
เอสซีจี ชู ESG 4 Plus เดินหน้าธุรกิจ ควบคู่กู้วิกฤตโลกร้อน ทุ่ม 7 หมื่นล้าน มุ่งสู่ Net Zero – Go Green ลุยพลังงานสะอาด พัฒนาธุรกิจคาร์บอนต่ำ ดันนวัตกรรมรักษ์โลกเพิ่มขึ้น 2 เท่า ระดมปลูกต้นไม้ 3 ล้านไร่ สร้าง 130,000 ฝาย
วันที่ 8 ธันวาคม 2564 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวในงาน “SCG ESG Pathway เริ่มด้วยกัน เพื่อเราเพื่อโลก” ว่า โลกกำลังเผชิญวิกฤตใหญ่ ได้แก่ อากาศแปรปรวนจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 องศา ทรัพยากรทั่วโลกขาดแคลน จากจำนวนประชากรที่จะเพิ่มสูงขึ้น 9.6 พันล้านคน ทำให้ทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลก
- กอบศักดิ์ ชี้ที่มาที่ไป สหรัฐยอมจำนน เข้าอุ้มเงินฝาก 2 แบงก์ล้ม
- รับปริญญา “คิดนอกกรอบ” จาก…ลาดกระบัง สู่…ปัญญาภิวัฒน์-ม.บูรพา
- ดวงรายสัปดาห์ 12-18 มีนาคม 2566
ขณะที่โควิด 19 ทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมขยายวงกว้าง คาดว่าปี 2022 คนตกงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 205 ล้านคน เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง เยาวชนจำนวนมากหลุดออกจากระบบการศึกษา ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันกู้วิกฤตโลก โดยใช้ ESG (Environmental, Social, Governance) กรอบการพัฒนาที่เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจระดับโลกสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ และโมเดล เศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืนของรัฐ หรือ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy)
“ที่ผ่านมาเอสซีจี ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) เป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม วันนี้เราก้าวสู่ปีที่ 109 จึงยกระดับ SD สู่แนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่ 1.มุ่ง Net Zero 2.Go Green 3.Lean เหลื่อมล้ำ 4.ย้ำร่วมมือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส”
นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับ แนวทางที่ 1 มุ่ง Net Zero ตั้งเป้ามุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 (Net Zero) โดยเบื้องต้นเราตั้งไว้ว่าภายในปี 2030 ต้องลดการปล่อยลงให้ได้อย่างน้อย 20% โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำอย่างพลังงานชีวมวล (Biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเชื้อเพลิงจากขยะในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ การใช้ลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต และพลังงานแสงอาทิตย์
รวมถึงวิจัยและลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น บริการจัดหายานยนต์ไฟฟ้าโดยคัดสรรผู้ผลิตที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับลูกค้าธุรกิจและองค์กร เช่น รถยก รถบรรทุก รถบัส รถตู้ขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
โดยเน้นที่คุณภาพและความปลอดภัยของแบตเตอรี่ รวมถึงการบริการจัดหาอุปกรณ์ Charger ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดเตรียมศูนย์กระจายชิ้นส่วนอะไหล่ ของยานยนต์ไฟฟ้า การประกอบรถยนต์ ได้แก่ การนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่จากมาจากต่างประเทศ เพื่อประกอบรวมกับชิ้นส่วนอะไหล่ภายในประเทศ หรือการแปลงสภาพจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การซ่อมบำรุงต่าง ๆ นอกจากนี้จะมีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory for Energy Analytics) และเตรียมทดลองนำร่องใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage – “CCUS”) เป็นต้น
ที่สำคัญยังคงเดินหน้าปลูกต้นไม้ลดโลกร้อน 3 ล้านไร่ และป่าโกงกาง 3 หมื่นไร่ ดูดซับ 5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมขยายผลไปในอาเซียน รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติม 130,000 ฝาย เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ให้แก่ป่าต้นน้ำ และขยายชุมชนการจัดการน้ำยั่งยืนให้ครอบคลุม 50 จังหวัดทั่วประเทศ
ส่วนแนวทางที่ 2 Go Green จะผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้คาร์บอนมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปด้วยกัน
โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ฉลาก SCG Green Choice เป็น 2 เท่าจาก 32% เป็น 67% ภายในปี 2030 อาทิ ปูนงานโครงสร้าง เอสซีจี สูตรไฮบริด ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ทดแทนการใช้ถ่านหินซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตปูนซีเมนต์ได้เท่ากับ 18% และมีการนำลมร้อนที่เกิดจากการผลิตนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทำให้ลดการใช้พลังงานถึง 38% การผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.05 ตัน CO2
หรือจะเป็นบริการระบบหลังคา SCG Solar Roof Solutions, นอกจากนี้ ยังตั้งบริษัท SCG Cleanergy ให้บริการโซลูชันผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงอาทิตย์และลม ทั้งในไทยและต่างประเทศ ,CPAC Green Solution ช่วยให้ก่อสร้างเสร็จไว ลดของเหลือทิ้งในงานก่อสร้าง,SCG Green Polymer นวัตกรรมพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบโจทย์ธุรกิจและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์ของเอสซีจีพีทั้งหมดสามารถรีไซเคิล ใช้ซ้ำ หรือย่อยสลายได้ในปี 2050
“ซึ่งแนวทางที่มุ่ง Net Zero และGo Green เราตั้งเป้าใน 7-8 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2030 ได้ประมาณการเงินลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ 70,000 ล้านบาท หรือปีละ 10,000 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาธุรกิจคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิลงให้ได้ 20% ภายในปี 2030
แนวทางที่ 3 Lean เหลื่อมล้ำ จะมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ตลาดต้องการให้แก่ชุมชนรอบโรงงาน และ SMEs ประมาณ 20,000 คน ภายในปี 2025 เช่น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก โดยโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ อาชีพ ช่างปรับปรุงบ้าน โดย Q-Chang (คิวช่าง) อาชีพแปรรูปผลิตภัณฑ์ และขายสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ผ่านโครงการพลังชุมชน อาชีพผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ นักบริบาลผู้สูงอายุ ผ่านทุนการศึกษาจากโครงการ Learn to Earn โดยมูลนิธิเอสซีจี รวมถึงเสริมความรู้เพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ด้วย Kubota Smart Farming
แนวทางที่ 4 ย้ำร่วมมือ สร้างความร่วมมือขับเคลื่อน ESG กับหน่วยงานระดับประเทศ อาเซียน และระดับโลก อาทิ ร่วมกับไปรษณีย์ไทยและองค์การเภสัชกรรม ในโครงการ “ไปรษณีย์ reBOX” รีไซเคิลกล่องกระดาษเหลือใช้ ร่วมกับ PPP Plastic จัดการขยะพลาสติกเพื่อนำกลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติก ร่วมกับ Unilever เปลี่ยนขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนเป็นพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง สำหรับผลิตขวดบรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) ลดการปล่อยและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในเนื้อคอนกรีตในอุตสาหกรรมซีเมนต์ (Recarbonation: CO2 sink)
และล่าสุด ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดประชุม Green Meeting ในงานประชุม APEC2022 และ ASEAN Summit นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดงาน ESG Symposium ในไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนในอาเซียนร่วมขับเคลื่อน ESG ต่อไป
สุดท้ายคือ Plus เป็นธรรม โปร่งใส เอสซีจีได้ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทาง ESG 4 Plus ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance) อย่างต่อเนื่อง ดำเนินทุกกิจกรรมอย่างเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังเน้นการปลูกฝังไปยังพนักงาน ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนเป็นวัฒนธรรมองค์กร