การขับเคลื่อนธุรกิจ สู่ความยั่งยืน

CSR Talk
ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

การทำงานด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในปัจจุบันเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ประกาศปรับเกณฑ์แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีเป็น one report ทั้งยังเพิ่มการรายงานในหัวข้อ “การขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจคำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี และผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ดังนั้น เราจึงเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของการทำงานในด้านนี้

จากในอดีตที่ยังมีความเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องการทำความดี มาเป็นการวางแผนงาน การทำกลยุทธ์มากขึ้น

CSR Talk ฉบับนี้ ดิฉันจึงมาแบ่งปันว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนมีอะไรบ้าง ?

การทำธุรกิจในปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่อง “purpose driven” หรืออีกชื่อที่เราเริ่มจะได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงหลัง ๆ นื้ คือ “high purpose” หรือการเอาวัตถุประสงค์หรือความมุ่งมั่น (commitment) ที่องค์กรของเราจะดำรงอยู่ในสังคมเพื่อส่งมอบคุณค่าอะไร เพื่อเป็นตัวนำในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน

โดยตัวความมุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าตามที่ได้ประกาศไว้นี้จะเข้าไปเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจในการทำงานของตนเอง (transformation and change management) พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่คำนึงถึงวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น หรือพันธสัญญาที่บริษัทให้ไว้ในทุก ๆ ขั้นตอนการดำเนินงาน

ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลยุทธ์เพื่อให้ตอบความมุ่งมั่นที่องค์กรตั้งไว้ การบริหารจัดการต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์กิจกรรมของธุรกิจ เป็นต้น

เมื่อองค์กรได้กำหนดความมุ่งมั่นและคุณค่าของตนเองแล้ว ในขั้นตอนต่อไปคือการบูรณาการ (integrate) ความมุ่งมั่น และคุณค่านี้เข้าไปสู่การทำงานภายในองค์กร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (transform) ซึ่งการจะทำได้นั้นองค์กรจะต้องสร้างสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1.ความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนขององค์กร (corporate sustainability) ต่อผู้บริหารระดับสูงและคนในองค์กรทั้งหมดว่าเพราะอะไรจึงต้องทำเรื่องนี้ ? เรื่องนี้คืออะไร ? และจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ?

2.กำหนดคุณค่า (high purpose) ที่องค์กรต้องการจะส่งมอบ

3.พัฒนากระบวนการห่วงโซ่คุณค่า (business model/value chain) ขององค์กร โดยอาจออกแบบกระบวนการใหม่ (redesign) หรืออาจเป็นการระบุวิธีการใหม่ (redefine) เพื่อให้กระบวนการทำงานในห่วงโซ่คุณค่าสามารถตอบโจทย์ high purpose ที่องค์กรกำหนดไว้ได้

4.ระบุผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

5.ระบุประเด็นที่มีความสำคัญว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อยกระดับให้ตอบโจทย์ตามรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ หรือตอบโจทย์ high purpose ได้อย่างไร ?

และท้ายที่สุดจะนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ และทำให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถในการสร้างคุณค่าการแข่งขัน อันจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ออกมานั้นมีการยกระดับมากขึ้น

สำหรับการบูรณาการ คือ การนำเนื้อหาด้านความยั่งยืนใส่เข้าไปตั้งแต่การระบุความมุ่งมั่น/คุณค่าด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการบูรณาการด้านความยั่งยืนเข้าไปแล้ว จะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยการจะทำให้องค์กรมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยสำคัญคือการมีเนื้อหาด้านความยั่งยืนของแต่ละหน่วยงานและโครงสร้าง

สำหรับการกำกับดูแลในฝ่ายต่าง ๆ เนื่องจากผลจากการบูรณาการเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในองค์กรจะเกิดเป็นแผนงาน หรือกิจกรรมการทำงานต่าง ๆ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงหรือการ transform คือการที่เรื่องความยั่งยืนนั้นสามารถ go live หรือมีชีวิตอยู่ในองค์กร มีการทำงานที่คำนึงถึงเรื่องการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนตลอดเวลา

การเปลี่ยนแปลงหรือ transform นี้จำเป็นต้องอาศัยผู้นำภายในองค์กรช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ส่งผลให้พนักงานภายในองค์กรรู้สึกว่าองค์กรต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง และนำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนได้สำเร็จ คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ตระหนักถึงการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนจริง ๆ ไม่ใช่มองเรื่องนี้เป็นงานเสริม หรือเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากงานประจำ แต่สามารถเข้าใจได้ว่าเรื่องนี้จะช่วยสนับสนุนให้การทำงานประจำมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพียงใด

แล้วจะทำเรื่อง “ความยั่งยืน” อย่างไรให้ได้เงิน ?

