ภารกิจ ‘ไมซ์’ บุรีรัมย์ ‘ทีเส็บ’ หนุนสร้างรายได้ให้ชุมชน

ไมซ์ (MICE) อุตสาหกรรมแขนงหนึ่งที่สร้างรายได้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทว่าในยุคที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมไมซ์มีรายได้ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เพราะมาตรการต่าง ๆ เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม, การควบคุมการเดินทางระหว่างจังหวัด และระหว่างประเทศที่ไม่เอื้อต่อการจัดประชุมและนิทรรศการ

ดังนั้น ในฐานะสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หรือทีเส็บ (Thailand Convention & Exhibition Bureau : TCEB) จึงมีแนวทางในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน

เพื่อให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น จึงเดินหน้ายกระดับเมืองไมซ์ซิตี้ และเมืองที่มีศักยภาพ (เมืองรอง) ให้สามารถสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านกิจกรรมไมซ์

โดยมีบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการเป็นจุดหมายปลายทางแห่งไมซ์ ในฐานะเป็นจังหวัดที่มีการสร้างโมเดลการพัฒนา และเตรียมความพร้อมของพื้นที่ ทีเส็บจึงเล็งเห็นโอกาสในการผลักดันให้บุรีรัมย์สามารถรองรับนักธุรกิจกลุ่มไมซ์

ผ่านการเป็นเมืองอีเวนต์ซิตี้ พร้อมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ไมซ์ใหม่ให้เกิดขึ้น ใช้ธีมสินค้า (product themes) ที่ผ่านการทำวิจัยภายใต้ชื่อ “MICE 7 Magnificent Themes”

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

“จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บให้ความสำคัญกับการตอบสนองต่อกระแสขับเคลื่อนของโลกด้านความยั่งยืน โดยการผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ให้มีการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) และมุ่งมั่นสู่วิสัยทัศน์ของประเทศไทยตามนโยบายรัฐบาล ประเทศไทย 4.0

“ทีเส็บวางกลยุทธ์ในการส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ โดยใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการให้องค์ความรู้ กลยุทธ์ทางการตลาด และมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยจัดทําแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นสําหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน

เพื่อให้ผู้ที่มีความประสงค์จะจัดงานโดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เช่น การเลือกใช้สถานที่จัดงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการพลังงาน หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการควบคุมอุณหภูมิภายในห้องจัดงาน ลดการใช้อุปกรณ์ตกแต่งให้มีจํานวนเท่าที่จําเป็น เป็นต้น”

ทั้งนี้ เมืองและจังหวัดที่ทางทีเส็บสนับสนุนให้เป็นไมซ์ซิตี้ ตอนนี้มี 10 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ขอนแก่น, อุดรธานี, สงขลา, นครราชสีมา, พิษณุโลก, สุราษฎร์ธานี

และเมืองที่มีศักยภาพ (เมืองรอง) อีก 6 แห่ง ได้แก่ ระยอง, เชียงราย, นครศรีธรรมราช, เพชรบุรี, กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และล่าสุดเล็งเห็นว่า บุรีรัมย์ มีองค์ประกอบ MICE 4 ด้านแล้ว คือ

หนึ่ง meeting สามารถในการจัดประชุมภายในองค์กร หรือระหว่างองค์กร

สอง incentives สามารถจัดการท่องเที่ยว

สาม conventions สามารถจัดการประชุมระดับนานาชาติ

สี่ exhibitions สามารถจัดงานแสดงสินค้าหรือบริการ อาจจะจัดในระดับภูมิภาค หรือระดับชาติก็ได้ นอกจากนั้นยังเป็นเมืองที่สามารถในการจัดงานเลี้ยงรับรอง (welcome theme reception) รวมถึงการจัดกิจกรรมซีเอสอาร์ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ได้

“ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ทีเส็บจึงจัดงานโชว์ศักยภาพจังหวัดบุรีรัมย์ ในการเป็นสถานที่จัดกิจกรรมชุมชนภายใต้แคมเปญ BE IN BURIRAM : BE AMAZED BE INSPIRED และ BE AMUSED

โดยได้คัดเลือกสินค้าและบริการไมซ์ใหม่มาทั้งหมด 17 ผลิตภัณฑ์ ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ สร้างความสนใจให้ผู้คนใช้พื้นที่ในบุรีรัมย์ ในการจัดธุรกิจ MICE”

“การผลักดันบุรีรัมย์ครั้งนี้เป็นการช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ในท้องที่ ทำให้เกิดการอบรมสร้างเสริมความรู้ ทักษะการทำงานต่าง ๆ นำไปสู่การสร้างผลงานคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพในการรองรับธุรกิจไมซ์

ทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้คนในท้องที่ จากการได้ผลิตสินค้าออกจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย จึงอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนไมซ์ และช่วยกันทำให้เห็นว่าบุรีรัมย์เป็นจังหวัดที่มีความพิเศษมากมาย”

ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการไมซ์ใหม่ในบุรีรัมย์ ในแคมเปญ BE IN BURIRAM มี 10 อย่าง ดังนี้ 1. บ้านเจริญสุข ความมหัศจรรย์ของดินภูเขาไฟที่สะท้อนลงบนผืนผ้า 2.ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทขอมโบราณนับพันปี บ้านตาลอง ลวดลายผ้าไหมจากเปลือกข้าวเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่มีใครเหมือน

3.โรงแรมโฮเทล เดอ ลามูร์ โรงแรมที่มีการออกแบบผสมผสานความหรูหราและกลิ่นอายอารยธรรมขอม 4.บ้านหนองตาไก้ แหล่งเรียนรู้ผ้าไหมเปลือกของเมืองบุรีรัมย์ 5.คลีนฟาร์มเมล่อน ฟาร์มเมล่อนปลอดสารพิษแบบ pick & pay

6.เพลาเพลิน อาณาจักรดอกไม้และพันธุ์พืชที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน 7.บ้านสวนฟรุ๊ตการ์เด้นส์ แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานรวมถึงแหล่งศึกษาดูงานเรื่องกัญชา 8.บ้านสนวนนอก ชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

9.บ้านซับสมบูรณ์ ชุมชนเห็ดน้ำแร่ที่ขึ้นชื่อ และ 10.บ้านดงอีจาน แหล่งน้ำแร่คุณภาพจากภูเขาไฟที่มีอายุกว่าล้านปี

“จิรุตถ์” กล่าวด้วยว่า ไมซ์คือกลไกสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ สร้างความเจริญเติบโตในทุกมิติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น สร้างรายได้แก่ชุมชน

ขณะที่โมเดล MICE 7 Magnificent Themes ที่จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนายกระดับพื้นที่ให้พร้อมรับนักธุรกิจกลุ่มไมซ์เพื่อสร้างการกระจายรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาค

“ทั้งยังมีความสอดคล้องตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ประเด็นที่ 3 แม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก เรื่องท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค และแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

รวมทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน และเป็นไปตามแผนงาน

บูรณาการการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานของทีเส็บในเชิงพื้นที่ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์”

นับว่าการพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ให้เป็นไมซ์เมืองรอง จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ และบริการท้องถิ่น เพิ่มโอกาสทางการตลาด ทำให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน