ศิลปิน-แรงงานสถานบันเทิงรอเก้อ ครม. ยังไม่เคาะค่าเยียวยา

สถานบันเทิง กรุงเทพ
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ครม.ยังไม่เคาะเยียวยาศิลปิน-แรงงานสถานบันเทิง 3 แนวทาง ต้องรอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานเสนอแนวทางเยียวยา นักร้อง ลิเก นักดนตรี พนักงานเสริฟ คนขับรถรับ-ส่ง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ในวันนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเรื่องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ยังไม่มีการพิจารณาเยียวยา

เนื่องจากต้องรอข้อมูลและการอนุมัติจาก 2 หน่วยงานที่ดูแลแหล่งเงินเยียวยาคือ 1.สำนักประกันสังคม ซึ่งคณะกรรมการจะต้องอนุมัติการเยียวยากรณีสุดวิสัยก่อน 2.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่จะดูเรื่องเงินช่วยเหลือที่ต้องใช้เงินกู้ ซึ่งจะต้องมีการเสนอรายละเอียดให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ พิจารณาก่อนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เปิดเผยแนวทางการให้ความช่วยเหลือ แบ่งออกเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

– กลุ่มที่ 1 นายจ้าง: ให้ลงทะเบียนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่มีภาษี โดยนายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานทะเบียนข้อมูลประกันสังคมมาตรา 33 สถานะ active)

– กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33: ให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน)

– กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม: ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยต้องสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 และต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรองว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป