13 ปีพิชิต “เอดส์” เป็นศูนย์

คอลัมน์ CSR Talk

โดย ยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ มูลนิธิรักษ์ไทย

ปัจจุบันแม้ว่าการระบาดของเอชไอวีในประเทศไทยได้ผ่านช่วงการระบาดสูงสุด โดยการติดเชื้อรายใหม่โดยรวมลดลง แต่การติดเชื้อยังคงสูงอยู่ โดยคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2558 ถึง 2562 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในกลุ่มประชากรหลัก คือ กลุ่มเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย 50% เพศสัมพันธ์กับคู่อยู่กิน 24% ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด 12% เพศสัมพันธ์พนักงานบริการ และลูกค้า 10% และเพศสัมพันธ์กับคู่นอนชั่วคราว และนอกสมรส 4%

ดังจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเอชไอวีสายพันธุ์ใหม่เป็นเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย หรือกลุ่มประชากรหลักนั่นเอง (ที่มา : โครงการพัฒนาศักยภาพท้องถิ่น (Local Capacity Initiative) ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง)

“พร้อมบุญ พานิชภักดิ์” เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย สมาชิกองค์การแคร์นานาชาติ กล่าวถึงปัญหาและเป้าหมายการยุติเอดส์ในประเทศไทยว่า ปัจจุบันรักษ์ไทยได้ทำงานด้านการป้องกัน เอชไอวี/เอดส์ ร่วมกับภาครัฐ และองค์กรภาคีภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร โดยได้ยกระดับความร่วมมือเพื่อให้เกิดการเร่งรัด และยั่งยืนในการเข้าถึงการตรวจ วินิจฉัยและรักษา โดยมีเป้าหมายหลัก ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เพื่อยุติเอดส์ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2573

“ด้วยการลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้ต่ำกว่า 1,000 ราย (จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 6,176 คน) ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือ ปีละไม่เกิน 4,000 ราย และลดการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศสภาวะลงร้อยละ 90 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 36 จังหวัดในการดำเนินงาน ปี 2561-2563 ใน 5 กลุ่มประชากรหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยาก ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) กลุ่มสาวประเภทสอง (TG) 7 จังหวัด กลุ่มผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด (PWID) 19 จังหวัด กลุ่มประชากรข้ามชาติ (Migrant) 13 จังหวัด และกลุ่มผู้ต้องขัง (Prisoner) 36 จังหวัด และที่สำคัญยังต้องเชื่อมโยงบริการสุขภาพต่อเนื่อง 5 องค์ประกอบหลัก คือ การเข้าถึง-การเข้าสู่บริการ-การตรวจหา-การรักษา-การคงอยู่ในระบบ (Reach-Recruit-Test-Treat-Retain) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนโลก (Global Fund)”

ปัจจุบันการบริการสุขภาพโดยชุมชนภายใต้กรอบ RRTT(P)R หรือการเข้าถึง-การเข้าสู่บริการ-การตรวจ-การรักษา-การให้อุปกรณ์ป้องกัน-การคงอยู่ในระบบ (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain)

จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ประสบผลสำเร็จ เพราะจากข้อมูลการติดตามและเฝ้าระวังพบว่า หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว และรับยาต้านเชื้อเป็นประจำตั้งแต่รับเชื้อในช่วงแรก ก็จะทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ รูปแบบกิจกรรมที่บริการโดยชุมชนจะตรวจและรู้เร็วในวันเดียว ทำให้ลดช่องว่างของการ drop out หรือการขาดหายจากระบบการเข้าถึงกลุ่มประชากรหลักได้ถึง 42% ของทั้งประเทศ

“ที่สำคัญ หากเร่งจำนวนการตรวจเพื่อทราบผลผู้รับเชื้อรายใหม่ และรักษาเร็วย่อมลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษา จะนำไปสู่การยุติเอดส์ในปี 2573 ตามยุทธศาสตร์เอดส์ชาติได้ในที่สุด”

นับจากปี 2546 ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากต่างประเทศเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะกองทุนโลก เพื่อต่อสู้เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย แต่นับจากนี้การสนับสนุนงบประมาณกำลังจะหมดลง ภาครัฐไม่มีเงินสนับสนุนอย่างเพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานยุติเอดส์ในอีก 13 ปีข้างหน้า ภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร จึงรวมตัวกับภาคธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาระดับชาติ ภายใต้โครงการ “อีกนิดพิชิตเอดส์” หรือ “AIDS-Almost Zero”

โดยการสนับสนุนข้อมูลวิชาการจาก UNAIDS โดยมีคณะกรรมการอีกนิดพิชิตเอดส์ ทั้งจากภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมระดมทุนภายในประเทศ เพื่อจัดสรรสู่องค์กรที่นำเสนอโครงการทำงานด้านเอดส์ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับกองทุนโลก และที่สำคัญเพื่อไม่ให้การพิชิตเอดส์ต้องหยุดชะงัก เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีจะกลับมา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อสังคมไทยในภาพรวม