ประกันสังคมเพิ่มวงเงินกู้สถานประกอบการ 30 ล้านบาท หมดเขต 31 ธ.ค.นี้

ประกันสังคม

โค้งสุดท้ายขยายวงเงินโครงการสินเชื่อให้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไป 30 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 2 (พ.ศ. 2563-2564) โดยร่วมกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง และได้ขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไปให้สามารถขอสินเชื่อได้ถึง 30 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 ล้านบาท

นายบุญสงค์กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจจากโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษาการจ้างงานให้ผู้ประกันตนมีงานทำต่อเนื่องและอยู่ในระบบประกันสังคม

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม

กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นของสถานประกอบการขนาดใหญ่ให้เข้าถึงสินเชื่อในจำนวนเงินที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับขนาดของธุรกิจและจำนวนลูกจ้างของสถานประกอบการ จึงได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานระยะที่ 2 (2563-2564)

โดยร่วมกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

“ขณะนี้เราได้ขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างเกิน 200 คน ให้สามารถขอสินเชื่อได้ถึง 30 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 15 ล้านบาท (เฉพาะธนาคารที่เข้าร่วมโครงการขยายวงเงินสินเชื่อให้กับสถานประกอบการ 3 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารยูโอบี และธนาคารกรุงไทย”

ทั้งนี้ เงื่อนไขในการขอสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยยังคงไว้เดิมสำหรับการขอสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 2.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี และกรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือใช้บุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกินร้อยละ 4.75 ต่อปี คงที่ 3 ปี

สำหรับข้อกำหนดของสถานประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการมีดังนี้

  • เป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม
  • จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน
  • รักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างในสถานประกอบการ

นายบุญสงค์กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นี้ โดยสามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-12 และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสาขา เพื่อขอหนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการ แล้วนำไปติดต่อยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร หรือพิมพ์หนังสือรับรองสถานะความเป็นสถานประกอบการในระบบ e-Service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp และเลือกหัวข้อขอหนังสือรับรอง (โครงการสินเชื่อฯ)