ทิศทางมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565 ผลักดันค่าจ้างช่างเพิ่มขึ้น

กระทรวงแรงงานเปิดสัมมนากำหนดทิศทางมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2565 เร่งปรับให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าจ้าง

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบพิจารณาและปรับปรุงร่างคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ พร้อมทั้งเยี่ยมชมบูธผลงานช่างฝีมือ ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมกล่าวรายงาน และผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างระบบเศรษฐกิจที่แข็งแรง เน้นสร้างแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือชั้นสูง สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ดังนั้น กลไกของมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจึงต้องเร่งปรับให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต้องผลักดันให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขาอาชีพที่ต้องการด้วย

สุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (ซ้าย)

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการดำเนินการ มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน และมาตรฐานฝีมือแรงงานได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีความทันสมัย ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

“การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นได้ชัดเจนคือ การส่งเสริมการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ มีขั้นตอนในการจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบเพื่อให้ผู้ทดสอบใช้ในการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงาน และแรงงานนอกระบบ ซึ่งต้องให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยี สภาพการจ้างงาน และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รวมถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องระดมมันสมองพิจารณา และจัดทำคู่มือเพื่อการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก”

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำกรอบร่างวิธีการทดสอบ พิจารณาและปรับปรุงร่างคู่มือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

เพื่อจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและสภาพการจ้างงานในปัจจุบัน ตลอดจนรองรับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในอนาคต โดยร่วมกันพิจารณา จำนวน 5 สาขา ประกอบด้วย

  1. สาขาผู้ควบคุมเครื่องมือวัดโปรไฟล์โปรเจ็กเตอร์
  2. สาขานักดูแลและบริหารระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
  3. สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง
  4. สาขาช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ CAD
  5. สาขาช่างควบคุมเครื่องกัด CNC

วิทยากรและผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย คณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรสมาคมวิชาชีพ ผู้แทนสถานศึกษา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งสิ้น 70 คน

การสัมมนาเป็นรูปแบบการบรรยายให้ความรู้โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อร่วมกันพิจารณารูปแบบการจัดทำคู่มือวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาต่าง ๆ ทั้งภาคความรู้และความสามารถ นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงสาธิตการทำงานในสาขาอาชีพที่จัดการสัมมนาด้วย

อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวด้วยว่า สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) เป็นอีกหนึ่งสาขาที่แรงงานขาดแคลน เนื่องจากสาขาดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีทักษะความรู้ ผ่านการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบมาตรฐานในการทำงาน

ซึ่งกระทรวงแรงงานมีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) ให้ผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทีลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) ระดับ 1 ได้รับค่าจ้างเป็นเงินไม่น้อยกว่าวันละ 510 บาท

ส่วนสาขาผู้ควบคุมเครื่องมือวัดโปรไฟล์โปรเจ็กเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดขนาดชิ้นงานละเอียดชนิดแสงเงา สามารถอ่านค่าความละเอียดสูงสุดถึงระดับไมครอน ด้วยหลักการใช้เลนส์ขยาย และใช้แสงเป็นตัวช่วยในการฉายภาพของชิ้นงานนั้น ๆ บนหน้าจอ สาขาอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับการควบคุมคุณภาพการผลิตด้านมิติ ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือชิ้นส่วนยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

และสาขาช่างควบคุมเครื่องกัด CNC เป็นเครื่องจักรที่ทำงานภายใต้การสั่งการของระบบคอมพิวเตอร์ ที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของเครื่องมือตัดให้กัดหรือสร้างรูปทรงบนชิ้นงานได้ตามความต้องการ ซึ่งใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนประกอบเครื่องบิน หรือผลิตแม่พิมพ์

ผู้ที่สามารถใช้งานเครื่องกัด CNC มีโอกาสในการเลือกประกอบอาชีพได้หลากหลายแบบ ไม่เพียงแค่ในอุตสาหกรรมงานโลหะเท่านั้น แต่ยังสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในงานที่ต้องการความละเอียดทุกรูปแบบ ทั้งงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ งานในอุตสาหกรรมรองเท้า งานออกแบบโมเดลสถาปัตยกรรม งานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มาจากอัญมณี หรืองานตัดแต่งไม้แกะสลัก เป็นต้น ซึ่งจากความรู้ความชำนาญเฉพาะทางดังกล่าวจึงทำให้แรงงานในสาขานี้ได้รับค่าแรงค่อนข้างสูง และจำเป็นจะต้องใช้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ในงานสัมนามีบูทแสดงผลงานช่างฝีมือ ดังนี้

  • สาขาช่างเชื่อมท่อพอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) สาธิตการเชื่อมชิ้นงาน โดยบริษัท วีบี เวลดิ้ง เทคโนโลยี่ จำกัด
  • บูทเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม แสดงระบบการวัดด้วยการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์ โดยบริษัท มิตูโยโย (ประเทศไทย) จำกัด
  • บูทเยาวชนแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาช่างควบคุมเครื่องจักรกล CNC แสดงชิ้นงานที่เป็นผลงานการเก็บตัวฝึกซ้อมเยาวชน โดยบริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด
  • และบูทสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง แสดงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และระบบ PLC โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์