเนียมที่บริหารจัดการโดยบริษัทในเครือเอพี ถือเป็นการเชื่อมต่อการใช้ชีวิตของน้อง ๆ ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด ที่ต้องย้ายเข้ามาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เริ่มต้นชีวิตระหว่างเรียนร่วมกันได้ อย่างมีความสุข สร้างสรรค์ และปลอดภัย ภายในห้องชุดที่ได้รับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยเป็นพิเศษโดยทีม AP Design Lab ร่วมมือกับ FABRICA”

“เหตุผลที่เราจัดโครงการนี้ขึ้นมาคือการช่วยรองรับความเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาที่ต้องการพบกับสังคมใหม่ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเช่าที่อยู่อาศัยในเมืองหลวง โดยเอพีสนับสนุนเรื่องที่พักอาศัยในทำเลที่สามารถเดินทางไป-กลับมหาวิทยาลัยได้อย่างสะดวก และมีความปลอดภัยให้กับน้อง ๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย”

“ปีนี้ถือเป็นโครงการนำร่องปีแรก โดยวิธีการคัดเลือกน้อง ๆ นักศึกษา เรามีประกาศไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่มีน้อง ๆ จะเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร แต่จะต้องมีผลการเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะเรื่องที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ เพื่อทำการคัดเลือกมา 30 คน หลังจากนั้นจะมีการไปเยี่ยมสภาพความเป็นอยู่น้อง ๆ ในจังหวัดภูมิลำเนา”

“ในที่สุด เราคัดเลือกจนเหลือ 7 คน โดยแบ่งหญิง 3 คน ชาย 4 คน โดยน้อง ๆ ผู้หญิงจะพักอาศัยอยู่โครงการ Aspire รัตนาธิเบศร์ ส่วนผู้ชายจะพักอยู่ในโครงการ Aspire สาทร-ตากสิน ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ เรียน ขณะเดียวกันเรายังเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ทำงานกับนิติบุคคลของอาคารชุดนั้น ๆ
เพื่อเป็นรายได้ระหว่างเรียนในอีกทางหนึ่งด้วย”

สำหรับคอนเซ็ปต์การออกแบบของโปรเจ็กต์ SPACE SCHOLARSHIP “แซม บารอง” ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบของ FABRICA กล่าวว่า การออกแบบเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด SUM (Some of Small Parts) ซึ่งเป็นการตั้งคำถามว่า เราจะสร้างพื้นที่แห่งการแบ่งปันไปพร้อม ๆ กับการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้อยู่อาศัยได้อย่างไร

แนวคิด SUM นี้สะท้อนวิธีคิดในการจัดวางพื้นที่สำหรับการอยู่ร่วมกัน ที่ช่วยส่งเสริมการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งเมื่อห้องชุดก่อสร้างแล้วเสร็จ เด็ก ๆ ย้ายเข้าอยู่ เราก็เริ่มเห็นผลจากงานดีไซน์ที่เชื่อมความต่างของทุกคนเข้าหากันได้อย่างลงตัว

“โดยการออกแบบห้องชุดของน้อง ๆ นักศึกษาผู้หญิงที่อยู่ด้วยกัน 3 คน ถูกออกแบบมาภายใต้นวัตกรรมการกิน-อยู่-หลับ-นอน Co-Living Innovation ซึ่งมีขนาด 30 ตารางเมตร รองรับการอยู่อาศัยร่วมกันของ 3 นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ต่างคณะ ต่างมหาวิทยาลัย มีความโปร่ง โล่ง โดยมีจุดเด่นคือ การออกแบบที่เชื่อมโยงความต่างทางวัฒนธรรม”

“ส่วนห้องชุดของน้อง ๆ นักศึกษาผู้ชายเป็นห้องชุดสำหรับ 4 คน ขนาด 46 ตารางเมตร ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดที่ว่ากำแพงที่เป็นทั้งโคมไฟ ครัวที่เป็นห้องสมุด ซึ่งทำให้โจทย์ในการออกแบบพื้นที่ในอนาคตถูกท้าทายด้วยการทลายกรอบทางวัฒนธรรม สมการ 1+1 = 3 จึงเปรียบเหมือนการทับซ้อนทางดีไซน์ที่นำมาสู่การ ค้นพบพื้นที่ที่ 3 พื้นที่ในมิติใหม่อีกด้วย”

