CSR “บางกอกแอร์เวย์ส” สร้างสังคม-สวล.ปูทางสู่ DJSI

เพราะหนึ่งพันธกิจที่สำคัญของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บางกอกแอร์เวย์ส” คือการตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการร่วมรับผิดชอบ และสร้างสรรค์สังคมในฐานะพลเมืองดี โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการสนับสนุน การมีส่วนร่วมในการให้บริการ และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ว่า…มุ่งมั่นสร้างสรรค์ความเป็นเลิศ เพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย

จึงทำให้การดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ของบางกอกแอร์เวย์ส ออกมาในรูปแบบของการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคม รวมไปถึงภายในองค์กร โดยมีกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ตั้งไว้

“จันทร์ทิพย์ ทองกันยา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน บางกอกแอร์เวย์สจึงกำหนดนโยบายบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร 7 ข้อดังนี้

หนึ่ง Corporate Governance (CG) การยึดมั่นในหลักการกำกับกิจการที่ดี การปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

สอง Performance การสร้างคุณค่าในห่วงโซ่ธุรกิจและคุณค่าทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค

สาม Knowledge การเสริมทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรและการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

สี่ Safety การบริหารจัดการความปลอดภัยแก่ stakeholder การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ และการรองรับเหตุฉุกเฉิน

ห้า Humanity คำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและพร้อมช่วยเหลือ stakeholder สำคัญอย่างถ้วนหน้า โดยไม่เลือกปฏิบัติ

หก Social ส่งเสริมกิจกรรมด้านสังคมและการปลูกฝังค่านิยมจิตอาสา ในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและพัฒนาสังคมแก่พนักงานทุกระดับ

เจ็ด Environment การปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ

“ในประเด็นทางด้านสังคม บางกอกแอร์เวย์สมีการกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกับชุมชนไว้ว่า มุ่งสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรอบสนามบิน และเส้นทางที่บางกอกแอร์เวย์สทำการบิน โดยใช้แนวคิดในการสร้างคุณค่าให้กับสังคม และองค์กรเพื่อได้รับประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ โครงการด้านชุมชน และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม”

“จันทร์ทิพย์” กล่าวว่า สำหรับโครงการด้านสังคม จะมุ่งเน้นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเยาวชน และบ่มเพาะจิตสำนึกสาธารณะ ความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการสนับสนุนให้เยาวชนได้รับการศึกษาจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงบ่มเพาะความเป็นผู้นำให้กับคนในชุมชน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง

จันทร์ทิพย์ ทองกันยา

“ส่วนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม จะเน้นเรื่องความร่วมมือกับชุมชน และเครือข่ายในการแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กลยุทธ์ 2 เรื่อง หนึ่ง การสร้างเครือข่ายและสอง การจัดการความรู้”

สำหรับในปี 2560 ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการสานพลังชุมชน เพื่อพ่ออย่างพอเพียง สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาชีพชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากรายได้เสริม สามารถพึ่งตนเองได้

โครงการค่ายเยาวชนต้นแบบ (Blue Volunteers) มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้นำที่เป็นเยาวชนอายุ 15-20 ปี ให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนภายในกรอบเวลา 3-5 ปี, โครงการค่ายสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายที่จะสร้างกลุ่มเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกฝังความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, โครงการค่ายยุวศิลปะ (Art camp) สืบสานงานศิลป์ รักษ์ถิ่นบ้านเกิด ส่งเสริมให้เยาวชนมีความรักในศิลปวัฒนธรรมในชุมชนของตนเอง และโครงการ English Club with Bangkok Airways ส่งเสริมให้เยาวชนสนใจในภาษาอังกฤษ

ขณะที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมมีโครงการบริหารจัดการขยะ ดำเนินการภายในสำนักงาน ก่อนที่จะขยายออกไปยังชุมชน โดยรณรงค์ให้พนักงานเห็นความสำคัญของการแยกขยะ และเริ่มต้นดูแลสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ ได้จากตัวพนักงานเอง และมีแผนที่จะดำเนินการในชุมชนรอบสนามบินของบริษัท เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในเรื่องของการจัดการขยะ

“จันทร์ทิพย์” กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการ PG Community Care Project เป็นโครงการที่จะส่งเสริมให้พนักงาน PG มีจิตอาสาในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบและพัฒนาสังคมร่วมกับบริษัท โดยจะเปิดโอกาสให้พนักงานส่งโครงการที่จะเข้าไปทำกิจกรรม CSR ในชุมชนที่มีเส้นทางบิน

“โครงการคาร์บอนฟุตพรินต์องค์กร (CFO) เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และเตรียมพร้อมมาตรการภาษีคาร์บอน ซึ่งจะแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมทางหนึ่ง ทั้งยังมีโครงการให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

ล่าสุดในฐานะหนึ่งในสายการบินชั้นนำระดับภูมิภาคที่ให้บริการผู้โดยสารจากทั่วทุกมุมโลก บริษัทมีนโยบายที่เข้มงวดในการห้ามขนส่งสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า โดยมีการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า (United for Wildlife) ร่วมกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

“ส่วนแผนงานด้านซีเอสอาร์ ปี 2561 บริษัทยังจะคงดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก คือ ด้านชุมชน และด้านสิ่งแวดล้อม อย่างต่อเนื่อง และในแต่ละเรื่องจะต้องมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนรอบสนามบิน และเส้นทางที่บางกอกแอร์เวย์สทำการบิน ทั้งมีการวัดผล ทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ จากการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการทำกลุ่มอาชีพ กิจกรรมชุมชนที่เกิดจากกลุ่มอาชีพ จำนวนโครงการแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน จำนวนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเยาวชนหรือคนในชุมชน เป็นต้น”

ถึงตรงนี้ “จันทร์ทิพย์” บอกว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งเป็นความท้าทายขององค์กรในการดำเนินการด้านซีเอสอาร์คือการสร้างความเข้าใจให้พนักงานทุกคนตระหนักว่าความรับผิดชอบต่อสังคม ส่วนหนึ่งอยู่ในการปฏิบัติงานในทุกวันของทุกคน โดยพนักงานทุกคนในทุกหน้าที่จะต้องร่วมแรง ร่วมใจ ในการสร้างประสิทธิภาพในการทำงานให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นหมายถึงความรับผิดชอบที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม

“ขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ที่เป็นหนึ่งในนโยบายบริหารจัดการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ถือว่ามีความท้าทายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ไปสู่ความผูกพันกับชุมชน เพื่อให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจในการก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน”

“อีกทั้งเรายังตั้งเป้าหมายที่จะติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี 2565 โดยแนวทางในการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น สามารถวัดผลได้ชัดเจน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม”