รู้-เฒ่า-ทัน-สุข เตรียมพร้อมสู่สังคมสูงวัย

เพราะสังคมผู้สูงวัยกำลังเป็นประเด็นใหญ่ในระดับโลก รวมถึงประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ “มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย” จึงริเริ่มโครงการกระตุ้นคนไทยให้ตระหนักและใส่ใจกับสุขภาพจิต สุขภาพใจและสุขภาพกระเป๋า ตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ ภายใต้ชื่อโปรเจ็กต์ว่า “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ให้ความรู้และเวิร์กช็อปด้านสุขภาพกับคนไทย ในพื้นที่โครงการนำร่อง 2 จังหวัด ในกรุงเทพมหานคร และอุบลราชธานี

ล่าสุดโปรเจ็กต์นี้ได้เข้าชิงรางวัล “Excellence in Supporting Thailand 4.0” ซึ่งหอการค้าสหรัฐอเมริกา (Amcham) มอบให้กับบริษัทที่ริเริ่มโปรเจ็กต์ซีเอสอาร์ สนับสนุนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ในงาน “AMCHAM CSR Excellence Recognition Award 2017” ที่จัดเมื่อกลางเดือน พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา

“ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล” ผู้จัดการมูลนิธิอาวุโส มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย เล่าที่มาที่ไปของโปรเจ็กต์ดังกล่าวว่า ตลอดเวลาที่ไฟเซอร์เข้ามาทำธุรกิจในไทยเกือบ 60 ปี บริษัทคิดตลอดว่า นอกจากการค้าขายแล้ว การคืนกำไรสู่สังคมก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ และปัจจุบัน “สังคมผู้สูงวัย” ได้กลายมาเป็นประเด็นใหญ่ในระดับโลก และในประเทศไทย เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่ความก้าวหน้าของสาธารณสุขทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น แต่ไม่ใช่แค่อายุยืนแล้วจะดี เมื่ออายุยืนแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

“เราริเริ่มโปรเจ็กต์นี้เพื่อเตรียมพร้อมคนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยมีนโยบายผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับปี 2002-2022 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการเตรียมความพร้อมของประชากรคนรุ่นใหม่เพื่อเข้าสู่สังคมสูงอายุ อย่างไรก็ตาม จากที่มีการวัดผลไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐได้ประเมินว่า พบว่าทำไปได้ 28% เราก็จับตรงนี้ เพราะรัฐบาลบอกว่าอยากทำตรงนี้แต่มีช่องว่าง ทางเราพอได้เป็นพาร์ตเนอร์กับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีกรมผู้สูงอายุ และเป็นพาร์ตเนอร์กับกรมอนามัย ให้มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาโปรเจ็กต์ เราจะไม่วิจารณ์ว่ารัฐบาลทำอะไรดีไม่ดี แต่จะเติมช่องว่างที่ขาดหายไป”

ภายใต้โครงการ “รู้-เฒ่า-ทัน-สุข” จะเป็นการเตรียมคนที่ยังไม่สูงวัย ให้พร้อมสำหรับสังคมผู้สูงวัย โดยต้องทำ 3 เรื่องด้วยกัน คือ “กายฟิต จิตดี มีออม” กลุ่มเป้าหมายคือชายหรือหญิง อายุระหว่าง 45-59 ปี เนื่องจากได้เก็บข้อมูลมาก่อนและพบว่า หากเริ่มตอน 60 ปี อาจจะสายไป เพราะร่างกายตอนนั้นอาจไม่ “ฟิต” แล้ว

ส่วนคำว่า “จิตดี” นั้น “ดร.กิตติมา” บอกว่า คือการที่คิดในแง่บวกว่า อายุ 60 ยังทำอะไรได้อีกเยอะ คือ ต่อให้สูงวัยแล้วก็ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง มั่นใจ และมองว่าตัวเองมีคุณค่า บางคนบอกว่า 60 ปีคือแก่ เกษียณแล้วอยู่บ้าน นั่นไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับสังคมผู้สูงวัย