“การออกแบบในโครงการ SPACE SCHOLARSHIP ถือว่าท้าทายกับวิธีคิดในการออกแบบของผม และทีม เพราะโจทย์ในการออกแบบคือการออกแบบพื้นที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม สำหรับการอยู่อาศัยร่วมกันของเด็ก 7 คน ที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และเดินทางมาจากคนละจังหวัด มีภูมิหลัง และวัฒนธรรมที่ต่างกัน และผมเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนในสังคมไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสในชีวิต รวมถึงการสร้างคนคุณภาพให้กับสังคมไทย”

“ปุณยวีร์ ยานิตย์” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการปฐมวัย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุน AP SPACE SCHOLARSHIP กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนบ่อไร่วิทยาคม อ.บ่อไร่ จ.ตราด ตัวเองมีความตั้งใจที่อยากจะเรียนต่อในสาขาปฐมวัย เพราะอยากนำความรู้ที่เรียนมา มาสอนเด็ก ๆ เพื่อให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี

“แต่เมื่อต้องเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกจากภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการเรียนต่าง ๆ แล้ว เรื่องค่าใช้จ่ายด้านที่พักอาศัยถือว่าอยู่ในอัตราที่สูงมาก เพราะนอกจากค่าเช่าแล้ว ยังต้องมีประกัน ค่ามัดจำต่าง ๆ
แต่เมื่อได้รับทุนในครึ้งนี้ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัวทางหนึ่ง อีกทั้งในวันเสาร์-อาทิตย์ ยังสามารถทำงานกับนิติบุคคลของเอพี ทำให้มีรายได้ระหว่างเรียนไปด้วย”

“ทุนที่พักอาศัยที่ได้รับครั้งนี้ถือว่ามีความสะดวกสบายในการพักอาศัยเป็นอย่างมาก เพราะมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยอย่างลงตัว ทั้งส่วนที่เป็นที่นอน ที่พักนั่งเล่น ที่อ่านหนังสือ รวมถึงครัวที่สามารถทำอาหารได้ ขณะเดียวกันพื้นที่ยังสามารถเชื่อมโยงให้เกิดความสัมพันธ์ ความใกล้ชิดระหว่างเพื่อน ๆ ที่อยู่ด้วยกัน ทั้งยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในห้อง และของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นฟิตเนส สระว่ายน้ำอีกด้วย”

ถึงตรงนี้ “สรรพสิทธิ์” กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่าการทำงานซีเอสอาร์ของเอพีจะเน้นเอาความเชี่ยวชาญของบริษัทที่มีอยู่มาสร้างสรรค์ ทั้งเรื่องความเก่งเรื่องการใช้พื้นที่ ภายใต้หลัก AP Space และการออกแบบ จนเกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใหม่

“เราหวังว่าโครงการนี้ AP SPACE SCHOLARSHIP จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ส่งเสริมความกล้าในการที่จะคิดและทำต่างอย่างสร้างสรรค์ นับว่าเป็นการต่อยอดวิสัยทัศน์ในการคิดต่างของเอพี ในการเดินหน้า คิดค้น และนำเสนอนวัตกรรม เพื่อการใช้ชีวิตสำหรับคนเมืองที่ครอบคลุมทุกมิติ”

“อนาคตต่อไปคาดว่าจะมีการขยายผลในโครงการนี้ต่อไป ซึ่งจะมีการประเมินผลโครงการอีก 6 เดือน ว่าเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันต้องดู Area ของโครงการ กับสถานศึกษาที่น้อง ๆ เรียนอยู่ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง และแนวคิด SPACE SCHOLARSHIP อาจจะมีพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจในอนาคตก็เป็นได้”

นับเป็นการพลิกโฉมการทำกิจกรรมเพื่อสังคมแบบเดิม ๆ โดยนำ Space และ Design มาใช้ จนเกิดเป็นนวัตกรรมพื้นที่ในการช่วยเหลือสังคมอย่างลงตัว