เทรนด์ HR หลังโควิด ค่าตัวแพง-จ้างฟรีแลนซ์-เอาต์ซอร์ซ

ประทินรัตน์ วัชรสินธุ์
ประทินรัตน์ วัชรสินธุ์ ที่ปรึกษาด้านการจัดการ และธุรกิจครอบครัว รวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กร และที่ปรึกษาด้านการซื้อขายและควบรวมกิจการ

ต้องยอมรับว่า “ธุรกิจครอบครัว” หรือ “family business” กำลังเกิดขึ้นในทุก ๆ อุตสาหกรรม ฉะนั้น รายละเอียดและความน่าสนใจจากเวทีเสวนา ทายาทรุ่น 2 Future Possibilities ที่จัดขึ้นโดย The Clound และพันธมิตร ถึงธุรกิจครอบครัวในระดับตำนาน โดยมีนักวิชาการ, ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะมาสกัดมุมมองผ่านประสบการณ์สู่นักธุรกิจครอบครัวที่ต้องการสานต่อธุรกิจท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงอย่างการระบาดของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จึงนับเป็นความน่าสนใจอย่างยิ่ง

เพราะจะ “เปลี่ยน” การจ้างงานไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะงานทางด้านการพัฒนาบุคลากรอันเป็นทุนสำคัญของทุก ๆ องค์กร

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ถอดมุมมอง ความคิดของ “ประทินรัตน์ วัชรสินธุ์” ในฐานะที่ปรึกษาด้านการจัดการ และธุรกิจครอบครัว รวมถึงการจัดโครงสร้างองค์กร และที่ปรึกษาด้านการซื้อขายและควบรวมกิจการ ทั้งนั้นเพื่อให้เธอวิเคราะห์ถึงเรื่องต่าง ๆ ที่น่าสนใจในขณะนี้ และอนาคตข้างหน้า

ความจำเป็นของสัญญาจ้างงาน

“ประทินรัตน์” บอกว่า เรื่องสำคัญในช่วง 2-3 ปีผ่านมาคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมากจึงถือว่ามีความท้าทายธุรกิจมากขึ้น ประเด็นที่มักเจอคือ “สัญญาจ้างงาน” คำถามคือ เราต้องทำสัญญาจ้างงานหรือไม่

คำตอบคือการทำสัญญาจ้างงานนั้น เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่การสมัครงาน นายจ้างสัมภาษณ์ ตกลงค่าตอบแทน สถานที่ กำหนดวันทำงาน เมื่อลูกจ้างตกลงถือว่าสัญญาจ้างเกิดขึ้นแล้ว แต่ที่สงสัยสัญญาจ้างต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือหนังสือหรือไม่

จริง ๆ แล้วไม่มีอะไรกำหนดไว้ว่าสัญญาจ้างงานต้องทำเป็นหนังสือ เพราะแค่ตกลงกันปากเปล่า และเข้าทำงานตามที่สัญญาไว้ นายจ้างให้เงินเดือน จ่ายประกันสังคม เท่านี้ก็ถือว่าสัญญาจ้างงานสมบูรณ์แล้ว

“คำถามต่อมาคือการทำสัญญาเป็นหนังสือดีอย่างไร ทุกอย่างที่เป็นลายลักษณ์อักษรถือว่ามีความชัดเจน รู้ข้อตกลงต่าง ๆ ผู้ที่เข้ามาสมัครงานจะรู้สึกว่าองค์กรเหล่านี้มีระเบียบแบบแผน นายจ้างเองก็กันลืมได้ กรณีหากมีประเด็นที่ต้องตกลงกัน ส่วนบริษัทที่เปิดทำงานมานานตั้งแต่รุ่นพ่อ-แม่ ยังไม่มีทำสัญญาจ้างงาน แต่วันนี้จะลุกขึ้นมาทำนั้นก็สามารถทำได้”

“โดยกำหนดรายละเอียดทั้งหมดไว้ในสัญญาตั้งแต่วันที่เริ่มงาน แต่การทำสัญญาจะดูว่าขั้นตอนมากหรือไม่ อย่าคิดอย่างนั้น เพราะการตกลงจ้างงานที่แน่ชัดจะเกิดความสบายใจทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้รู้ว่าในแต่ละช่วงองค์กรกำลังเผชิญกับอะไรอยู่”

