พนักงานไม่อยากเที่ยวกับบริษัท

ประกอบบทความ

ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์
https://tamrongsakk.blogspot.com

ผมเห็นเรื่องนี้เป็นกระทู้หนึ่งที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ก็เลยอยากเอามาแชร์เล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับ HR และฝ่ายบริหารนำกลับไปทบทวนดูว่าเราควรจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ยังไงต่อไป

เป็นเรื่องปกติของหลายบริษัทที่มักจะจัดทริปท่องเที่ยวให้กับพนักงานประจำปี ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก ๆ คืออยากให้พนักงานได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานกันมาทั้งปี และถือเป็นการตอบแทนที่ให้กับพนักงาน (สำหรับบริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายในการไปทริปนี้ทั้งหมด)

พูดง่าย ๆ คือวัตถุประสงค์ก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ทำไมพนักงานถึงยังไม่อยากไปเที่ยวล่ะ ?

ผมก็เลยขอนำ feedback ของคนที่ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมในเรื่องนี้มาให้ดู ดังนี้

1.บริษัทชอบจัดในวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) เพื่อไม่ให้กระทบกับงาน แต่พนักงานหลายคนมีภาระครอบครัว ต้องพาลูกไปเรียนพิเศษ, ซักผ้า, ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ

2.วันอาทิตย์กลับมาถึงที่บ้านก็ค่ำมากแล้ว วันรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์ต้องทำงานต่อ ทำให้ไม่พร้อมในการทำงาน เพราะเพลียจากการเดินทาง

3.การไปเที่ยวกับบริษัทไม่เหมือนการไปพักผ่อน เพราะมีเจ้านาย, มีเพื่อนร่วมงานที่อาวุโส ที่ต้องคอยเกรงใจ ต้องคอยระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกหัวหน้ามองด้วยสายตาไม่ดี ยิ่งบริษัทไหนที่ผู้บริหารมี gap กับพนักงานมาก ๆ ทำให้พนักงานยิ่งเกร็ง และไม่รู้สึกว่ามาเที่ยว มาพักผ่อน

4.มีกิจกรรมที่บังคับคนให้มาทำ เช่น บังคับให้ออกมาเต้นไก่ย่างถูกเผา โดยที่คนไม่อยากออกมาทำกิจกรรรม หรือไม่อยากเล่นเกมเหล่านั้น เพราะคนไปเที่ยวก็อยากพักผ่อนจริง ๆ อยากทำตัวตามสบาย แต่กลับต้องมาถูกบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่อยากทำ ถ้าไม่เข้าร่วมกิจกรรม หัวหน้าก็จะมองว่าเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี

5.บอกว่ามาพักผ่อน แต่กลับมีการจัดอบรม สัมมนากันอีกครึ่งวัน หรือหนึ่งวัน แล้วทุกคนต้องเข้าอบรม หรือไม่งั้น CEO ก็จะมาพูดเรื่องเป้าหมายการดำเนินงาน พูดเรื่องนโยบาย ฯลฯ ตกลงเป็นการมาพักผ่อน หรือมาสัมมนาวิชาการกันแน่

6.บางบริษัทจัดวันธรรมดา (เช่น วันศุกร์) แต่บังคับให้เป็นวันลาพักร้อน ทำให้พนักงานไม่อยากไปเที่ยว เพราะเสียวันลาพักร้อนไปฟรี ๆ 1 วัน

7.บางบริษัทจัดไปเที่ยวแต่หักเงินจากพนักงาน ทำให้พนักงานไม่อยากไปเที่ยว แถมของขวัญที่จับสลากก็มาจากเงินของพนักงานอีกนั่นแหละ ฯลฯ

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ตัดสินนะครับ ว่าความเห็นข้างต้นนี้ถูกหรือผิด เป็นเพียงการสรุปนำเสนอ feedback บางส่วนสำหรับคนที่ไม่อยากไปเที่ยว และไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมทำนองนี้ของบริษัทเท่านั้น

