เปิดมุมมอง LINE สร้างทีม s-Commerce สู่อนาคต

เลอทัด ศุภดิลก
เลอทัด ศุภดิลก ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย

“s-Commerce” หรือการขายของออนไลน์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างคอมมิวนิตี้และตลาดออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน ตอนนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากในประเทศไทย เพราะเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ข้อดีของ s-Commerce เมื่อเทียบกับ e-Commerce คือสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าง่ายกว่าและจำนวนมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ LINE แอปพลิเคชั่นเพื่อการสื่อสารที่มีไทม์ไลน์ช่องทางที่สามารถแชร์เรื่องราวให้กับเพื่อน ๆ ด้วยข้อความ, รูปภาพ, วิดีโอ และสติ๊กเกอร์ ต่างได้รับความนิยมจากคนไทยสูงสุด จึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม LINE Shopping และล่าสุด MyShop ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2563 เพื่อเติมเต็มความเป็นตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซแบบครบวงจร

กล่าวกันว่า การริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ย่อมมีความท้าทายเสมอ ผลเช่นนี้จึงทำให้ “เลอทัด ศุภดิลก” ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวถึงมุมมองความคิดต่อการรับมือความท้าทาย การสร้างทีมและกลยุทธ์ที่จะสามารถผลักดันตลาด s-Commerce ให้ไปไกลยิ่งกว่าเดิมในอนาคต

“แรงจูงใจที่เข้ามาทำงานสายเทค เพราะมีความต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีอิมแพ็กต์ ทั้งยังเป็นของที่คิดค้นโดยคนไทย และสามารถขยายไปได้ทั่วโลก ซึ่งเล็งเห็นว่าการขายของผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นพฤติกรรมที่คนไทยทำมานานแล้วก่อนหลาย ๆ ประเทศ จึงนำทรัพยากรที่ LINE มี ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการสื่อสาร และช่องทางการจ่ายเงินมาพัฒนาฟีเจอร์สำหรับช่องทางการขายสินค้าออนไลน์แห่งใหม่”

โดยผู้ใช้งานที่สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์ได้จะเปิดเป็นหน้าร้านค้าออนไลน์ในลักษณะของแค็ตตาล็อกสั่งซื้อสินค้า หรือใช้เป็นฟีเจอร์เสริมสำหรับสร้างรายการสั่งซื้อให้กับลูกค้าที่ทักเข้ามาในหน้าต่างแชต

“ปีนี้ LINE Shopping มีจำนวนร้านค้าโตขึ้นกว่า 300% และจำนวนผู้ขายบนแพลตฟอร์ม ณ กลางพฤศจิกายน 2564 มีประมาณ 294,400 ราย ขณะที่ยอดขายสินค้ารวมทั้งแพลตฟอร์มคิดเป็นอัตราการเติบโต 370% เมื่อเทียบกับปีที่ 2563″

ซึ่งจำนวนร้านค้าโซเชียลที่เปิดใหม่บน LINE Shopping 5 อันดับแรกแบ่งตามประเภทของสินค้าได้แก่

1.อุปกรณ์กีฬา

2.สินค้าสัตว์เลี้ยง

3.สุขภาพและความงาม

4.สินค้าแม่และเด็ก

และ 5.แฟชั่นอันสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากสถานการณ์ล็อกดาวน์ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น และยอดผู้ใช้งานต่อเนื่อง (active user) กว่า 7 ล้านคนต่อเดือน

“ด้วยความที่ MyShop และ LINE Shopping เป็นเซอร์วิสใหม่ จึงมีปัญหาและความท้าทายหลายอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ดังนั้น การมีทีมที่ไม่เพียงปฎิบัติการได้ดี (best operation) แต่ต้องเป็นทีมที่แข็งแกร่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

“ฉะนั้น คนที่เหมาะกับทีมของเราต้องเป็นคนมีความทะเยอทะยานและมุ่งมั่น (ambition) ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ต้องพยายามก้าวข้ามผ่านไปได้ นอกจากนั้น จะต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง (self-motivation) เพื่อเป็นแรงผลักดันในการทำงานหนึ่งงานใด ๆ ให้สำเร็จไปได้ด้วยดี”