“การจ้างงานที่มีหลากหลายตำแหน่งนั้น กรณีที่โครงสร้างการทำงานที่มีความคล้ายคลึงกันต้องทำสัญญาจ้างงานแตกต่างกันหรือไม่ แต่โครงสร้างการจ้างงานไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่ในรายละเอียดสัญญาเท่านั้นที่แตกต่างกัน เช่น ค่าตอบแทน เพื่อให้ฝ่าย HR ทำงานได้ราบรื่นมากยิ่งขึ้น เพราะยังมีขั้นตอนการประเมินผลและการจ่ายโบนัสด้วย”

“ถามว่าสัญญามีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ บอกเลยว่าสัญญาคือสัญญา หากต้องการเปลี่ยนแปลงต้องคุยกันให้รู้เรื่อง แต่บางคนอาจจะโดนเปลี่ยนสัญญาจ้างโดยรู้ตัว อย่างเช่นหากมีการปรับขึ้นเงินเดือน ปรับตำแหน่งในหลายบริษัทจะดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือ สิ่งเหล่านี้คือการเปลี่ยนสัญญาในรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะมองว่าเป็นหนังสือที่ออกจากลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว แต่จริง ๆ แล้ว หากลูกจ้างรับรู้ รับทราบแล้วนั้น ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญา”

นอกจากนั้น “ประทินรัตน์” ยังกล่าวถึงองค์ประกอบสัญญาจ้างงาน ความสำคัญอยู่ที่ “ความชัดเจน” ฉะนั้น ความชัดเจนในการจ้างงานคืออะไร ? คือระยะเวลาเริ่มทำงาน ผลตอบแทน สถานที่ทำงาน อะไรที่ต้องการให้มีการตกลงทั้ง 2 ฝ่ายต้องระบุไว้ในสัญญา ส่วนอื่น ที่ไม่ได้ระบุ กฎหมายระบุให้ไปว่ากันตามกฎหมาย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องสัญญาว่าต้องมีความซับซ้อน สัญญาที่ดีคือสัญญาที่ทั้ง 2 ฝ่ายอ่านแล้วมีความเข้าใจตรงกัน

“แต่มีเรื่องที่อาจจะลืมเลือนกันไปคือภาระภาษี และการหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เคยมีกรณีจ่ายเงินไม่เต็ม แต่ในความเป็นจริงนายจ้างต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีที่มีรายได้ถึงระดับที่ต้องเสียภาษี บางบริษัทอาจจะมีการออกค่าภาษีให้ในระดับบริหาร หากจะมีการตกลงอย่างอื่นเป็นพิเศษนั้น แนะนำให้เขียนสัญญาเป็นหนังสือที่ชัดเจน ระบบสวัสดิการต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน ในกรณีที่มีมากกว่าการจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม สามารถระบุในสัญญาจ้างเพิ่มเติม”

สรรพปัญหาจาก WFH

ต้องยอมรับว่าโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานที่บ้าน หรือ WFH เป็นเรื่องที่จู่โจมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว เพราะเกิดการ shutdown ในหลายพื้นที่ มีการสอบถาม การ WFH มีผลต่อการจ้างงาน และการทำงานอย่างไร

แน่นอนว่าสภาพการทำงานเปลี่ยน ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าทำงาน ถามว่าสิ่งที่พนักงานต้องเจอคือการ “ตัดสวัสดิการ” บางอย่าง เช่น ค่าเดินทาง ต้องถามต่อว่าในขั้นตอนการจ่ายเงินเป็นอย่างไร หากนำบิล หรือใบเสร็จค่าเดินทางมาเบิก

แต่โดยปกติจ่ายเงินโดยฟิกซ์ไว้ในเงินเดือนแล้วจะขอลดนั้น “ไม่ได้” ต้องมีการหารือกับพนักงานก่อน และควรทำหนังสือรับทราบ และลงนามยินยอมว่าสวัสดิการตรงนี้จะหายไป โดยสามารถระบุได้เป็นช่วงเวลาจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ตามมาด้วยการประชุมออนไลน์ ต่อเนื่องยาวนานด้วยเหตุว่าไม่ต้องเดินทางมาทำงาน ให้ระวัง เพราะกฎหมายระบุว่าการทำงานคือ 8 โมงเช้าถึง 17.00 น. หรือทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น กรณีที่นายจ้างหรือทีมที่ทำงานด้วยกันต้องการเวลาที่มากขึ้นต้องมา “ตกลงกัน” อาจจะต้องยืดหยุ่นเวลาทำงาน หรือการประชุมมากขึ้น

แต่ WFH ไม่ได้มีแต่เรื่องที่น่ากลัวอย่างเดียว จากการสอบถามผ่านระบบว่าต้องการให้กลับมาทำงานที่สำนักงานหรือไม่ ส่วนใหญ่ให้ WFH บางองค์กรที่พนักงานไม่มีอินเทอร์เน็ตก็มีการลดค่าเดินทาง แต่จ่ายอินเทอร์เน็ตให้ ทั้งยังมีการจัดหานักจิตวิทยามาให้พูดคุยกับพนักงาน เพราะ WFH มีความเครียดเกิดขึ้น ถือเป็นสวัสดิการที่ดี

“แต่การจะเพิ่มหรือลดสวัสดิการ แนะนำว่าต้องมีการพูดคุยกับพนักงานให้ชัดเจน และอะไรดี ๆ อย่างเช่น นักจิตวิทยา ถ้าหากจะใช้เพียงช่วงสถานการณ์โควิด-19 เมื่อกลับมาสู่ภาวะปกติเราอาจจะไม่มีสวัสดิการนี้ ก็ขอให้ระบุให้ชัดเจน การเปลี่ยนแปลงสวัสดิการต้องมีการทำความเข้าใจกันให้ดี” ประทินรัตน์กล่าว

รูปแบบจ้างงานเปลี่ยน

นอกจากนี้ “ประทินรัตน์” ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องจากโควิด-19 อีกคือทำให้บริบทในการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รูปแบบก็เปลี่ยน ลูกจ้างอาจกลัวว่าอาจถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทต้องการลดค่าใช้จ่าย แต่ในมุมกลับกันนายจ้างก็กลัวเช่นกันว่าจะมีพนักงานหลายคนที่ค้นพบศักยภาพของตัวเองว่าสามารถทำงานได้มากกว่านั่งที่ออฟฟิศ

ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดนั้น สามารถทำอะไรได้มากขึ้น โดยเฉพาะ แพลตฟอร์มต่าง ๆ ควรสนับสนุนความสามารถของคนทำงานมากกว่าการทำงานกับนายจ้างที่เดียว ฉะนั้น การทำงานในบริบทอนาคตรูปแบบการจ้างงานจะเปลี่ยนไปแน่นอน

“ฝ่ายบุคคลเดิมจะทำงานในเรื่องเอกสาร เงินเดือน ฯลฯ หรือที่เรียกว่างาน personal หรืองานด้านธุรการบุคคล แต่นายจ้างเริ่มเห็นว่าคนคือทรัพยากรที่สำคัญ จึงเริ่มมีแนวคิดของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเข้ามา เมื่อเป็นงานพัฒนาคน งานจะไม่ได้จบแค่เอกสารแล้ว จะมีการหาคนที่ใช่ให้องค์กรมีการพัฒนา มีการวางการเติบโตในสายงาน การกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม”

“สมัยก่อนธุรกิจครอบครัวที่ทำกันมายาวนานหลาย 10 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการให้เงินเดือนจะให้คนทำงานดี คนทำงานถูกใจ ให้เงินเดือน โบนัส ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน เมื่อธุรกิจขยายมากขึ้นเริ่มไม่ได้มีแค่คนรู้จัก รู้ใจเท่านั้น เพราะมีพนักงานใหม่เข้ามาเสริมทีมให้เติบโต โครงสร้างการตอบแทนจึงต้องชัดเจนมากขึ้น HR จึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นเช่นกัน”

“ประทินรัตน์” กล่าวอีกว่า ในยุคใหม่นั้น ไม่ได้พูดถึงแค่เพียงคนเป็นแค่ resources แล้ว เพราะคนจะเป็น “human capital” เป็นทุนของบริษัท นั่นหมายถึงว่าคนทำงานต้อง “generate benefit” ให้องค์กรอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ

เพราะการเลือกคนที่ใช่เข้ามาทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง การจ้างงานเริ่มมีเงื่อนไข ไม่ทำงานที่ออฟฟิศ หากเป็นยอดฝีมือจริง ๆ อาจจะต้องมีความยืดหยุ่นให้กับพนักงานกลุ่มนี้ หรือพนักงานบางกลุ่มที่ไม่มีความชัดเจนที่จะเข้ามาสำนักงานจริง ๆ นั้น สามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ แต่วัดผลกันที่ “ผลงาน” ที่ส่งเข้ามา และใช้การประชุม

ดังนั้น สิ่งที่องค์กรจะต้องจัดการคือการจัด facility ที่มีอยู่ ทั้งที่ทำงาน และคนที่ทำงานที่บ้าน ถึงแม้จะเป็นการจ้างงานเหมือนกัน แต่คน 2 คน ที่จ้างงานต่างกัน แน่นอนว่าโครงสร้างของสวัสดิการต้องแตกต่างกันแน่นอน

ฟรีแลนซ์-เอาต์ซอร์ซมาแรง

การให้ค่าตอบแทนด้วยเงินเดือนเป็นพื้นฐานบวกกับสวัสดิการต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้กับงานส่วนอื่น ๆ มากขึ้น “ประทินรัตน์” ยกตัวอย่างเรื่องนี้ให้ฟังว่า งานด้านกราฟิก ดีไซเนอร์ ที่อาจจะได้เงินเดือนพื้นฐาน แต่ใน 1 เดือนอาจผลิตชิ้นงานให้กี่ชิ้นก็จะเพิ่มตามจำนวนชิ้นที่ทำ

หรือบางบริษัทที่มีการต่อยอดธุรกิจใหม่ ๆ จะมีการได้ profit sharing ที่เกิดขึ้นจากโปรเจ็กต์นั้น ๆ ไปเลย การให้เงินเดือนบวกกับ salary intensive นั้น แต่การบริหาร human capital ต่อจากนี้ไปจะไม่ได้จบที่การจ้างงานแบบลูกจ้างกับนายจ้าง

ที่มาแรงคือ “ฟรีแลนซ์” ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาอย่างมหาศาล และองค์กรก็ใช้ฟรีแลนซ์เยอะขึ้น รวมถึงการทำ outsourcing นำงานบางประเภทที่ไม่ใช่งานหลักไปใช้บริการคนอื่น ซึ่งข้อดีคือสามารถบริหารคนที่ทำประโยชน์กับธุรกิจหลักขององค์กรอย่างเต็มที่ การจัดโครงสร้างค่าตอบแทนจึงง่ายขึ้นด้วย

“งานฟรีแลนซ์ที่มักเจอคือการทำ digital marketing ทุกวันนี้ทุกคนต่างใช้สื่อโซเชียลได้ และการทำ digital marketing ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีทักษะอะไรบางอย่าง หากเราจะสร้างคนก็ไม่รู้ว่าคนที่จ้างมาในกรณีที่เป็นพนักงานจะดีหรือไม่ แต่หากเปลี่ยนมาใช้ทั้ง 2 รูปแบบข้างต้นที่ให้บริการอยู่ ต้องการงานอย่างไร ยอด like หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ HR เมื่อเรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญ”

ย่อส่วน HR ด้วยฟรีแลนซ์

การได้ HR เก่ง ๆ เข้ามาทำงานกับเรานั้น ถ้าจ้างเป็นลูกจ้างเลยตอนนี้ค่าตัวสูงมาก “ประทินรัตน์” บอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ยังมีทางเลือกให้กับองค์กรขนาดเล็ก คือสามารถหา HR coordinator ที่เข้าใจโครงสร้างงาน HR และให้ไป connect outsourcing ให้กับองค์กรได้

“เดี๋ยวนี้มีบริษัทรับจัดหางาน หรือการทำระบบเงินเดือนก็มีบริษัทที่รับจัดทำ pay roll หากเลือกผู้ที่มีความชำนาญจริง ๆ จะทำงานให้อย่างประสบความสำเร็จ ส่วนการบริหารอัตราค่าตอบแทนนั้นไม่ได้เหมือนกับพนักงานประจำ ฉะนั้น องค์กรสามารถโฟกัสกับธุรกิจ และงานหลักขององค์กรได้”

“ประทินรัตน์” ระบุถึงรูปแบบการจ้างงานว่า ไม่ว่าจะจ้างงานอย่างไรก็ตาม สิ่งที่องค์กรควรมีคือความ “ยืดหยุ่น” เพราะต่อไปสัญญาจ้างอาจไม่สามารถเขียนได้เลยว่าต้องทำงานจันทร์-ศุกร์ เช้าถึงห้าโมงเย็นอาจจะต้องเขียนใหม่ ส่วนกรณีที่จากกันด้วยดี การบอกเลิกสัญญาจ้างต้องทำเป็นหนังสือ

ในปัจจุบันการทำสัญญาจ้างแบบมีกำหนดเวลา 3-6 เดือน หรือ 1-2 ปี เมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญาต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ แต่ก็มีสัญญาจ้างบางประเภทที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เช่น ไม่ใช่พนักงานประจำ ทำงานไม่เกิน 2 ปี

“สิ่งเหล่านี้จะเป็นกฎหมายใหม่ที่กำหนดออกมา ต้องถามว่าตอนที่ทำสัญญาจ้างงานแบบนี้องค์กรต้องการความสำเร็จอย่างไร”