กุ๊กบนเรือขาดแคลน ก.แรงงานเปิดฝึกอาชีพ ส่งคนไทยสู่ตลาดต่างประเทศ

กระทรวงแรงงานคิกออฟเปิดฝึกกุ๊กป้อนเรือเดินทะเล ปฏิบัติตาม ILO และ พ.ร.บ.แรงงานทะเล 2558

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานเปิดฝึกอบรมยกระดับฝีมือสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ รุ่นที่ 1/2564 ณ ห้องฝึกอบรม ชั้น 2 อาคารวิทยาลัยการแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรุงเทพมหานคร

ธุรกิจเดินเรือทะเลถือเป็นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมาก แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกิจเดินเรือทะเลหยุดออกเรือ ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้นมาก มีสัญญาณบวกทั้งนโยบายการเปิดประเทศและตัวเลขของผู้ได้รับวัคซีนป้อกันโควิด-19 ภาคธุรกิจต่างเตรียมขับเคลื่อนเดินหน้า หลายบริษัทขาดแคลนคนครัวบนเรือที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีนโยบายส่งเสริมให้กำลังแรงงานไทยปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมายไทย และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดจุดอ่อนหรือข้อด้อยที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และยังจะแสดงถึงศักยภาพแรงงานไทยได้อย่างเต็มที่ เป็นการสร้างโอกาสและรักษาตำแหน่งงานให้คนไทยโดยเฉพาะตำแหน่งงานในตลาดต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในฐานะหน่วยงานตามกฎหมาย พ.ร.บ.แรงงานทะเล ฝึกอบรมหลักสูตรสาขาการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ เพื่อส่งเสริมให้คนประจำเรือในตำแหน่งคนครัวบนเรือได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล ค.ศ 2006 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization: ILO) และ พ.ร.บ.แรงงานทะเล พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้คนครัวบนเรือต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรนี้จากหน่วยงานที่ได้การรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมสามารถประกอบอาชีพบนเรือเดินทะเลและเรือขนส่งระหว่างประเทศได้ โดยตำแหน่งคนครัวบนเรือเป็นที่ต้องการเรือเดินทะเล เช่น เรือสำราญ เรือรบ เรือประมง เรือสำรวจทางอุทกศาสตร์ เรือขุดร่องน้ำ และเรือขนส่งระหว่างประเทศ

สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้เริ่มต้นจัดฝึกเป็นที่แรกก่อนขยายฝึกทั่วประเทศ ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 1 ใน 15 หน่วยงานกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นสถานฝึกอบรมคนครัวบนเรือ

มีแผนการฝึกอบรม 6 รุ่น รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 1 ซึ่งมีสถานประกอบกิจการส่งพนักงานเข้ารับการอบรมจำนวน 23 คน เช่น บริษัท จุฑานาวี จำกัด (มหาชน) บริษัท ทิปโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรานส์ โอเชี่ยน ซัพพลาย (1992) จำกัด และบริษัท สยามมงคลเดินเรือ จำกัด เป็นต้น

ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 42 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 22-27 พฤศจิกายน 2564 หัวข้อการฝึกอบรมได้แก่

  • ความรู้พื้นฐานของคนครัวบนเรือ
  • ความปลอดภัยและสุขภาพในการปฏิบัติงาน
  • สุขลักษณะส่วนบุคคลและอาหาร
  • ทักษะการประกอบอาหาร
  • การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
  • การจัดการและการควบคุมดูแลครัว
  • การจัดการของเสียในครัว
  • มุมมองด้านศาสนาและวัฒนธรรม

หลักสูตรการจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือนอกจะช่วยให้แรงงานทำงานถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถ เสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีในการปฏิบัติงานบนเรือเดินทะเล และใช้อุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงานและบำรุงรักษาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ ในการทำงาน จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจเดินเรือของไทย และเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย