สำนึกรักบ้านเกิด เกษตรสร้างสรรค์รับเศรษฐกิจดิจิทัล

เวทีคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อพัฒนาผู้นำชุมชนด้วยปณิธานหวังปลุกจิตสำนึกการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนแก่เยาวชนให้นำบทเรียนต้นแบบไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลง พึ่งพาตนเองได้ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

โดยล่าสุดโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 โดยมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดีแทค (dtac)

“บุญชัย เบญจรงคกุล” ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ผู้ริเริ่มโครงการกล่าวว่า ตลอด 12 ปีผ่านมาโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เริ่มต้นด้วยการค้นหาปราชญ์ทางเกษตรว่าด้วยทฤษฎีใหม่ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ต่อด้วยโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ ต้นแบบกลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เกษตรกรเจ้าของแผนธุรกิจสินค้าเกษตรออนไลน์ ไปจนถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศโดยเกษตรกรเอง

“โดยโครงการปีที่ 13 มุ่งเน้นให้เกษตรกรไทยรู้จักการทำการเกษตรแบบวิถีอินทรีย์ ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นแกนหลัก พร้อมผสมผสานนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาประยุกต์และปรับใช้ไปกับกระบวนการผลิต

จนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับไปกับนโยบายของภาครัฐที่ว่าในเรื่องของเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy : BCG) พร้อมนำไปสู่กาส่งออกผ่านช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกภาคมิติ”

สำหรับเกษตรกรที่ได้รับรางวัลในปี 2564 ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “นราธิป ภูมิถาวร” เกษตรกรจากฟาร์มปูนาชญาดา จ.สุโขทัย เกษตรกรผู้สร้างธุรกิจจากความชอบ เกิดเป็นธุรกิจปูนาอินทรีย์สร้างชีวิต, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ “จิรภัทร คาดีวี” เกษตรกรจากแสนบุญฟาร์ม จ.กาฬสินธุ์ วิศวกรหนุ่มผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกร สร้างผลผลิตทางการเกษตร ส่งออกผักสลัด น้ำพริกกุ้งสมุนไพร และกุ้งก้ามกราม

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ “ธนวัฒน์ มโนวชิรสรรค์” เกษตรกรจากสวนบ้านแม่ จ.พังงา เกษตรกรผู้สานต่อความฝันของแม่ นำภูมิปัญญาเก่าผสมผสานกับเทคโนโลยีใหม่ เกิดเป็นธุรกิจส่งออกมังคุดออร์แกนิก

ส่วนเกษตรกรดีเด่น 7 รางวัลประกอบด้วย 1.นภัสวรรณ เมณะสินธุ์ เกษตรกรจากสวนเบญจมาศนภัสวรรณ จ.อุบลราชธานี 2.อิสมาแอล ลาเต๊ะ เกษตรกรจากสวนนูริสฟาร์ม จ.ยะลา 3.ภิญญา ศรีสาหร่าย เกษตรกรจากฟาร์มฝันแม่ เกษตรอินทรีย์ จ.ราชบุรี

4.ภัทรฤทัย พรมนิล เกษตรกรจากนพรัตน์ฟาร์ม จ.นครพนม 5.พิริยากร ลีประเสริฐพันธ์ เกษตรกรจาก GardenThree จ.หนองคาย 6.รัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ เกษตรกรจากไร่ดีต่อใจ จ.สระแก้ว และ 7.มโนธรรม ชูแสง เกษตรกรจากบ้านไร่ ชายน้ำ ฟาร์มนก จ.สุราษฎร์ธานี

“ประเทศ ตันกุรานันท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า แนวคิดหลักของการคัดเลือกเกษตรกรปีนี้มีความสำคัญและยึดโยงกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่ท้าทาย อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการการสื่อสารอันถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางเศรษฐกิจดิจิทัล จึงวางนโยบาย Digital Inclusion เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางดิจิทัลผ่านการขยายโครงข่ายบนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ภายใต้แนวคิดดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตที่เท่าเทียม ซึ่งประกอบด้วย 3 ภารกิจ

ได้แก่ 1.สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน (good for all connectivity) 2.การเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม (affordable and accessible services) และ 3.การเพิ่มทักษะดิจิทัล (digital upskilling) ทั้งนี้ ดีแทคจะยังเดินหน้าส่งเสริมให้ประเทศไทยดีทั่วดีถึง เพื่อชีวิตเท่าเทียม”

“ผู้ที่ได้รับรางวัลถือเป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรยุคใหม่ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ สามารถนำบทเรียนไปประยุกต์และปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ปรับตัวเข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลง สามารถพึ่งพาตนเอง และพร้อมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน”