“บ้านปู” มุ่งสู่ความยั่งยืน เดินหน้าจัดตั้งคณะกรรมการ ESG

คณะผู้บริหารบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศให้ความสำคัญต่อการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environmental, social and governance-ESG) มาใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น จนทำให้หลาย ๆ บริษัทต่างหันมาโฟกัสเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) จัดตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ เป้าหมายเพื่อยกระดับกระบวนการพัฒนาความยั่งยืน

โดยมุ่งให้ความสำคัญในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งเฉพาะเรื่องพลังงาน และก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงประเด็นด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ และการให้ความร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอกย้ำจุดยืน “Smarter Energy for Sustainability : อนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน”

สำหรับคณะกรรมการ ESG ประกอบด้วย “พิริยะ เข็มพล” เป็นประธาน พร้อมด้วย “พิชัย ดุษฎีกุลชัย” และ “ธีรภัทร สงวนกชกร” เป็นกรรมการ ซึ่งจะมีบทบาทในการสนับสนุนคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ไม่ว่าจะเป็นอาชีวอนามัย และความปลอดภัย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน ชุมชน ความรับผิดชอบต่อสังคม ฯลฯ

“พิริยะ เข็มพล” ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) กล่าวว่า คณะกรรมการจะเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง, พิจารณานโยบาย เป้าหมาย การดำเนินงาน และผลลัพธ์, ตรวจสอบและติดตามการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, ตลอดจนดูแลเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ESG ที่สำคัญออกสู่สาธารณะ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัท เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้าน ESG ให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด

พิริยะ เข็มพล
พิริยะ เข็มพล ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG)

“พูดง่าย ๆ คือคณะกรรมการ ESG จะคอยมอนิเตอร์เทรนด์ต่าง ๆ หรือเป็นเรดาร์จับทิศทางให้กับบ้านปู เพราะบ้านปูมีการดำเนินธุรกิจอยู่ใน 9 ประเทศ หากรวมประเทศไทยด้วยก็เป็น 10 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีทิศทางแตกต่างกัน และมีความหลากหลายของธุรกิจ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ESG มีคณะกรรมการอิสระอยู่ 3 ท่าน แต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์ด้านงานต่างประเทศ”

“ในส่วนของผมมีประสบการณ์ในจีนถึง 7 ปี ตำแหน่งสุดท้ายดำรงงานในฐานะทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เกษียณอายุก่อนเกิดวิกฤตโควิดเข้ามา ทั้งยังเคยทำงานที่กรมศุลกากรเซี่ยงไฮ้ ก่อนหน้านั้น 7 ปี เป็นทูตมองโกเลีย และอยู่กงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ฯลฯ”

“ฉะนั้น ผมจะสามารถนำเรื่องงานต่างประเทศเข้ามาเสริมในบ้านปูได้ ขณะที่คุณพิชัย ดุษฎีกุลชัย ก็มีประสบการณ์ด้านสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นแนวหน้า ส่วนคุณธีรภัทร สงวนกชกร จะมีประสบการณ์ด้านวิศวกรรม โทรคมนาคม ก็ถือว่ามีความหลากหลาย เข้ามาช่วยกันดูเทรนด์หรือแนวโน้มต่าง ๆ”

โครงการ “ฐานผลิตแห่งอนาคต” (Pad of the future) ในสหรัฐ
โครงการ “ฐานผลิตแห่งอนาคต” (Pad of the future) ในสหรัฐ

“พิริยะ” กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญเรื่อง ESG เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ธุรกิจของเราที่อยู่ใน 10 ประเทศก็ต้องตื่นตัวด้วย ต้องดูว่าแต่ละประเทศมี policy อย่างไรบ้าง ตอนนี้บอร์ดกำลังมองเรื่องการลงทุน และ green transition เพื่อให้ตอบโจทย์ COP26 ที่กำหนดเอาไว้ว่าอุณหภูมิโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส

“ยกตัวอย่างตอนนี้จีนกำลังหาโมเดลการเติบโตที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด เดิมธุรกิจใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ เรามีธุรกิจในจีน เราสามารถเรียนรู้ไปกับจีนได้ ตอนนี้บ้านปูกำลังคิดเรื่องพลังงานรูปแบบใหม่ที่ต้องลงทุน ซึ่งมีเรดาร์อยู่หลายเรื่อง เช่น การลงทุนใหม่ พื้นที่ใหม่จะทำอะไรได้ แล้วจะตอบโจทย์บ้านปูไหม ทุกอย่างต้องสมดุล ไม่ใช่ลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก แต่ไม่เหมาะสมกับธุรกิจ ต้องคิดหลายเรื่อง”

“สมฤดี ชัยมงคล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า บ้านปูถือเป็นบริษัทแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีคณะกรรมการ ESG ขึ้นมา บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Greener & Smarter เรามุ่งเน้นในการสร้างธุรกิจของเราให้มีกระแสเงินสดจากส่วนที่เป็นสีเขียว มากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2025

สมฤดี ชัยมงคล
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“หัวใจสำคัญที่จะทำตรงนั้นคือการทำเรื่อง ESG ซึ่งผ่านมาเรามีการพัฒนาและตัวอย่างกิจกรรมมากมาย เพราะเรามี sustainability committee ยึดแผน SDG เช่น ข้อที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ (affordable and clean energy) โดยเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 1.1 GW ภายในปี 2568 จะมีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น และการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบสนองแนวโน้มและความต้องการพลังงานแห่งโลกอนาคต”

“โดยบ้านปูวางเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 การเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA มากกว่า 50% จะมาจากธุรกิจพลังงานที่สะอาดขึ้น และเทคโนโลยีพลังงาน

ข้อที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) โดยภายในปี 2568 จะลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับการดำเนินธุรกิจตามปกติสำหรับธุรกิจเหมือง และร้อยละ 20 สำหรับธุรกิจไฟฟ้า ข้อที่ 15 ระบบนิเวศบนบก (life on land) ภายในปี 2568 บ้านปูกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุผลกระทบสุทธิเชิงบวกหลังสิ้นสุดการทำเหมือง สำหรับเหมืองที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (หลังสิ้นสุดการทำเหมืองจะฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีกว่าก่อนเริ่มทำเหมือง)”

โครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในอินโดนีเซีย
โครงการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในอินโดนีเซีย

“เรื่องที่ต้องทำเร่งด่วนคือการหันไปให้ความสำคัญกับพลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น รวมถึงลดการใช้พลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ มุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียน และขับเคลื่อนในส่วนของการดำเนินงานที่ทำไปช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน”

“ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle หรือ EV) ที่ให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (MovMi) ที่ให้บริการรับส่งลูกค้าตามเส้นทางรถไฟฟ้า ผ่านระบบแอปพลิเคชั่น MovMi ลดการใช้น้ำมันที่เป็นฟอสซิล ลดการปล่อยคาร์บอนของภูมิภาคลง สอดคล้องกับการประชุม COP26 ด้วย”

“จิรเมธ อัชชะ” ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-บริหารและพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราต้องหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มาจากฟอสซิล ไปใช้พลังงานทดแทนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์แทน หรือยกตัวอย่าง ธุรกิจถ่านหิน การใช้พลังงานส่วนใหญ่ก็จะหมดไปกับการขุดเจาะถ่านหิน การขนส่งดิน การขนส่งถ่านหิน

จิรเมธ อัชชะ
จิรเมธ อัชชะ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-บริหารและพัฒนาองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

“ฉะนั้น เราจะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในระบบขนส่ง เช่น ปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถให้สั้นลง ใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วก็มีโครงการจะลดการใช้พลังงานโดยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการติดตามการขนส่งขนย้ายถ่านหินของรถบรรทุก วัตถุประสงค์ของโครงการเราต้องการที่จะลดระยะเวลาการรอคอย การรับถ่านหิน ตรงนี้เราจะพัฒนาเทคโนโลยีเอง คาดว่าสามารถลดระยะเวลาในการรอคอยได้ถึง 39-40% ซึ่งเทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6.7 ตันคาร์บอนต่อปี”

“รัฐพล สุคันธี” ผู้อำนวยการสาย-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากนี้ในด้านสังคม เรามีโครงการด้านการศึกษา เช่น โครงการสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (BES) สนับสนุนให้มีครูภาษาอังกฤษเจ้าของภาษาเข้ามาสอนในโรงเรียนทั้ง 6 แห่งในจังหวัดลำพูน ลำปาง และพะเยา

รัฐพล สุคันธี
รัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บ้านปูเคยดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษแก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, พัฒนาครู, พัฒนาการบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน

โครงการ Power Green Camp (PWG)
โครงการ Power Green Camp (PWG)

“โครงการ Banpu Champions for Change (BC4C) ร่วมมือกับ Change Fusion เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้ต่อยอดไอเดียธุรกิจให้เติบโตทั้งในด้านรายได้และผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม โครงการ Power Green Camp (PWG) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ”

โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม
โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม

“โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักเรียนอาชีวศึกษาให้มีทักษะของนวัตกรรุ่นใหม่ ผ่านกระบวนการสร้างบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ อีกทั้งยังมีกองทุนมิตรผล-บ้านปู รวมใจช่วยไทย สู้ภัย COVID-19 ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่จำเป็น ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยปัจจุบันกองทุนมีงบประมาณรวม 1,000 ล้านบาท”

“วิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์” ผู้อำนวยการสายอาวุโส-กลยุทธ์องค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บ้านปูเชื่อว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และช่วยให้บ้านปูเติบโตมาได้ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี บ้านปูมุ่งเน้นประเด็นการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน

วิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์
วิรัช วุฒิธนาเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสายอาวุโส-กลยุทธ์องค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

การดูแลจริยธรรมทางธุรกิจ การจัดการคู่ค้าและผู้รับเหมา การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (data privacy & cybersecurity) การจัดตั้งทีมงาน Incident Management Team หรือ IMT ในการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤต ทำให้การดูแลความปลอดภัยของพนักงานและการดำเนินธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

“การจัดตั้งหน่วยงาน Digital Center of Excellence (DCOE) เพื่อขับเคลื่อนบ้านปูให้พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และแนวคิดแบบดิจิทัลที่ทันสมัยมาใช้อย่างชาญฉลาดทั่วทั้งองค์กร ควบคู่ไปกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วและคล่องตัว “agile working” มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในทุกส่วน ”

“อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะกรรมการ ESG สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการกำกับดูแล เพื่อช่วยให้ภารกิจสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น”

“การยกระดับความรับผิดชอบด้าน ESG ใน supply chain โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการคู่ค้า โดยได้ใช้ระบบ ESG audit performance ในกระบวนการคัดเลือกคู่ค้าและผู้รับเหมารายใหม่ ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และคู่ค้าที่ร่วมงานกันอยู่ในปัจจุบัน”


นับว่าน่าสนใจทีเดียว