กระทรวงแรงงานผนึกฝ่ายมั่นคง ลงสมุทรสาคร ตรวจแรงงานประมงเชิงรุก

กระทรวงแรงงานแรงงานผนึกกำลังฝ่ายมั่นคง ลงจังหวัดสมุทรสาครตรวจแรงงานประมงเชิงรุก ป้องกันค้ามนุษย์ ยกระดับสู่เทียร์ 1

วันที่ 26 มกราคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ณ ท่าเทียบเรือสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจน้ำ จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อมาตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล เยี่ยมและรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคด้านแรงงานในการประกอบอาชีพประมงทะเล รวมทั้งพบปะกับลูกจ้าง นายจ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

พล.ต.ต.นันทชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ จากเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง ไปสู่เทียร 1 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายการป้องกัน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)

โดยการตรวจในครั้งนี้เป็นบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ตำรวจน้ำ และองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว (Stella Maris) มูลนิธิไอเจเอ็ม (International Justice Mission – IJM) และสำนักงานกฎหมายเอส อาร์ เพื่อให้หน่วยที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน และนำข้อท้าทายหรืออุปสรรคจากการออกตรวจที่พบร่วมกันมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้การดำเนินการให้ความคุ้มครองแรงงานในภาคประมงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พล.ต.ต.นันทชาติ กล่าวต่อว่า วันนี้ได้ลงตรวจเรือประมง จำนวน 3 ลำ ได้แก่

  • เรือ ก.เอกลักษณ์นาวี ขนาด 81.16 ตันกรอส มีลูกเรือ 27 คน เป็นสัญชาติไทย 15 คน เมียนมา 12 คน
  • เรือ ก.พรนัชชารุ่งสิริ ขนาด 76.36 ตันกรอส มีลูกเรือ 31 คน เป็นสัญชาติไทย 9 คน เมียนมา 22 คน
  • เรือ ว.กระแสสิน4 ขนาด 132.46 ตันกรอส มีลูกเรือ 17 คน เป็นสัญชาติไทย 3 คน เมียนมา 14 คน

“ในโอกาสนี้ยังได้เน้นย้ำถึงนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน นายจ้าง และลูกจ้างในเรือประมง โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการ ให้มีอาหารและน้ำดื่ม
ที่สะอาดถูกสุขลักษณะ มีห้องน้ำ ห้องเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้เหมาะสมกับการทำงาน และระยะเวลาการใช้ชีวิตบนเรือ

รวมทั้งได้กำชับให้นายจ้างให้ความรู้แก่ลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการทำงาน วิธีการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขณะใช้ชีวิตอยู่บนเรือ และตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยบนเรือ ก่อนการทำงานด้วย”

ทั้งนี้ สถานการณ์การค้ามนุษย ์ (TIP Report) หรือเทียร เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาจัดทําขึ้นเป็นประจําทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย ์(Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐ โดยมีประเมินความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกจํานวน 188 ประเทศในการจัดการกับการค้าทาสยุคใหม่ โดยมีการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่าง ๆ เป็น 4 ระดับ คือ

1. เทียร์ 1 คือ ประเทศที่รัฐบาลได้ปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์

2. เทียร์ 2 คือ ประเทศที่รัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างมากในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว

3. เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง คือ ประเทศที่รัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างมากในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว ขณะที่จำนวนเหยื่อของการค้ามนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และรัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้นในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์จากปีก่อนหน้านี้

4. เทียร์ 3 คือ ประเทศที่รัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามอย่างสมบูรณ์ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมากในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานดังกล่าว