ส่วนตัวผมเองสมัยทำงานประจำก็เคยเป็นผู้จัดกิจกรรมทำนองนี้อยู่แทบทุกปี ก็ไม่เคยได้ feedback อย่างข้างต้น

วิธีที่ผมเคยจัดจะเป็นแบบนี้ครับ

1.บริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่เคยหักเงินพนักงานในการไปเที่ยวประจำปี รวมถึงของขวัญจับสลากก็ไม่ได้ให้พนักงานออกเงินซื้อ

2.จัดวันศุกร์-เสาร์ (วันศุกร์นับเป็นวันทำงานตามปกติ ไม่ได้ถือเป็นวันลา) แล้วกลับบ่าย ๆ วันเสาร์ พนักงานจะได้มีเวลาพักผ่อนวันอาทิตย์

3.ตั้งเป็นคณะทำงาน โดยมีตัวแทนของฝ่ายต่าง ๆ เป็นกรรมการ แล้ว HR จะเข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็นเพื่อจัดงานร่วมกัน ทำกำหนดการต่าง ๆ โดยมติที่ประชุม แล้วให้ตัวแทนไปบอกเล่ากับเพื่อน ๆ ในฝ่ายตัวเองทราบกำหนดการเที่ยวประจำปี

4.ไม่มีการจัดสัมมนาฝึกอบรมแทรกไปในกำหนดการ เพราะถือว่าการไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีคือไปพักผ่อนสนุกสนานร่วมกันปีละครั้ง

5.ขอความร่วมมือผู้บริหารทุกระดับนั่งรถบัสไปกับพนักงาน ส่วนตัวผมเองนั่งรถบัสไปกับพนักงานทุกครั้ง ไม่เคยขับรถส่วนตัวไปเอง ซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี

6.การทำกิจกรรมใด ๆ จะไม่สร้างกิจกรรมที่ทำให้พนักงานขายหน้า หรือทำให้รู้สึกอับอาย เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกัน และไม่บังคับใจกัน ผู้บริหารก็เข้าร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกัน ถ้าใครไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรม ไม่มีผลใด ๆ กับคนคนนั้น เพราะคนที่อยากทำกิจกรรมและสนุกกับเพื่อน ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย

7.คนที่เป็นผู้นำกิจกรรมมีความสำคัญมาก จะต้องเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับและเป็นคนมีทักษะการพูดโน้มน้าวใจคน มีไหวพริบ และมีอารมณ์ขัน คนที่เป็นตัวจี๊ดแบบนี้ ผมว่าคนในบริษัทจะรู้กันดีว่ามีใครบ้าง

อยากจะสรุปความเห็นส่วนตัวของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ ถ้าบริษัทไหนที่ผู้บริหารกับพนักงานมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความเป็นกันเอง มีวัฒนธรรมองค์กรแบบพี่แบบน้อง ใจเขาใจเรา ปัญหาดังกล่าวจะมีน้อยถึงน้อยมาก

แต่ถ้าบริษัทไหนที่มีความขัดแย้งกันสูง ผู้บริหารกับพนักงานต่างก็ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ขาดความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน หรือมีความเป็นพิษในองค์กรสูง (unhealthy organization) คงจะเจอปัญหาอย่างที่บอกมาข้างต้นแหละครับ

อย่าว่าแต่ไปเที่ยวกันประจำปีเลยครับ เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่น่าจะมีปัญหา มันก็มีปัญหาไปหมดแหละ

หวังว่าที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้คงจะทำให้เกิดข้อคิดสะกิดใจเพื่อทบทวนและปรับปรุงการจัดกิจกรรมเที่ยวประจำปีของบริษัทของท่านในครั้งต่อไปให้ราบรื่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นทั้งพนักงานและผู้บริหารได้บ้างแล้วนะครับ