คิดอย่างคน “แอโร มีเดีย” “ความผิดพลาดทำให้เกิดการเรียนรู้”

ต้องยอมรับความจริงว่า เส้นทางการเติบโตของคนคนหนึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จในวิชาชีพ ล้วนต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามพอสมควรกว่าจะถึงวันนี้ ยิ่งเฉพาะถ้าคนคนนั้นอยู่ในวัยเจเนอเรชั่นเอ็กซ์

แต่ต้องมานั่งตำแหน่งซีอีโอ

พร้อมกับรับผิดชอบสื่อจอโฆษณาภายในสนามบินทั้งหมด 13 แห่งใหญ่ที่สุดของประเทศขณะนี้ โดยมีสนามบินรอง ๆ อีก 17 แห่ง ที่พร้อมจะก้าวต่อไปในวันข้างหน้า หากมีการเพิ่มเที่ยวบินเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นกับจำนวนผู้โดยสารที่มากกว่า 120 ล้านคน/ปีจากสนามบินทั้งหมด 13 แห่ง ที่เห็นสื่อโฆษณาของบริษัท ไม่นับสื่อออนไลน์, สื่อโฆษณาในเครื่องบินต่าง ๆ, สื่อโฆษณาบนรถเข็นขนสัมภาระในสนามบิน และสื่อโฆษณาบริเวณห้องพักผู้โดยสารระหว่างรอขึ้นเครื่อ

งรวมถึงสื่ออื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อรองรับลูกค้าคนรุ่นใหม่ และแผนขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ในระยะเบื้องต้น ก่อนที่จะปักธงเป็นผู้นำในการให้บริการสื่อโฆษณาภายในสนามบินของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

ล้วนเป็นฝีมือของเขาทั้งสิ้น

“ฑัตชัย ปฏิโภคสุทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอโร มีเดีย กรุ๊ป จำกัด

“เมื่อสัก 7 ปีก่อน ผมเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทวีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ตอนนั้นรับผิดชอบแผนกงานขาย และการตลาดจอโฆษณาของบริษัททั้งหมด โดยสามารถขยายเครือข่ายจอโฆษณามากกว่า 5,000 จอทั่วประเทศ จนตอนหลังวีจีไอฯเข้ามาถือหุ้นในบริษัท แอลอีดี แอดวานซ์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัมปทานสื่อเจ็ตบริดจ์ในสนามบิน, สื่อจอโฆษณาดิจิทัล และการบริหารจัดการสื่อโฆษณาในสนามบินทั้งหมดรวม 13 แห่ง”

จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท แอโร มีเดีย กรุ๊ป จำกัด

โดยมี “ฑัตชัย” นั่งตำแหน่งซีอีโอตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา

“บริษัทผมเล็ก ๆ มีพนักงาน 18 คนในปีแรก แต่ตอนนี้มีพนักงาน 35 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานรุ่นใหม่เจเนอเรชั่นวายเกือบทั้งหมด แต่พวกเขาสามารถช่วยผมรันธุรกิจให้เติบโตกว่า 200% ภายใน 2 ปี ทั้งยังได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำมากมายในการใช้สื่อโฆษณาภายในสนามบิน และในธุรกิจการบินอย่างครบวงจร เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัท คิง เพาเวอร์, สายการบินไทย, แอร์เอเชีย, นกแอร์, ซัมซุง, บางกอกแอร์เวย์ส, ทรู, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอื่น ๆ”

ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบง่าย ๆ คือ ผมมีความชัดเจนในการบริหารธุรกิจ

“ตอนที่ผมเข้ามา สิ่งแรกที่ผมทำก่อนเลยคือเปลี่ยนชื่อบริษัทให้ดูเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน ต่อจากนั้นจึงเปลี่ยนนามบัตรให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าองค์กรของเราดำเนินธุรกิจไปทางไหน ขณะเดียวกันผมก็เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในเวทีต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าผมทำอะไรอยู่ เพราะธุรกิจนี้การแข่งขันค่อนข้างสูง จนผ่านไป 1 ปี ลูกค้าเริ่มรู้แล้วว่าเราทำธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสนามบิน และในธุรกิจการบิน กระทั่งผ่านมาถึงปีที่ 2 คนนอกวงการเริ่มรู้จักเรามากขึ้น และรู้ว่าเรา specialist ทางด้านนี้”

“แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะทำให้พนักงานรุ่นใหม่เข้าใจเรา และรู้ว่าพวกเขาจะเติบโตในวิชาชีพมากน้อยแค่ไหน มีโอกาสอย่างไรบ้าง เราจึงต้องบอกเขาให้ชัดเจนว่า เรามีวิชั่น มิสชั่นอย่างไร เพราะอย่างที่บอก เราเป็นบริษัทเล็ก ๆ หากเราไม่มีความชัดเจน พนักงานรุ่นใหม่จะไม่อยู่กับเรา ที่สำคัญ ธุรกิจของเราหัวใจสำคัญอยู่ที่ยอดขาย เพราะเราขายสื่อโฆษณาเป็นหลัก ดังนั้นยอดขายจะต้องเติบโตด้วย”

“ผมจึงให้ความสำคัญกับฝ่ายขาย และการตลาด ที่สำคัญ ผมเคยอยู่จุดนี้มาก่อน ผมต้องลงมือฝึกพวกเขาเอง ผมโชคดีที่พนักงานของผมเป็นคนรุ่นใหม่ พอเราสอนอะไร เขาก็จะเปิดรับทันที แต่กระนั้นก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือเขาไม่มีประสบการณ์ เราเองทราบเงื่อนไขข้อนี้ดี เพราะอัตราเทิร์นโอเวอร์พนักงานกลุ่มนี้มีการเข้าออกง่ายที่สุด ปัญหามาจากผลตอบแทน ผมจึงแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างง่าย ๆ คือให้คอมมิสชั่นเขาเต็มที่ ไม่งกเลย คุณขายได้มาก คุณจะได้ค่าคอมฯมากตามไปด้วย”

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ “ฑัตชัย” บอกว่า…เราต้องจัดสรรทีมให้ดี มีความเป็นธรรม ต้องกระจายลูกค้าอย่างเท่าเทียม โดยไม่ให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับทีมใดทีมหนึ่งมากเกินไป

“ที่สำคัญอีกอย่าง ก่อนหน้านี้ทุกคนเหมือนทำงานทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายขาย การตลาด และอื่น ๆ ดูเหมือนทำงานทับซ้อนกันไปหมด แต่เมื่อผมเข้ามา ผมปรับโครงสร้างการทำงานใหม่ แยกทุกฝ่ายออกมาชัดเจน เพื่อทุกคนจะได้ทำงานคล่องตัว จนเดี๋ยวนี้ผมเริ่มเข้าไปดูไฟแนนซ์แล้ว เพราะส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นทุกครั้งที่ผมจะขยายธุรกิจ ผมจะถามไฟแนนซ์ พร้อมกันนั้น ผมเรียกฝ่ายขายมาคุยด้วยว่า ถ้าจะทำโปรเจ็กต์นี้ ลงทุนเท่านี้มีกำไรไหม”

“ขณะเดียวกัน ธุรกิจของเราต้องเคลื่อนไหวเร็ว แต่การจะทำเช่นนั้นได้ ต้องพัฒนาคนของเราให้ไปถึงจุดนั้นด้วย ซึ่งการเทรนคนสมัยก่อนประเภทเดือนสองเดือนใช้ไม่ได้อีกแล้วกับพวกเขา เพราะคนรุ่นใหม่เขาต้องการรู้เรื่องภายใน 1-2 วัน และพร้อมจะออกไปว่ายน้ำทันที ดังนั้นวันแรกผมจะเทรนเขาทุกเรื่อง ส่วนวันที่ 2 ผมให้เขาเรียนรู้จากหัวหน้างานเอง”

“ดังนั้นงานช่วงแรก ๆ จึงเป็นงานเล็ก ๆ ที่เขาสามารถผิดพลาดได้ และไม่สร้างความเสียหายมากนัก แต่ถ้าเขาทำงานดี ผมต้องชมเชยเขา หรือถ้าเขาทำงานผิดพลาดขึ้นมาจริง ๆ เราอย่าไปถล่มเขา ต้องยอมรับความจริง และผมเองมีลิมิตของความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะผมเชื่อว่าความผิดพลาดจะทำให้เกิดการเรียนรู้ จนเขาไม่ผิดพลาดอีก เพราะผมเชื่อในเรื่องของ learning by doing”

เมื่อกรูมพนักงานจนเข้าที่เข้าทาง “ฑัตชัย” บอกว่า…ต่อไปก็ถึงเวลาสยายปีกธุรกิจไปยังเป้าหมายที่ต้องการ เพราะตอนที่ผมมานั่งซีอีโอใหม่ ๆ ผมแค่ขอเป็น The Leader of Aviation Media in Thailand ซึ่งตอนนี้ผมเชื่อว่าบริษัทเราไปถึงจุดนั้นแล้ว

“แต่เป้าหมายต่อไปภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ผมต้องการเป็น The Leader of Aviation Media in Southeast Asia ผมรู้ว่าเป้าหมายนี้อาจจะใหญ่เกินตัว เพราะเรากำลังออกไปรุกธุรกิจสื่อการบินทุกประเภทในประเทศเพื่อนบ้าน แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะตอนนี้ผมเริ่มรับคนรุ่นใหม่ ๆ กึ่ง ๆ สตาร์ตอัพ เพื่อให้พวกเขาครีเอต business unit ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เขาสร้างไปพูดคุยกับกลุ่มประเทศ CLMV ผ่านมาผลตอบรับค่อนข้างดี แต่ผมก็เผื่อใจไว้บ้าง เพราะรูปแบบการทำธุรกิจ และวัฒนธรรมมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก”

แต่ด้วยความเชื่อแบบ “ฑัตชัย” พร้อมกับเชื่อว่า ตลาดและสินค้าจะต้องตอบสนองลูกค้าแบบรู้เท่าทันกระแสเทคโนโลยีที่กำลังไหลบ่าเข้ามาอย่างรุนแรง จึงทำให้เขาแบ่งกลุ่มธุรกิจกับสื่อใหม่ ๆ ออกเป็น 4 แบบด้วยกัน คือ

หนึ่ง Same Market Same Product

สอง Same Market NewProduct

สาม Same Product New Market

สี่ New Market New Product

“โดยสื่อธุรกิจประเภทหนึ่งกับสองตอนนี้บางส่วนเราเพิ่มจอโฆษณาเข้าไปกว่า 400 จอแล้ว ขณะเดียวกันเราพยายามเพิ่มสื่อใหม่เข้าไปด้วย อาจใช้รูปแบบของ activity ในสนามบิน หรือวิดีโอ อะไลจน์อะไรต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นโปรดักต์ใหม่ แต่ยังเป็นตลาดเดิม ๆ อยู่ และตอนนี้เรารุกธุรกิจส่วนนี้ไปหลายสเต็ปแล้ว”

“เช่นเดียวกันประเภทที่สาม หลังจากที่เราทำมา 3 ปี เราทำมาทุกสื่อแล้วทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ แต่ต่อไปเราจะนำโนว์ฮาวไปทำตลาดต่างประเทศ อย่างที่ผ่านมา ที่ผมไปเมียนมา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และ สปป.ลาว เราดูว่าแอร์พอร์ตเขาทำอะไรบ้าง และทุกประเทศที่ผมไปคุย เขาจะรู้สึกแปลกใจว่าเราทำเว็บไซต์ให้ด้วยเหรอ ฟรีไวไฟด้วยเหรอ และทำป้ายอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ”

“แต่สำหรับประเภทที่ 4 อันนี้จะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับของเดิมเลย เพราะมีหลายคนบอกว่าการทำธุรกิจสื่อในสนามบิน หรือธุรกิจการบิน คุณต้องกระจายความเสี่ยง หากเกิดโรคระบาด วินาศกรรม หรือไอซิสจนต้องปิดสนามบินจะทำอย่างไร ผมฟังดูแล้วก็โอเค และตอนนี้กำลังให้ทีมรุ่นใหม่ศึกษารูปแบบธุรกิจเพื่อให้พวกคิดโปรดักต์ออนไลน์ และเซอร์วิสออนไลน์ขึ้นมา เพราะผมเชื่อว่าอนาคตเรื่องแอปพลิเคชั่นเป็นสิ่งจำเป็น”

อันเป็นคำตอบของซีอีโอรุ่นใหม่

ที่ชื่อ “ฑัตชัย ปฏิโภคสุทธิ์”


ผู้ที่มีความเชื่อว่า “ความผิดพลาดทำให้เกิดการเรียนรู้”