การจะทำเรื่องความยั่งยืนให้ได้เงินนั้น องค์กรจะต้องเข้าใจก่อนว่าความยั่งยืนคืออะไร ? และองค์กรต้องการจะทำเรื่องความยั่งยืนเพื่ออะไร ?

อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าหลาย ๆ องค์กรยังเข้าใจว่างานการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนเป็นงานเดียวกับงาน CSR เป็นกิจกรรมการกุศลที่คอยช่วยเหลือผู้อื่น เป็นการใช้เงิน ไม่ใช่ได้เงิน หากมองว่าความยั่งยืน = CSR นั่นแปลว่าองค์กรยังไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของงานการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ทั้ง ๆ ที่ในหลักการแล้วคำว่า CSR ย่อจาก Corporate Social Responsibility คือ ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ซึ่งโดยพื้นฐานที่นักทฤษฎีหลาย ๆ ท่านเคยให้นิยามไว้ คือ การเป็นสถาบันที่ค้ำจุนระบบเศรษฐกิจของสังคม ซึ่งจะค้ำจุนได้องค์กรต้องมีเงิน ดังนั้น CSR ในความหมายที่แท้จริง คือ องค์กรต้องอยู่รอดและทำให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้นด้วยการรับผิดชอบในสินค้าและบริการ และสุดท้ายคือ การทำให้ชุมชนดีขึ้น ซึ่งการออกไปให้ความช่วยเหลือสังคมตามความเข้าใจทั่วไปนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากอ้างอิงจากความหมายที่แท้จริงนี้

ดังนั้น การจะทำงานด้านการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน หรือแม้แต่งานด้าน CSR ให้ได้เงิน องค์กรจึงจะต้องมีความเข้าใจก่อนว่าเรื่องนี้มีไว้เพื่ออะไร ?

ต่อมาเมื่อเข้าใจแล้วว่าองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างการเติบโต เราจึงมากำหนดต่อว่าแล้วจะรับผิดชอบอย่างไรให้ยั่งยืน นั่นคือการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา ดังนั้น หากองค์กรเลือกรับผิดชอบในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร คือการใช้เงิน ซึ่งสามารถทำได้ แต่อาจต้องมีการกำหนดสัดส่วนในการรับผิดชอบนี้ให้เหมาะสมไม่มากจนเกินไป

หรือในด้านสิ่งแวดล้อมที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และองค์กรต้องการมีส่วนร่วม องค์กรต้องเข้าใจว่า climate change เกี่ยวข้องกับองค์กรอย่างไร ? ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจขององค์กรอย่างไร ? จะรับมืออย่างไร ? เพื่อเลือกความรับผิดชอบที่เหมาะสม สอดคล้องกับธุรกิจต่อไป

อาทิ องค์กรหนึ่งบอกว่าเห็นคนอื่นทำก็ทำ อยากเป็นคนดี ช่วยลดผลกระทบ แต่ไม่เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ส่งผลกระทบอะไรกับองค์กร

อีกองค์กรหนึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลให้ฝนตกหนักขึ้น และอาจกระทบกับการเก็บรักษาวัตถุดิบ จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออีกองค์กรหนึ่งอาจพบว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลกับพนักงานที่ต้องออกไปทำงานกลางแจ้ง ต้องเจอสภาพอากาศที่ร้อนมากขึ้นกว่าในอดีต จึงเกิดอาการเป็นลมแดดบ่อยขึ้น

จาก 3 ตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า หากองค์กรเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบอย่างไรต่อองค์กร แทนที่จะไปให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้เช่นตัวอย่างแรก อาจจะต้องกลับมาพิจารณาว่าจะดูแลเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถต้านทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการดูแลด้านสุขภาวะของพนักงานในการทำงานกลางแจ้งอย่างไร เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นี่คือการทำเรื่อง “ความยั่งยืน” ให้ได้เงิน

หมายเหตุ – ผู้เขียนขอขอบคุณ “อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม” ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน สำหรับข้อมูลในการเขียนครั้งนี้ค่ะ