บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย มรดกภูมิปัญญาชนะเลิศแบงก์กรุงศรี

ต้องยอมรับว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance-ESG) เป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นธนาคารพาณิชย์แรก ๆ ที่ให้ความสำคัญกับ “ESG” อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกรุงศรีอยุธยาทำโครงการรอบรู้เรื่องการเงิน ซึ่งเป็นการให้ความรู้เรื่องการจัดการทางการเงินส่วนบุคคลสำหรับนักเรียนชั้นประถม 5-6 เพื่อสอนให้มีวินัย มีทักษะเบื้องต้นในการออม และบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล

กล่าวกันว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาธนาคารกรุงศรีทำโครงการรอบรู้เรื่องการเงิน จากปีแรก ๆ ที่เริ่มต้นโครงการประมาณ 70 โรงเรียน จนปีต่อ ๆ มาขยายเพิ่มขึ้นถึงปีละ 70-80 โรงเรียน ที่สำคัญยังขยายความรู้ทางด้านนี้ไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่ธนาคารเข้าไปลงทุนในการดำเนินธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา

จนปัจจุบันมี 400 กว่าโรงเรียน และมีนักเรียนประมาณ 20,000 กว่าคนที่เข้าร่วมโครงการรอบรู้เรื่องการเงิน

ผลเช่นนี้ จึงทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาต่อยอดความสำเร็จของโครงการ ด้วยการปรับทิศทางของประเด็นทางสังคมมาที่ระดับอุดมศึกษา โดยผ่านมูลนิธิกรุงศรีด้วยการจัดทำโครงการ “กรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งยังเสริมสร้างจิตสาธารณะให้กับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา

พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย

“พูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย” ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิกรุงศรีกล่าวในเบื้องต้นว่า ที่ผ่านมาเราให้ทุนการศึกษาประมาณ 100 ทุนให้กับนักเรียนชั้นประถม-มัธยม และอุดมศึกษา แต่เมื่อไม่นานเราคิดกันว่าการให้ทุนเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว แต่ถ้าคิดจะทำอะไรให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตน่าจะดีกว่า

ความคิดตรงนี้จึงเกิดเป็นโครงการกรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา ด้วยการนำทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาที่เรียนไปประยุกต์ใช้กับกิจกรรมอาสาพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน

รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยปี 2563 มูลนิธิคัดเลือกโครงการกิจกรรมอาสาพัฒนาจำนวน 9 โครงการ จากสถาบันการศึกษาทั้งหมด 6 แห่งทั่วประเทศ

จนที่สุดโครงการบันทึกข้าวหลามหินรุ่ย ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ชมรมต้นกล้าแห่งการสื่อสาร สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต ได้รับรางวัลชนะเลิศเพราะโครงการตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

ฉะนั้น จุดเด่นของนักศึกษากลุ่มนี้จึงตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการทุกประการ ทั้งเขายังเพิ่มเติมในส่วนที่จะทำให้ชุมชนหินรุ่ย ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของชุมชนด้วย

อารุณ ภาคสมบูรณ์

ขณะที่ “อารุณ ภาคสมบูรณ์” ผู้แทนคณะทำงานโครงการ “บันทึกข้าวหลามหินรุ่ย” สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนหินรุ่ย ปรากฏว่าผู้ประกอบอาชีพข้าวหลามหินรุ่ยมีจำนวนลดน้อยลงมาก จากในอดีตที่มีมากกว่า 30 ครัวเรือน ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ครัวเรือนเท่านั้น เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมงกว่าจะได้ผลผลิต ทั้งยังคาดการณ์ว่าในอนาคตจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ

“เนื่องจากอาชีพนี้ไม่ได้รับความสนใจจากเยาวชน หรือลูก ๆ หลาน ๆ ของคนในชุมชน ทางหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาเรียนหนังสือกันหมด จึงอยากหันไปประกอบอาชีพอื่น อีกทางหนึ่งอาจเป็นเพราะการทำข้าวหลามหินรุ่ยมีขั้นตอนยุ่งยาก พวกเขามองเห็นว่าไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป ดังนั้น เมื่อผมได้รับโจทย์จากทางโครงการกรุงศรีอุดมศึกษาอาสาพัฒนา ในหัวข้อรวมพลังจิตอาสาเปลี่ยนแปลงสังคม และพัฒนาวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (new normal) อย่างยั่งยืน จึงมานั่งประชุมและคัดสรรชุมชนที่จะทำโครงการนี้ให้สำเร็จ”

โดยเฉพาะส่วนของการนำความรู้จากสาขาที่เรียนไปปฏิบัติเพื่อใช้ได้จริง ทั้งยังต้องเป็นประโยชน์กับชุมชนด้วย ดังนั้น การที่พวกเราได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิกรุงศรีจึงเหมือนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เกิดความมุ่งมั่น เพื่อจะให้ชุมชนหินรุ่ยประสบความสำเร็จดังที่ตั้งใจไป และจากการลงพื้นที่จนถึงตอนนี้เริ่มมีเยาวชนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้างแล้ว หลายคนเริ่มกลับมาสืบทอดแม้จะค่อนข้างน้อย แต่ก็เริ่มมีชุมชนอื่น ๆ มาดูงานจนทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เล็ก ๆ หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตของชุมชน

สุเทพ ศรีเพชรมูล

“เพราะผู้ที่ให้ความรู้ในการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว และทำต่อเนื่องมาจนถึงรุ่น 2 และรุ่น 3 คือ ลุงสุเทพ-ป้ายุพิน ศรีเพชรมูล ที่ทำข้าวหลามเลี้ยงครอบครัวมากว่า 40-50 ปี เป็นผู้บรรยายให้ผู้สนใจฟังเอง ตรงนี้ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่ทำให้คนภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ เริ่มมาดูงานบ้าง ขณะเดียวกัน เราก็ช่วยลุง-ป้าจัดทำหนังสือบันทึกข้าวหลามหินรุ่ย ซึ่งจะมีเนื้อหาตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ทั้งยังแปลเป็นภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกัน เราก็ให้ผู้สนใจสแกน QR code เพื่อรับชมวิดีโอที่เราต้องการสื่อสารไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วย”

ถึงตรงนี้ “ลุงสุเทพ-ป้ายุพิน” กล่าวเสริมว่า ลุงกับป้าทำอาชีพนี้มา 40-50 ปีแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าทำอาชีพนี้อาชีพเดียวตั้งแต่หนุ่มยันแก่ และรุ่นลุงกับป้าก็เป็นรุ่น 2 ทำต่อมาจากพ่อแม่ ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนทำแล้ว มันเหนื่อย คนไม่อดทนจริง ๆ ทำไม่ได้หรอก เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 1 ครึ่ง เพื่อมาแช่ข้าวเหนียว จากนั้นก็ต้องเตรียมน้ำกะทิ เตรียมกระบอกไม้ไผ่ เตรียมเผา ซึ่งกว่าจะเสร็จก็ประมาณ 7 โมงเช้า จากนั้นก็นำไปขายตามตลาดชุมชนต่าง ๆ

ยุพิน ศรีเพชรมูล

ข้าวหลามหินรุ่ยแตกต่างจากข้าวหลามที่อื่นเพราะไม่หวาน ไม่แฉะ และเก็บไว้ได้ประมาณ 2-3 วัน ถ้าใส่ตู้เย็นเก็บได้เป็นอาทิตย์ แต่ก่อนกินต้องนำมาอุ่นก่อนนะ รสชาติก็ยังเหมือนเดิม สมัยลุงกับป้ายังหนุ่มสาวอยู่ ทำวันละ 15 กิโลกรัม แต่ตอนนี้เหลือเพียง 12 กิโลกรัม เพราะของทุกอย่างแพงหมด ที่สำคัญอุปกรณ์ทุกอย่างต้องไปหาเอง อย่างไม้ไผ่ต้องไปตัดเองกับลูกชายที่พังงากับสุราษฎร์ธานี ข้าวเหนียวเราก็ใช้อย่างดี แม้แต่น้ำกะทิเราก็ใช้เกรดเอ

“ส่วนราคาขึ้นอยู่กับขนาด กระบอกใหญ่สุด 50-60 บาท กระบอกเล็กก็ 4 กระบอก 100 บาท ถ้าเป็นเมื่อก่อนลงทุนประมาณ 3,000 บาท ขายหมดก็ได้กำไร 5,000-6,000 บาท แต่ตอนนี้ลงทุน 5,000 บาท กำไร 2,000 บาทเอง ทุกอย่างกลับตาลปัตรหมดแล้ว เพราะวัตถุดิบแพงขึ้นทุกอย่าง ยิ่งไม้ไผ่ตอนนี้แพงมาก ตกลำละ 100 บาท แถมยังต้องไปตัดเองด้วย แต่เราก็จำเป็นต้องซื้อเพราะองค์ประกอบสำคัญของข้าวหลามต้องใช้ไผ่เป็นหลัก”

และหลังจากนักศึกษาเข้ามาทำโครงการ ก็มีคนสนใจมาเรียนรู้มากขึ้น โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวภายในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง แต่ระยะยาวไม่รู้เหมือนกันว่าคนยังสนใจอยู่ไหม แต่โดยส่วนตัวก็อยากให้การทำข้าวหลามหินรุ่ยอยู่กับชุมชนต่อไป เพราะเป็นมรดกสืบทอดกันมากว่า 100 ปีแล้ว

ถ้าต้องมาตายจากไปพร้อมลุงกับป้าก็น่าเสียดาย อย่างลูกหลานของผมก็มาช่วยบ้าง แต่อย่างที่บอกมันเหนื่อย ใครไม่อดทนจริง ๆ ทำไม่ได้หรอก ผมกับภรรยาจึงได้แต่หวังว่าหลังจากนักศึกษาทำบันทึกข้าวหลามหินรุ่ย และเผยแพร่ไปในที่ต่าง ๆ น่าจะมีคนมาสานต่อบ้าง


“ลุงกับป้าหวังเท่านั้นจริง ๆ”