SEAC ปรับชื่อเป็น “ซีแอ็ค” กรุยธุรกิจปี’65 ตั้งเป้าอัพสกิล 1 ล้านคน

อริญญา เถลิงศรี

ซีแอ็คย้ำวิสัยทัศน์ Empower Lives Through Learning พร้อมเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายอัพสกิลคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ภายในปี 2567

วันที่ 17 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า SEAC องค์กรชั้นนำด้านการพัฒนาศักยภาพองค์กร ผู้นำ และคนทุกระดับ ได้เปิดตัวการเรียกชื่อบริษัทใหม่เป็น “ซีแอ็ค” (จากชื่อเรียกเดิมคือ เอสอีเอซี) โดยเป็นผลมาจากการทำการสำรวจแบรนด์ดิ้ง (branding) ในช่วงปีที่ผ่านมาและพบว่า ทั้งคนในต่างประเทศและคนไทยที่ยังไม่รู้บริษัท พอเห็นโลโก้ SEAC ครั้งแรก จะเรียกว่าซีแอ็คทันที

ทั้งนี้บริษัทระบุว่า ซีแอ็คเป็น 2 พยางค์ จึงสั้น กระชับ และจำง่ายขึ้น และที่สำคัญสื่อถึง action หรือการลงมือเรียนรู้ให้เกิดผลลัพธ์ และชื่อเดิมเอสอีเอซีเป็นชื่อที่ค่อนข้างยาว และอาจจะไม่ได้สื่อความหมายใด ๆ ซึ่งทางผู้บริหารเห็นชอบและตกลงในการเปลี่ยนคำเรียกเป็นซีแอ็คอย่างเป็นทางการในปีนี้

นางอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (ซีแอ็ค) กล่าวว่า ปี 2564 ที่ผ่านมาซีแอ็คเป็นหนึ่งในองค์กรที่ผลักดันและช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรและคน ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ สู่องค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ เพื่อให้คนไทยสามารถเผชิญและก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้

ด้วยการสรรหาและสร้างสรรค์หลักสูตร เครื่องมือหรือนวัตกรรมที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าสร้างผลลัพธ์ได้จริง ตลอดจนผสานการเรียนรู้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เรียกว่า Truly-EdTech เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปช่วยพลิกโฉมองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนด้วยหลักสูตรกว่า 200 หลักสูตร ผ่านการยกระดับศักยภาพผู้นำและบุคลากรในองค์กร

รวมถึงช่วยอัพสกิลรีสกิลทักษะการสอนให้กับครูอาจารย์กว่า 1,000 คน ตลอดจนร่วมสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตนักเรียนนักศึกษาทุพพลภาพกว่า 30 คนผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม พร้อมทั้งทำโครงการนำร่อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพข้าราชการจังหวัดสระบุรีกว่า 50 คนผ่านโครงการ Hi-Pro Saraburi 4.0 เป็นต้น

สำหรับปี 2565 ซีแอ็คย้ำวิสัยทัศน์ Empower Lives Through Learning ยกระดับศักยภาพคนและองค์กรผ่านการเรียนรู้ และการสร้างอิมแพ็คให้เกิดขึ้นจริง ทั้งในระดับสังคมและระดับประเทศ พร้อมเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายอัพสกิลคนไทยมากกว่า 1 ล้านคน ภายใน 3 ปี (ปี 2567)

โดยทิศทางการดำเนินธุรกิจ และเป้าหมายใหญ่ในปี 2565 คือ

1. เน้นการออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทำให้คนอยากเรียนอีก

2. นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยการเข้าถึงคนที่อยุ่ทุกที่ และตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลาย และทุกวัย

3. ผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและรู้วิธีการถ่ายทอดความรู้อย่างมีพลัง

4. สร้างสรรคสังคมแห่งการเรียนรู้ที่คนหลากหลายความเชี่ยวชาญ

5. ใช้หลักสูตรมาตรฐานระดับโลกและนำไปใช้ได้จริง