20 ปี “มูลนิธิรักษ์ไทย” พัฒนาชุมชน-หยิบยื่นโอกาส

ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ของ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ที่ดำเนินการสานต่องานขององค์กรแคร์นานาชาติ ในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และช่วยเหลือคนที่ขาดโอกาส ในประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างประชาคมเข้มแข็ง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้สิทธิความเสมอภาค สามารถกำหนดอนาคตของตนเอง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ภารกิจที่มุ่งสร้างเสริมศักยภาพชุมชนยากจน และกลุ่มขาดโอกาส โดยการวิเคราะห์แก่นแท้ของปัญหา กำหนด และดำเนินการทางเลือกที่เหมาะสม และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในงานพัฒนา เพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน

“พร้อมบุญ พานิชภักดิ์” เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า แต่เดิมนั้นการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทยเป็นส่วนหนึ่งองค์กรแคร์นานาชาติแห่งประเทศไทย โดยองค์กรแคร์นานาชาติก่อตั้งขึ้น

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ที่เป็นเหยื่อของสงคราม และมีการดำเนินงานในประเทศต่าง ๆ รวมแล้วกว่า 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

โดยในปี 2522 องค์กรแคร์นานาชาติมีการเปิดสำนักงานในประเทศไทย เพื่อดูแลผู้ลี้ภัยจากสงครามของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของคำว่า แคร์ไทยแลนด์ และต่อมามีการขยายการดำเนินงานด้านการพัฒนาให้แก่ชุมชนยากจน และด้อยโอกาส ในเขตภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงงานด้านการเกษตร และทรัพยากรธรรมชาติ งานส่งเสริมอาชีพ งานส่งเสริมการศึกษา และงานส่งเสริมสุขภาพด้านการป้องกันเอดส์ เป็นต้น

“ต่อมาในช่วงระยะเวลาก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ถือเป็นช่วงที่การพัฒนาไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ต่างประเทศทยอยกันลดการช่วยเหลือด้านการพัฒนาในประเทศไทยลง รวมถึงองค์กรแคร์นานาชาติที่จะปิดสำนักงานประเทศไทย ขณะนั้นมีการพูดคุยกันเพื่อที่จะขอเปิดองค์กรในประเทศต่อไป เพื่อสานการทำงานให้มีความต่อเนื่อง ตอบสนองปัญหาและความต้องการในประเทศไทย”

หลังจากการพิจารณาและวิเคราะห์ขององค์กรแคร์นานาชาติ ในปี 2540 จึงมีการเปิดมูลนิธิใหม่ภายในประเทศไทย ชื่อ “มูลนิธิรักษ์ไทย” ซึ่งรักษ์ตรงนี้คือ แคร์ไทยแลนด์ รักษาประเทศไทย โดยได้รับความกรุณาจาก “ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์” เป็นประธานมูลนิธิ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนปัจจุบัน และเช่นเดียวกัน ผมก็ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการตั้งแต่เริ่มต้นในการทำงาน

“อีก 3 ปีต่อมา องค์กรแคร์นานาชาติมีการเชิญมูลนิธิรักษ์ไทยให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรแคร์นานาชาติ ซึ่งเราถือเป็นประเทศสมาชิกประเทศที่ 2 และหลายคนอาจคิดว่า องค์กรแคร์นานาชาติ มีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกแรกที่มาจากประเทศกำลังพัฒนา ทำให้ในปัจจุบันองค์กรแคร์นานาชาติ จึงมีประเทศที่พัฒนา และประเทศที่กำลังพัฒนาทำงานด้วยกัน”

“พร้อมบุญ” กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับงานที่มูลนิธิรักษ์ไทยเราดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 20 ปี จนถึงปัจจุบัน โดยมีภารกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย

หนึ่ง งานด้านสุขภาพ โดยรักษ์ไทยมีทีมงานค่อนข้างใหญ่ที่ทำงานด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับโรคติดต่อร้ายแรง เช่น เอดส์, วัณโรค และมาลาเรีย โดยมีนโยบายของประเทศไทย คือทำอย่างไรให้โรคเหล่านี้หมดไปจากประเทศ ซึ่งมูลนิธิได้ทำงานทั้งระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาคในงานตรงนี้

