ช่างเชื่อมไทยโชว์ศักยภาพ คว้ารางวัล “อาร์คคัพ” ระดับนานาชาติ

กระทรวงแรงงาน-ช่างเชื่อม

กระทรวงแรงงานส่งช่างเชื่อมไทยแข่งอาร์คคัพ 2564 โชว์ศักยภาพคว้ารางวัลได้ทุกคน ช่างเชื่อมไทยเป็นสาขาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็นที่ต้องการตลาดแรงงาน

วันที่ 21 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้จัดส่งช่างฝีมือเข้าร่วมการแข่งขันช่างเชื่อมระดับนานาชาติอาร์คคัพ 2564 (2021 Arc Cup International Welding Competition) ซึ่งเป็นการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 3-8 ธันวาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน 262 คน จาก 8 ประเทศ โดยช่างฝีมือไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 6 คน โชว์ศักยภาพเป็นที่ประจักษ์สามารถคว้ารางวัลได้ทุกคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนากำลังแรงงานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะสาขาที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเป็นที่ต้องการตลาดแรงงาน เช่น ช่างเชื่อมโลหะ

“ความต้องการแรงงานในสาขานี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ดำเนินการตามแนวทางประชารัฐร่วมกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา พัฒนาทักษะแรงงานทั้ง upskill และ reskill แรงงานทุกกลุ่มให้เป็นแรงงานคุณภาพ ทดแทนการขาดแคลนแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะงานในสาขาช่างเชื่อมเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การแข่งขันช่างเชื่อมระดับนานาชาติอาร์คคัพ 2021 (2021 Arc Cup International Welding Competition) มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น จำนวน 262 คน จาก 8 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐกานา สาธารณรัฐบัลแกเรีย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย

ผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 3 สาขา สาขาละ 2 คน รวมผู้แข่งขัน 6 คน ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีการเชื่อมแม็ก สาขาเทคโนโลยีการเชื่อมทิก และสาขาเทคโนโลยีการเชื่อมไฟฟ้า ซึ่งช่างเชื่อมไทยโชว์ศักยภาพเป็นที่ประจักษ์สามารถคว้ารางวัลมาได้ทุกคน ประกอบด้วย

1. นายรณกฤษ กาละปัตย์ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น รางวัลชนะเลิศ สาขาเชื่อมแม็ก

2. นายวีระชัย พวงปัญญา สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี รางวัลรองชนะเลิศ สาขาเชื่อมไฟฟ้า

3. นายศิวกร ดาราช สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี รางวัลชนะเลิศ สาขาเชื่อมไฟฟ้า

4. นายวีรพล ศรีลาชัย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น รางวัลยอดเยี่ยม สาขาเชื่อมไฟฟ้า

5. นายกุลพัทธ์ วงศ์ชู สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น รางวัลชนะเลิศ สาขาเชื่อมทิก

6. นายอนุเทพ กัญญาสาย สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี รางวัลยอดเยี่ยม สาขาเชื่อมทิก

ความสำเร็จในการแข่งขันดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี และหน่วยงานเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานต่าง ๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์ วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสเค เอ็นดีที แอนด์ อินสเป็คชั่น จำกัด

ที่ได้ร่วมกันสนับสนุนบุคลากร วัสดุและอุปกรณ์บางส่วนในการแข่งขันตลอดจน ร่วมส่งกำลังใจให้แก่ผู้เข้าแข่งขันได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย โดยสร้างการรับรู้แก่นานาประเทศถึงทักษะฝีมือช่างเชื่อมและระบบการฝึกอบรมฝีมือแรงงานของประเทศไทยในสาขาเทคโนโลยีการเชื่อมที่มีผลงานโดดเด่นในเวทีระดับโลก