บริหารจัดการทุนมนุษย์ ความท้าทายใหม่ในโลกยุคดิจิทัล

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และสังคมผู้สูงอายุ ถือเป็นการเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายต่อการปรับตัว ภาครัฐจึงต้องเร่งผลักดันภาคส่วนต่าง ๆ ให้มีความพร้อม รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยหนึ่งในหลายภารกิจ คือ แผนการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจำต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนเช่นเดียวกัน

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมฝ่ายทรัพยากรบุคคล “พิชญ์พจี สายเชื้อ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะทำให้อนาคตของการทำงานเปลี่ยนไป เช่น เมื่อเราพูดถึงองค์กรในปัจจุบัน องค์กรหมายถึงสถานที่ที่มีคนมาจัดการสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดงาน แต่องค์กรในอนาคตไม่ใช่แบบนั้น ไม่ใช่ที่ที่คนมาทำงานเต็มเวลา แต่กลายเป็นตัวกลางของเครือข่ายคนทำงาน ทั้งพนักงานประจำ พนักงานอิสระ พนักงานชั่วคราว พนักงานว่าจ้างสัญญา เป็นต้น

“ดังนั้นองค์กรสมัยใหม่จะมีขนาดเล็กลง และองค์กรที่มั่นคงไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ ตราบใดที่คิดเร็วทำเร็ว มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมอยู่เสมอ องค์กรก็จะอยู่รอดต่อไปได้ ยกตัวอย่าง เช่น อูเบอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ไม่ได้มีรถเป็นของธุรกิจตัวเองเลยสักคัน หรือลาซาด้า เว็บไซต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาภายใต้แนวคิดการเป็นแหล่งช็อปปิ้งผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ที่มีจำนวนการทำการซื้อขายมากที่สุดในประเทศไทย แต่บริษัทไม่ต้องผลิตหรือมีสินค้าของตัวเอง สองบริษัทนี้จึงเป็นตัวอย่างขององค์กรที่มีรูปแบบการจ้างงานแห่งอนาคต และใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเดินธุรกิจ”

นอกจากนั้น บริษัทต่าง ๆ จะพิจารณาเรื่องการใช้หุ่นยนต์มาเป็นแรงงานในอนาคตแทนคนมากขึ้น โดยบางส่วนคาดการณ์ว่า ในปี 2568 หนึ่งในสามของงานทุกประเภททั่วโลกจะใช้หุ่นยนต์ทำงาน นอกจากนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดยังเชื่อด้วยว่า ภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า ประมาณร้อยละ 47 ของงานทุกประเภทจะใช้หุ่นยนต์ทำงานให้ทั้งหมด

ข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics) เผยว่า จะมีการใช้หุ่นยนต์ 2.32 ล้านตัวทั่วโลกในปีนี้ ในจำนวนนั้นหมายถึงหุ่นยนต์ 41,600 ตัว ในประเทศไทยด้วย และร้อยละ 80 ของหุ่นยนต์เหล่านี้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 ทำงานในอุตสาหกรรมภาคบริการ ทั้งนี้มีการคำนวณกันว่า อุตสาหกรรมที่เอาหุ่นยนต์มาใช้จะลดต้นทุนเฉลี่ยทั่วโลกร้อยละ 16

“ในประเทศไทย หลายบริษัทเริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้กว่า 10 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่กระจายไปทุกอุตสาหกรรมเพราะราคาแพง และเทคโนโลยียังไม่ดีพอ แต่ตอนนี้ราคาหุ่นยนต์เริ่มถูกลง โดยราคาหุ่นยนต์เฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 875,000 บาท เท่ากับว่าจ่ายค่าแรงหุ่นยนต์ชั่วโมงละ 130 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของคนที่นั่นตกชั่วโมงละ 238 บาท เนื่องจากหุ่นยนต์ไม่มีค่าสวัสดิการอื่น ๆ เพิ่มเติม ไม่มีการลางาน และไม่มีการใช้อารมณ์มาเกี่ยวข้องกับการทำงาน ทำให้ผลงานมีความเสถียรภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อดีของหุ่นยนต์ ส่งผลให้ปี 2016 ทั่วโลกมีเปอร์เซ็นต์ในการซื้อหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 23”

ขณะเดียวกัน “พิชญ์พจี” บอกว่า อนาคตของการทำงานจะมีรูปแบบการคิดจ้างที่เปลี่ยนไปด้วย จากปัจจุบันบริษัทส่วนใหญ่ให้ค่าจ้างตามตำแหน่ง ตามจำนวนงาน แต่ต่อไปจะเปลี่ยนเป็นตามคุณภาพของงาน และตามทักษะที่ใช้ในงานนั้น ๆ ทำให้ค่าจ้างไม่ตายตัว ดังนั้น คนต้องเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเอง และยกระดับความสามารถของตัวเองเพื่อความอยู่รอดในอนาคต

“เมื่อปัจจัยการทำงานเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการใช้หุ่นยนต์ และพฤติกรรมของแรงงานในตลาดที่เปลี่ยนไป จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนองค์กร ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทในฐานะที่ต้องดูแลเรื่องนี้จำเป็นต้องรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความคล่องแคล่วว่องไว ยืดหยุ่น และรวดเร็ว เพราะฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนบริษัท ด้วยการพัฒนากลุ่มคนทำงานที่มาจากต่างที่ให้สามารถทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของบริษัทได้”

ทั้งนั้น สิ่งสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน คือ หนึ่ง เข้าใจกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ สอง พิจารณาลักษณะเฉพาะด้านวัฒนธรรมและความสามารถขององค์กรที่จะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบมากขึ้น สาม ศึกษาภาพรวมของงานและให้ความสำคัญกับการลดปัญหาช่องโหว่ต่าง ๆ

“พิชญ์พจี” กล่าวด้วยว่า ถึงตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ในไทยยังคงเผชิญกับอุปสรรคปัญหาของการได้บุคลากรที่มีฝีมือมาร่วมงานด้วย ด้วยเหตุผลประการแรก คือ ประชากรกลุ่มผู้สูงอายุขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้มีกลุ่มคนวัยทำงานน้อยลงต่อไปในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า ประการที่สอง คือ ความจงรักภักดีของพนักงานต่อองค์กรลดน้อยลงไปทุกวัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจเนอเรชั่นใหม่

“บริษัทใหญ่ ๆ อาจจะต้องเปิดมุมมองความคิดให้กว้างขึ้นถึงวิธีการที่เพิ่มฟังก์ชั่นงานบางอย่างเข้ามาในองค์กร หรือในบางครั้งต้องย้ายออกไปข้างนอกจะทำให้บริษัทรู้ว่าจุดไหนในองค์กรบ้างที่สำคัญ หรือต้องลด”

ตอนนี้ วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กำลังพยายามพัฒนาวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือองค์กรของลูกค้าในการปรับเปลี่ยนองค์กรตอบสนองระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการออกแบบโปรแกรมต่าง ๆ เช่น การช่วยให้ลูกค้าทำงานกับปัจจัยใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้ การช่วยเรื่องการออกแบบการจ้างงาน การช่วยคิดทักษะใหม่ ๆ ที่องค์กรจำเป็นต้องใช้ การช่วยคิดเรื่องค่าตอบแทน

การเตรียมความพร้อมของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ให้มุ่งเน้นในการเพิ่มความสามารถพนักงานและเพิ่มมูลค่าองค์กร จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้สำเร็จ