สอง งานด้านการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และให้มีบทบาทในการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมงานพัฒนา โดยงานด้านนี้จะเน้นการส่งเสริมด้านอาชีพ และการยุติการกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดกับผู้หญิง รวมถึงเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์

สาม งานด้านการพัฒนาด้านศักยภาพเด็ก และเยาวชนให้เกิดภาวะผู้นำ โดยหลักการทำงานไม่ได้มุ่งเน้นการสงเคราะห์ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่มีภาวะผู้นำ โดยใช้ระบบการแนะนำเรื่องอาชีพแต่ละอาชีพ เพื่อให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ และการทำงานเป็นทีมด้วยภาวะผู้นำ เพราะประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ดังนั้น มูลนิธิจึงมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับ STEM เพื่อให้มีการนำเอาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี คณิตศาสตร์ เข้าไปในโรงเรียนมากขึ้น

อีกทั้งยังมีโครงการยุติการรังแกในโรงเรียน โดยประเทศไทยอาจไม่คุ้นเคยกับคำว่า bully แต่สิ่งที่พบตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนระดับประถม มีอัตราการรังแกสูงมาก ฉะนั้นโครงการนี้จึงพยายามที่จะให้เด็กเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา

สี่ งานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับป่าต้นน้ำ ทั้งที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน เพื่อให้ชุมชนเกิดการปรับตัวเพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ทำลายป่า

ห้า งานด้านการช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยงานด้านนี้มูลนิธิทำงานร่วมกับองค์กรแคร์นานาชาติ โดยช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิในประเทศไทยเมื่อหลายปีผ่านมา มีการพูดคุยกันถึงเรื่องภัยพิบัติครั้งใหญ่ จนทำให้เกิดกองทุนต่าง ๆ ในชุมชนกว่า 100 ชุมชน เพื่อมาช่วยกันฟื้นฟูเยียวยาจิตใจ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชนให้ดีขึ้น

“พร้อมบุญ” กล่าวอีกว่า ในการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทย ปัจจุบันมูลนิธิมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 226 คน มีสำนักงาน 16 แห่ง มีพื้นที่การทำงานครอบคลุม 30 จังหวัด และยังมีการทำงานร่วมกับภาคี ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐ จึงทำให้งานของมูลนิธิสามารถกระจายได้อย่างกว้างขวาง

ขณะที่ขอบเขตในการทำงานมีแนวคิดอยู่ 4 เรื่องประกอบด้วย ได้แก่

หนึ่ง empowerment การจะทำให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง มูลนิธิไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม ซึ่งการให้ชุมชนเข้ามาแก้ปัญหาด้วยตัวเองจะเป็นสิ่งที่ทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะกระบวนการ empower-ment ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานของมูลนิธิ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเด็ก เรื่องชุมชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือภาคเหนือ

สอง impact ต้องยอมรับว่าการทำงานในปัจุบัน องค์กรต่าง ๆ จะมีการวัด impact ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และมีกระบวนการวัดอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มูลนิธิให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องของการวัด และผลที่ออกมาจะคุ้มค่ากับชุมชนอย่างไรบ้าง

สาม ความรับผิดชอบโปร่งใส ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบกับกลุ่มเป้าหมายในทุกมิติ ทั้งต่อผู้สนับสนุน ต่อภาคี และต่อสังคม ตรงนี้ถือว่าสอดคล้องกับหลักการขององค์กรแคร์นานาชาติ ในเรื่องของความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

สี่ การทำงานภาคี โดยทางมูลนิธิยึดหลักว่าการทำงานของรักษ์ไทย ต้องทำให้เกิดภาคีทั้งในภาคองค์กรพัฒนาเอกชนด้วยกัน และการทำงานในทุกส่วนต้องเข้าใจความหลากหลาย และความแตกต่าง

ขณะเดียวกัน มูลนิธิรักษ์ไทยยังมีแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีต่อไป โดยจะให้ความสำคัญกับสังคม ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน และการสร้างความเท่าเทียม ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศระหว่างหญิงและชาย โดยเฉพาะการใช้กลไกด้านอาชีพที่ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่ห่างไกลสามารถนำอาชีพมาสู่การพัฒนาตัวเอง พัฒนาครอบครัว และชุมชน เพื่อให้เกิดรายได้เลี้ยงตัวเอง


จนนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างแท้จริง พร้อม ๆ กับยุติการกระทำความรุนแรงทางเพศอีกด้วย