TQA รางวัลผลักดันองค์กรไทยสู่ความเป็นเลิศ ประกาศปรับเกณฑ์ปี 65-66

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ปรับเกณฑ์สอดรับโลกใหม่ ยกระดับศักยภาพองค์กรไทยทัดเทียมสากล

วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award – TQA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ

โดยองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลกจะได้รับการประกาศเกียรติคุณด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) และจะมีหน้าที่นำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่น ๆ นำไปประยุกต์ ทั้งนี้ ปี 2565 มีการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ ด้านเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

นางสาววลีพร ธนาธิคม ผู้ตรวจประเมินรางวัลคุณภาพแห่งชาติ กล่าวว่า โลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่จะนำพาองค์กรให้ก้าวเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

ด้วยเหตุนี้ เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในฐานะกลไกสำคัญซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบแนวทางในการยกระดับศักยภาพองค์กรไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมระดับสากล จึงได้ปรับปรุงเนื้อหาของเกณฑ์ในปี 2565-2566 เพื่อให้องค์กรได้นำไปปรับใช้เป็นกรอบการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมอันสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของโลก รวมถึงสอดคล้องกับเกณฑ์ต้นแบบอย่าง MBNQA

โดยเน้น 5 ด้านคือ ความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม (equity and inclusion) การแปลงเป็นดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (digitization and the fourth industrial revolution) นวัตกรรม (innovation) และการตอบแทนสังคม (societal contributions)

การปรับเปลี่ยนเกณฑ์หมวดต่าง ๆ มีดังนี้

หมวด 1 การนําองค์กร (leadership)

หัวข้อ 1.1 การนําองค์กรโดยผู้นําระดับสูง มีการเพิ่มคําถามเกี่ยวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันของลูกค้า และบุคลากร รวมทั้งปลูกฝังความสามารถในการฟื้นตัว

หัวข้อ 1.2 การกํากับดูแลองค์กรและการตอบแทนสังคม มีการถามว่าองค์กรได้นําเรื่องความผาสุก และผลประโยชน์ของสังคมไปบรรจุในกลยุทธ์และการปฏิบัติการประจําวันอย่างไร (จากเดิมเป็นแค่การคํานึงถึง)

หมวด 2 กลยุทธ์ (strategy)

หัวข้อ 2.1 การจัดทํากลยุทธ์ มีการถามว่า กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรได้คํานึงถึงความสามารถในการฟื้นตัว และพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างไร

หมวด 3 ลูกค้า (customers)

หัวข้อ 3.2 ความผูกพันของลูกค้า มีการถามว่าองค์กรมีวิธีการอย่างไรเพื่อทําให้มั่นใจว่ากระบวนการเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกค้าได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมสําหรับลูกค้าทั้งหมด

หมวด 5 บุคลากร (workforce)

หัวข้อ 5.1 สภาพแวดล้อมของบุคลากร ถามว่าองค์กรเตรียมบุคลากรสําหรับการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ทํางานและเทคโนโลยี และจัดรูปแบบการทํางานและบริหารบุคลากรอย่างไร เพื่อมุ่งมั่นส่งเสริมความสามารถในการฟื้นตัวและความคล่องตัว

หัวข้อ 5.2 ความผูกพันของบุคลากร ในประเด็นพิจารณาใหม่ ถามว่าองค์กรทําให้มั่นใจได้อย่างไรว่า แนวทางการจัดการผลการปฏิบัติงาน การพัฒนาผลการปฏิบัติงาน และการพัฒนาอาชีพการงาน ส่งเสริมความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม และในคําถามที่มีอยู่เดิมได้ถามเพิ่มเติมว่า องค์กรทําให้มั่นใจได้อย่างไรว่าวัฒนธรรมองค์กรส่งเสริมความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วม

หมวด 6 การปฏิบัติการ (operations)

หัวข้อ 6.1 กระบวนการทํางานประเด็นพิจารณา ง. ปรับชื่อใหม่ว่า “การจัดการโอกาสเพื่อนวัตกรรม” (Management of Opportunities for Innovation) โดยเป็นกระบวนการขององค์กรที่สร้างโอกาสสำหรับนวัตกรรม และใช้ประโยชน์จากโอกาสเชิงกลยุทธ์

หัวข้อ 6.2 ประสิทธิผลของการปฏิบัติการ ประเด็นพิจารณา ค. ปรับชื่อใหม่ว่า “ความปลอดภัย ความต่อเนื่องของธุรกิจ และความสามารถในการฟื้นตัว” (Safety, Business Continuity, and Emergency Preparedness) และถามว่าองค์กรมีวิธีการอย่างไรเพื่อทําให้มั่นใจว่าองค์กรสามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ป้องกัน และฟื้นฟูจากภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน และการพลิกผันทางธุรกิจต่าง ๆ

หมวด 7 ผลลัพธ์ (results)

หัวข้อ 7.4 ผลลัพธ์ด้านการนําองค์กรและการกํากับดูแลองค์กร ถามถึงผลลัพธ์ของการสื่อสารและการสร้างความผูกพัน เพื่อปลูกฝังนวัตกรรมและความเสี่ยงที่ผ่านการประเมินผลได้ผลเสียอย่างรอบด้าน

หมายเหตุ: หมวด 4 การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ประเภทของรางวัล

ทั้งนี้ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ไม่แบ่งประเภทและไม่จำกัดจำนวนรางวัล องค์กรที่มีคะแนนผลการตรวจประเมินสูงกว่า 650 คะแนน จะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ส่วนองค์กรที่มีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว แต่สูงกว่า 350 คะแนน จะได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class : TQC) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระดับ ดังนี้

TQC Plus: มีระดับคะแนนที่สูงกว่า 450 คะแนน และหมวด 1 อยู่ในช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป รวมถึงมีความโดดเด่นในด้านต่างๆ ดังนี้

TQC+: Customer มีช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป ในหมวด 3 และผลลัพธ์ 7.2
TQC+: People มีช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป ในหมวด 5 และผลลัพธ์ 7.3
TQC+: Operation มีช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป ในหมวด 6 และผลลัพธ์ 7.1
TQC+: Innovation มีช่วงคะแนน 50-65% ขึ้นไป ในหัวข้อ 6.1, หมวด 2 และผลลัพธ์ 7.1

TQC: มีระดับคะแนนที่สูงกว่า 350 คะแนน

ปีนี้สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ เปิดรับการยื่นใบรับรองคุณสมบัติเบื้องต้น ผ่านทางออนไลน์ที่ www.tqa.or.th/2021/12/สมัครขอรับรางวัลคุณภาพ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2565