ILO ชี้โควิดทุบท่องเที่ยว 5 ประเทศ คนตกงาน 1.6 ล้านคน

ตกงาน

ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลักของหลายประเทศในทวีปเอเชีย-แปซิฟิก แต่การปิดการให้บริการของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ส่งผลต่อการสูญเสียการจ้างงานในภูมิภาค

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (International Labour Organization-ILO) เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิก โดยสำรวจข้อมูลจาก 5 ประเทศ ได้แก่ บูรไนดารุสซาลาม, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสั่นคลอนจากการว่างงาน ความเสื่อมถอยในคุณภาพของงาน และการเข้าสู่งานนอกระบบสูงขึ้น

โดยเกือบ 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานทั้งหมดที่เสียไป อยู่ในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และภาคการท่องเที่ยวในปี 2563 มีจำนวนคนตกงานสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ถึง 4 เท่า

มีการประเมินว่าในบรรดา 5 ประเทศดังกล่าว มีคนตกงานถึง 1.6 ล้านคน และหากคำนวณครอบคลุมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวทางอ้อมด้วย จะทำให้ตัวเลขการประมาณที่แท้จริงของผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้น่าจะมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก

“ชิโฮโกะ อาซาดะ-มิยากาวา” ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวว่า ผลกระทบของการระบาดใหญ่โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในเอเชียและแปซิฟิกอยู่ในจุดหายนะ

“ถึงแม้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจะให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างมาก และออกแบบยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อค่อย ๆ เปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่แนวโน้มของชั่วโมงการทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในปีหน้าจะยังคงต่ำกว่าตัวเลขช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19”

การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เคยคาดการณ์ไว้มาก โดยจำนวนชั่วโมงการทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวลดลงมากกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ 2 ถึง 7 เท่า การสูญเสียชั่วโมงการทำงานในปี 2563 ของภาคส่วนนี้ มีตั้งแต่ร้อยละ 4 ในเวียดนาม ถึงร้อยละ 38 ในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานในระบบไปสู่งานนอกระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น คุณภาพของงานก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แม้ว่าจะมีการเปิดพรมแดนอีกครั้ง แต่มีการคาดการณ์ว่าในระยะสั้นการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังคงไม่มาก จากมุมมองนี้ รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการสร้างโอกาสในการจ้างงานในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว

“ซาร่า เอลเดอร์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของไอแอลโอ และผู้เขียนหลักของงานวิจัยฉบับนี้กล่าวว่า ด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงหยุดนิ่ง และด้วยงานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากที่สุด การระบาดใหญ่ชวนให้แต่ละประเทศต้องคิดทบทวนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวระยะกลาง และระยะยาวใหม่

“ด้วยเหตุนี้ วิกฤตจึงนำมาซึ่งโอกาสในการเชื่อมภาคธุรกิจท่องเที่ยวสู่อนาคตที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง และมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะใช้เวลาพอสมควร แรงงาน และธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจะยังคงต้องการความช่วยเหลือ เพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไป และเพื่อคงไว้ซึ่งสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่อไป ในขณะเดียวกัน ควรมุ่งมั่นเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศทั้งหมดทุกกลุ่ม รวมถึงแรงงานข้ามชาติ”

รายงานระบุว่า ผลกระทบของวิกฤตต่อการจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวในไทยบรรเทาเบาบางขึ้น แต่การหดตัวของค่าจ้าง และชั่วโมงการทำงานยังรุนแรงมาก และงานต่าง ๆ ในภาคการท่องเที่ยวหดตัวลง ขณะที่งานในภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

โดยค่าจ้างโดยเฉลี่ยในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยลดลงโดยรวมร้อยละ 9.5 อันเนื่องจากแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปทำงานที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เช่น กิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 10 ซึ่งตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสแรกของปี 2564 ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ในทุกธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ยกเว้นกิจการบริการอาหารและเครื่องดื่ม”

ส่วนฟิลิปปินส์มีคนตกงาน และชั่วโมงการทำงานลดลงโดยเฉลี่ยในปี 2563 สูงที่สุดในบรรดาประเทศต่าง ๆ ในเอเชียและแปซิฟิก การจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวหดตัวลงร้อยละ 28 (เมื่อเปรียบเทียบกับการหดตัวร้อยละ 8 ในภาคธุรกิจอื่น ๆ) และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 38 สำหรับแรงงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ชั่วโมงทำงานเป็นศูนย์ต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เท่า (ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวน 775,000 คน)

ขณะที่เวียดนาม ผลกระทบเลวร้ายของวิกฤตที่มีต่อภาคการท่องเที่ยวหลัก ๆ คือการลดลงของค่าจ้าง และการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานที่ไม่เป็นทางการ ค่าจ้างในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวโดยเฉลี่ยลดลงเกือบร้อยละ 18

ทั้งนี้ ลูกจ้างที่เป็นหญิงได้รับค่าจ้างลดลงเกือบร้อยละ 23 ส่วนจำนวนของลูกจ้างนอกระบบในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในปี 2563 ลูกจ้างในระบบกลับมีจำนวนลดลงร้อยละ 11 สำหรับบรูไนดารุสซาลาม ได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ทั้งในแง่ของการจ้างงานที่ลดต่ำลง และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยที่มีจำนวนน้อยลง ซึ่งหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 40 และเกือบร้อยละ 21 ตามลำดับ บรูไนยังเป็นประเทศที่มีความแตกต่างมากที่สุดระหว่างการเลิกจ้างในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

ทำนองเดียวกัน ในมองโกเลีย การจ้างงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยประสบปัญหาอย่างมากจากการระบาดใหญ่และหดตัวเกือบร้อยละ 17 นับว่า โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจ และแรงงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างมาก จึงนับเป็นงานหนักที่ภาครัฐต้องหามาตรการมากระตุ้นการจ้างงานให้เพิ่มขึ้นภายหลังการเปิดประเทศ