น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ชุบชีวิตชาวเขาสร้างผืนป่ายั่งยืน

มูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด แถลงข่าวเตรียมจัดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” ครั้งที่ 3 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงประชาสัมพันธ์น้ำมันเมล็ดคามีเลียออกสู่สาธารณชน

เนื่องจากน้ำมันเมล็ดคามีเลีย มีผลการศึกษาว่ามีประโยชน์หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี ก่อนจะมาสู่ประเทศไทย เพื่อมาหล่อเลี้ยงชีวิตชาวเขาบนดอย พร้อมกับเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้กับภาคเหนือ

“ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า น้ำมันเมล็ดคามีเลียคือน้ำมันที่ถูกกลั่นมาจากเมล็ดต้นชาน้ำมันสายพันธุ์ “คามีเลีย โอลิเฟร่า” (Camellia oleifera) โดยตอนแรก เริ่มจากการค้นพบเมล็ดชาเพียงไม่กี่เมล็ดบนพื้นที่ภาคเหนือ

ตอนนั้นไม่มีใครทราบว่าการพบครั้งนั้นเป็นต้นชาน้ำมันสายพันธุ์อะไร จนเมื่อปี 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการศึกษาและทดลองปลูก

“ผมเดินทางไปศึกษาต้นตอของต้นชานี้หลายเมืองในประเทศจีน ทั้งไร่ชา และโรงกลั่นน้ำมัน ต่อมาจึงพบว่าคือสายพันธุ์คามีเลีย และได้ขอเมล็ดเขามาทดลองปลูก ตอนแรกค่อนข้างกังวลเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ทรงมีรับสั่งว่าไม่ควรนำไม้ต่างถิ่นมาปลูกที่ป่าต้นน้ำ เพราะเป้าหมายการปลูกของเราคือภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ แต่โชคดี สุดท้ายเราพบว่าต้นชาน้ำมันนี้มีในภาคเหนืออยู่แล้ว เพียงแต่คนไม่รู้จักจึงตัดทำลาย และค่อย ๆ หายไป”

หลังจากนั้นทางจีนส่งเมล็ดพันธุ์ และต้นอ่อนชาน้ำมันจำนวนหนึ่งกลับมาเพื่อนำมาทดลองปลูก โดยเริ่มการปลูกและขยายพันธุ์ในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีชุมชนช่วยดูแล โดยใช้ระยะเวลาปลูกกว่า 3-5 ปี จึงออกผลผลิต

“ดร.สุเมธ” กล่าวต่อว่า ระหว่างนั้นมูลนิธิร่วมกับโครงการพัฒนาดอยตุงฯ และผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำการศึกษาผลผลิตชาน้ำมัน และศึกษาการตั้งโรงงานผลิตชาน้ำมันที่เหมาะสม รวมถึงศึกษาการใช้ประโยชน์สูงสุดของโรงงานชาน้ำมัน โดยมีการศึกษาพันธุ์พืชที่ให้น้ำมันชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น ฟักทอง, ผักน้ำมัน, มะรุม, มะเยา และแมคาเดเมีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังศึกษาและวิจัยประโยชน์อื่น ๆ ของชาน้ำมัน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง, ยารักษาโรค พร้อมกับหาวิธีป้องกันศัตรูของชาน้ำมัน และโรคต่าง ๆ อันเป็นสาเหตุของการเจริญเติบโตของต้นชา

ส่วนผลที่ได้รับจากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผลผลิตที่ได้จากเมล็ดชาเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงเทียบเท่าน้ำมันมะกอก เนื่องจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง และมีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่าง ๆ ใกล้เคียงกัน หรือดีกว่าน้ำมันมะกอกเล็กน้อย จนได้ผลผลิตบรรจุภัณฑ์ออกมาวางจำหน่ายภายใต้สินค้าตราภัทรพัฒน์ถึงทุกวันนี้

“ภากมล รัตตเสรี” ผู้ช่วยเหรัญญิกสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวเสริมว่า การศึกษาและทดลองปลูกต้นชาน้ำมันสายพันธุ์คามีเลียเริ่มดำเนินการในเขตพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงเป็นแห่งแรก ได้รับมากกว่า 6 ล้านต้น เพื่อนำมาศึกษาและทยอยปลูกไปเรื่อย ๆ มีตายบ้าง เติบโตบ้าง ในพื้นที่ 3-4 พันไร่บนดอยตุง และพื้นที่ใกล้เคียง ตอนนี้น่าจะปลูกได้ 600,000 ต้น ถือเป็นการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม และเป็นการทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายอย่างดี

ในส่วนของน้ำมันเมล็ดคามีเลียนั้น เป็นที่รู้จักในประเทศจีนนานกว่า 1,000 ปี ประเทศจีนเขาเรียกน้ำมันจักรพรรดิ ซึ่งเป็นน้ำมันสำหรับจักรพรรดิ หรือน้ำมันของชนชั้นสูง มีประโยชน์มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็น น้ำมันมะกอกแห่งโลกตะวันออก เนื่องจากมีองค์ประกอบของไขมันที่ดีต่อร่างกายไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก ทั้งยังไม่มีกรดไขมันทรานส์ ซึ่งทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค อย่างมีประสิทธิภาพ

“พลอยชมพู อัมพุช” ผู้จัดการใหญ่บริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาชาน้ำมัน และพืชน้ำมัน โดยมูลนิธิชัยพัฒนา เกิดจากผลผลิตจากการสร้างป่าต้นชาน้ำมัน จนก่อให้เกิดน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภายใต้ตราผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ โดยเดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนา ทำการประชาสัมพันธ์ให้น้ำมันเมล็ดคามีเลียเป็นที่รู้จัก และมีการใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายมากขึ้น

“ขณะเดียวกัน เราก็เพิ่มช่องทางการจำหน่ายน้ำมันภายใต้ชื่อน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ด้วยการวางสินค้าที่กูร์เมต์ มาร์เก็ต ทุกสาขาอย่างต่อเนื่องมากว่า 7 ปี รวมถึงการจัดงานเทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ครั้งที่ 3 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ

ภายในงานจะมีโซนนิทรรศการ, สินค้าจากร้านค้าในเครือมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงร้านค้า, ร้านอาหารชื่อดังมาร่วมงานจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เราก็เชิญเชฟมืออาชีพมาปรุงอาหารที่ใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ให้ทุกคนลองชิมด้วย”

นับว่าน่าสนใจทีเดียว