“เลอทัด” บอกว่า ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในยุคที่มีความยืดหยุ่นสูงในเรื่องวิธีการทำงาน และสถานที่ทำงาน รวมทั้งต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (creative problem solving) ซึ่งเป็นกระบวนการคิดรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการหรือเทคนิคที่สร้างสรรค์ต่างจากเดิม ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้

ดังนั้น หน้าที่ของตนในฐานะผู้นำ คือ วางแนวทางเดินที่ชัดเจนเพื่อให้คนในทีมแต่ละคนมีแรงจูงใจ และความพยายามในการทำงานนั้น ๆ ให้สำเร็จ นอกจากนั้น เรายังให้ความสำคัญกับวิธีการมองปัญหาให้มาก ต้องวิเคราะห์ให้เป็นว่าปัญหาต่าง ๆ เกิดจากตนเองหรือสิ่งรอบข้างถึงจะแก้ไขได้ถูกทาง

“ตัวอย่างคำพูดที่ผมมักยกให้กับคนในทีมฟังเสมอ คือ เวลาเราเห็นขยะ เราเลือกพูดว่ามันสกปรก หรือเลือกที่จะเดินไปเก็บขยะ ซึ่งก็เปรียบเทียบได้กับการทำงาน เพราะคนที่มักประสบความสำเร็จคือคนที่เห็นปัญหาแล้วเดินเข้าไปแก้ไข ถึงแม้จะไม่ใช่คนที่สร้างปัญหาก็ตาม”

“ด้วยความที่ธุรกิจเราเติบโตมากขึ้น จึงมองหาคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทีมเพิ่มในปีหน้า แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการนำคนใหม่เข้ามาเริ่มในองค์กรมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสอนงาน เช่น การหาที่ปรึกษาให้พนักงานใหม่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่พนักงานทุกคนทำงานจากที่บ้าน (work from home)”

“ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องหันมาให้ความสำคัญ คือ กลยุทธ์การทำงานที่ต้องสอดคล้องกับการทำงานระยะไกล ทั้งการสื่อสาร การเทรนนิ่ง และการจัดหาพี่เลี้ยงให้พนักงานใหม่”

“การทำงานให้ประสบความสำเร็จในยุคที่เราอยู่ห่างกัน คือ การสื่อสารต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา ทำงานเชื่อมต่อกันได้จากระยะไกลเพราะมีเป้าไปทิศทางเดียวกัน มีความเชื่อใจให้พนักงานทำงานในแบบของตนเอง แต่วัดที่ผลงานมากกว่าวิธีการ ที่สำคัญผู้นำต้องเซตเป้าให้ชัดเจนขึ้น และต้องมีช่องทางที่ให้พนักงานใหม่สื่อสารได้เสมอ เมื่อพวกเขาเจอปัญหาหรือเรื่องที่ไม่เข้าใจ นอกจากนั้น ยังต้องทำงานข้ามสายกันได้ (cross function) อีกด้วย”

“เลอทัด” กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการสร้าง LINE Shopping และ MyShop จะเป็นการช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย (SMEs) ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่มีส่วนสร้าง GDP (gross domestic product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศถึง 34.7%

ดังนั้น บริษัทจึงวางกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs ด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ

หนึ่ง freedom ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ ทั้งสามารถแข่งขันกับ e-Marketplace ได้

สอง lower cost ลดคอสต์ค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจ โดยให้บริการช่องทางการขายฟรี ง่ายและสะดวก พร้อมช่วยหาพันธมิตรที่ช่วยค่าใช้จ่ายให้ถูกลง เช่น ค่าส่งสินค้า

สาม increase connection เพิ่มคอนเน็กชั่นระหว่างธุรกิจกับผู้คน โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายพูดคุยกันเพื่อเพิ่มเอ็นเกจเมนต์ให้กันและกัน ซึ่ง LINE มีพื้นที่สำหรับการทำแบบนั้นอยู่

นับว่าน่าสนใจทีเดียว