รมต.สุชาติส่งทีมลงใต้ตรวจสอบค้ามนุษย์แรงงานประมง ยกระดับสู่ Tier 1

ปัญหาคนงานประมง ขาดแคลน
FILE PHOTO: by NICOLAS ASFOURI/AFP

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งทีมลงใต้ ตรวจสอบกรณีแรงงานประมงชาวข้ามชาติตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปค้ามนุษย์ เร่งเครื่องปลดล็อค Tier 2 Watch List สู่ Tier 1

วันที่ 30 พฤศจิยายน 2564 ผู้สือข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ส่งนายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เมื่อวานนี้ (29 พฤศจิกายน) เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ สอบสวนคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ด้านแรงงาน บังคับใช้กฎหมาย แก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง

นายสุชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลด้านนโยบายของกระทรวงแรงงาน มุ่งมั่นยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเพื่อปลดล็อก Tier 2 Watch List สู่ Tier 1 ให้ได้

โดยมอบนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจการทำงานของแรงงานไทยและแรงงาข้ามชาติ และตรวจสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงาน และบูรณาการการทำงาน สร้างความรู้ความเข้าใจแก่แรงงาน ผู้ประกอบการและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานทุกมิติ

“กระทรวงแรงงานได้นำนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติ โดยได้มอบหมายให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าร่วมแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตรวจสอบกรณีแรงงานประมงชาวเมียนมา จังหวัดปัตตานีตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปค้ามนุษย์ ณ ห้องประชุมโรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งเชื่อว่าหากมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และบังคับใช้กฎหมายด้านแรงงานอย่างจริงจัง จะสามารถยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้”

นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า ได้ร่วมกับทีมสหวิชาชีพประกอบด้วยหน่วยงาน พนักงานสอบสวนส่วนกลาง กองกำกับการตำรวจภูธรภาค 9 สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา สถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จังหวัดสงขลา และมูลนิธิไอเจเอ็ม (IJM) ร่วมสัมภาษณ์สอบสวนคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ด้านแรงงานแก่ลูกจ้างในเรือประมงทะเล

ซึ่งมีการฟ้องร้องนายจ้างตั้งแต่ปลายปี 2563 และเจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งเมื่อต้นปี 2564 โดยในวันนี้ได้มีการสอบสวนปากคำคัดแยกเหยื่อแรงงานประมงชาวเมียนมา และจะมีการสอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งหากผลการสอบสวนพบเข้าข่ายการค้ามนุษย์ด้านแรงงานก็จะบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับนายจ้างต่อไป