ส่วนคำว่า “มีออม” ก็ตรงตัว คือต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายหากจำเป็น ถ้าจิตดี ร่างกายดี แต่ไม่มีออม ก็ไม่มีประโยชน์

มูลนิธิไฟเซอร์นำร่องโครงการใน 2 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ และอุบลราชธานี เพราะอยากเห็นพฤติกรรมคนเมืองกับคนต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ จะเป็นเขตบางขุนเทียน และคลองเตย ซึ่งคลองเตยอาจจะมองว่าเป็นชุมชนยากจน แต่จริง ๆ เป็นชุมชนที่ผู้นำเข้มแข็งมาก ส่วนอุบลฯคือ อำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ ที่เลือกจังหวัดนี้เพราะทีมสาธารณสุขเข้มแข็ง โดยทางมูลนิธินำทีมลงไปสอนคอนเซ็ปต์ และให้ความรู้กับคนในชุมชน

“เรื่องแรกที่เราทำ คือ การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน เราอยากให้เกิดความสามารถในการ ‘อ่านออกเขียนได้ด้านสุขภาพ’ เช่น ไขมันสูงคืออะไร ความดันเลือดสูงหรือเบาหวานเป็นยังไงเอฟเฟ็กต์เป็นยังไง และคุณต้องเข้าใจสิทธิสุขภาพใดบ้าง คุณรู้ไหมว่าตรวจร่างกายได้ปีละครั้ง มีสิทธิ์ทำฟันฟรี ส่วนผู้หญิงอายุเกิน 35 ปี สามารถตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ทุกปี”

ไฟเซอร์ยังได้แบ่งกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มเพื่อวัดผล กลุ่มแรก คือ “Change Agent” หรือกลุ่มผู้นำในชุมชน ซึ่งปัจจุบันมี 81 คน ในกรุงเทพฯ หลังจากที่สอนคนกลุ่มนี้ทำเวิร์กช็อปแล้วก็คาดหวังผลว่า พวกเขาจะไปสอนต่อกับคนในชุมชน ส่วนอีกกลุ่มตัวอย่างคือ ครูในชุมชน เนื่องจากครูถือเป็นตัวอย่างที่ดี โดยจะสอนในคอนเซ็ปต์เรื่องของโภชนาการในโรงเรียน การลดเค็ม ลดหวาน ทานอย่างสุขภาพดี

“ดร.กิตติมา” เสริมว่า โปรเจ็กต์นี้ถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์ด้านซีเอสอาร์ของไฟเซอร์ ซึ่งจะต่อยอดได้อีกมากในอนาคต ที่เลือกประเด็นสังคมผู้สูงวัยมาทำ เนื่องจากเชื่อว่า ไฟเซอร์ในฐานะบริษัทยาระดับโลก มีโนว์ฮาวด้านสุขภาพ และสาธารณสุขที่ไม่เป็นรองใคร

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงวัยกว่า 60 ปีขึ้นไป 9.9 ล้านคน คิดเป็น 15% ของคนทั้งประเทศ โดยไฟเซอร์ได้คาดการณ์ไว้จากการศึกษาข้อมูลการสำรวจเชิงลึกว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หรือมีประชากรสูงอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศและ ในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด โดยมีประชากรอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ

“ปัจจุบันเด็ก 5 คน ดูแลคนสูงวัย 1 คน แต่ในอนาคตเด็กอาจจะเหลือ 3 คน เพราะเด็กเกิดน้อยลง อย่างพ่อแม่รุ่นก่อนมีลูก 3 คน แต่รุ่นลูกอาจจะมีลูกแค่ 1 คนเท่านั้น นี่คือจำนวนที่น้อยลง อนาคตเด็กจะเกิดน้อยลง แต่คนแก่จะอายุยืนขึ้น ดังนั้น ถ้าบอกว่าอายุ 60 ปี จะไม่ทำงานแล้ว ใครจะเลี้ยง”


การเตรียมตัวสู่สังคมสูงวัยจึงจำเป็น และมีความสำคัญอย่างยิ่ง