MQDC ปั้นนักออกแบบ ชูอัตลักษณ์ไทยบนพื้นที่สาธารณะ

หน่วยงานครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) ภายใต้สังกัดบริษัท ดีทีจีโอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (DTGO) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งดำเนินโครงการจัดการประกวดการออกแบบประจำปีเป็นปีแรก

โดยร่วมกับสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อบ่มเพาะผู้มีความสามารถเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมคนรุ่นใหม่ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ

ภายใต้ธีม “Uniquely Thai การประกวดแบบ Civic Center ในศตวรรษที่ 21 ของกรุงเทพมหานคร” ทั้งนั้นเพื่อส่งเสริมการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่ชูอัตลักษณ์ และนำเสนอรากเหง้าของวัฒนธรรมไทย ผสานกับความเป็นสากล เนื่องจากประเทศไทยยังขาดพื้นที่สาธารณะประเภท civic center หรือพื้นที่รองรับความต้องการการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมทางสังคม และวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ของพลเมืองทุกช่วงวัย

ภารุต เพ็ญพายัพ

“ภารุต เพ็ญพายัพ” ผู้เชี่ยวชาญด้านสร้างสรรค์โครงการอาวุโส ครีเอทีฟ แล็บ (Creative Lab) กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกให้ความสำคัญกับ civic center หรือพื้นที่สาธารณะที่จะแสดงถึงเอกลักษณ์ของแต่ละเมือง และเป็นพื้นที่ที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานแสดงสินค้า, การชุมนุม, ขายสินค้า เป็นต้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในเมืองที่ทุกคน ทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม

ดังนั้น โจทย์สำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะคือการทำให้เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการออกแบบ และการวางผังเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะของชุมชน ทั้งยังขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และลักษณะโดยรวมของพื้นที่นั้น ๆ

โครงการนี้นอกจากจะเป็นการผลักดันให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมี civic center ในประเทศไทย ยังส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการออกแบบด้วย โดยเปิดโอกาสให้นิสิต และนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่เรียนด้านสถาปัตยกรรม, ด้านการออกแบบ, ด้านผังเมือง, ด้านการออกแบบชุมชนเมือง และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่เป็นสถาปนิก หรือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมาแล้วไม่เกิน 5 ปี ทุกประเภทเข้าร่วมออกแบบได้ ทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม

กรณีแบบกลุ่มจะต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมไม่เกินกลุ่มละ 5 คน และทีมที่เข้าร่วมมีสมาชิกจากหลากหลายสาขาวิชา เช่น สาขาวิชาด้านวัฒนธรรม, สาขาวิชาด้านธุรกิจ และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะต้องการสร้างความหลากหลาย พร้อมกับส่งเสริมการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการข้ามสายงาน

“ภารุต” กล่าวต่อว่า การประกวดใช้เวลากว่า 3 เดือน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมแข่งขันเกือบ 500 ทีม เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 700,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และรางวัลเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ

มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ

โดยผู้ชนะเลิศในประเภทนิสิตนักศึกษา ได้แก่ มนัสนันท์ เดชะสุวรรณ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานแนวคิด “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” และผู้ชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไป ได้แก่ ทีม Cosmic I Civic Center จากผลงาน “Metaverse” ซึ่งประกาศผลไปเมื่อ 20 ธันวาคม 2564

ทีม Cosmic I Civic Center

“เราตั้งใจให้ผู้ประกวดได้รับความรู้ใหม่ ๆ และมีแรงบันดาลใจเพื่อนำไปต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ผลงาน จึงจัดหาวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ และระดับโลกมาบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ เช่น Civic Center in the 21st Century : Philosophy and Case Studies by Mitsubishi Jisho Sekkei (MJS), การเสวนาแบบกลุ่มหัวข้อ Urban Development : การพัฒนาเมืองสมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21

โดยมี รศ.ดร.พีรดร แก้วลาย อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.พงศ์พร สุดบรรทัด ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง และ วิพัตรา โตเต็มโชคชัยการ นักวิเคราะห์ และการบรรยายหัวข้อ Sustainable Architecture : การออกแบบสถาปัตยกรรมแห่งอนาคตสู่ความยั่งยืน โดยมี โทบี้ บลันท์ หุ้นส่วนอาวุโสและรองหัวหน้าสตูดิโอ บริษัทสถาปนิกชื่อดังจากอังกฤษ Foster+Partners มาบรรยาย”

ตอนนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น แรงงานรุ่นใหม่ในหลายอาชีพเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จึงอยากพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่เหลืออยู่ให้มีศักยภาพ ด้วยการเพิ่มสกิลที่พวกเขายังขาด ให้พวกเขาสามารถทำงานตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนโลกอย่างรวดเร็ว

ทั้งยังส่งเสริมให้มีมุมมองทางด้านเทคโนโลยี และมีทักษะที่ลึกซึ้ง นอกจากนั้น โครงการนี้ยังเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์มองหาทาเลนต์ไปร่วมงานด้วย

“โครงการนี้จะช่วยส่งเสริมตลาดแรงงานในอนาคต ทำให้มีทาเลนต์มาอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ หรือการพัฒนาเมืองมากขึ้น และในฐานะที่ MQDC เป็นบริษัททำธุรกิจด้านออกแบบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เราอยากออกแบบสินค้าของเราให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้

ดังนั้น โครงการนี้จึงช่วยให้บริษัทได้รับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่ เป็นการศึกษาแนวความคิดของพวกเขาไปด้วยในตัว ได้เห็นวิธีการตีความเรื่องความเป็นไทย และการใช้พื้นที่สาธารณะ จึงนับเป็นประโยชน์ต่อวงการออกแบบ”

สำหรับคุณสมบัตินักออกแบบที่บริษัทต้องการคือต้องเป็นนักออกแบบที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อความสวยงาม แต่มีวิธีคิด วิธีเข้าใจมุมมองของผู้ใช้งานอย่างชัดเจน สามารถพัฒนาการออกแบบให้ตอบโจทย์ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และความยั่งยืนได้

“ภารุต” อธิบายต่อว่า ธีมออกแบบ Uniquely Thai เน้นการสร้างเสน่ห์ความเป็นไทยให้โลกรับรู้ผ่าน civic center และสามารถผสมผสานกับการสร้างนวัตกรรม และความยั่งยืนได้ สำหรับผลงานชนะเลิศประเภทนิสิตนักศึกษา ชื่อผลงาน “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาจากการมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทย ในด้านฐานะที่มีช่องว่างมากเกินไป ทั้งปัญหาการขาดโอกาสทางด้านการศึกษาของเด็กยากไร้ และสุขภาวะที่ไม่ดี

เจ้าของผลงานจึงออกแบบ civic center ที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสังคมและวัฒนธรรม 2) ด้านความคิดและความรู้ 3) ด้านสุขภาวะ 4) ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 5) ด้านปฏิสัมพันธ์ ทั้งยังเชื่อมต่อทางเดินเท้าเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไปที่ผู้ประกอบการรายย่อย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

สำหรับผลงานชนะเลิศประเภทบุคคลทั่วไปของทีม Cosmic I Civic Center ชื่อผลงาน Metaverse เป็นการตีโจทย์การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อพัฒนาคนแห่งโลกอนาคต ผ่านแนวคิด ‘กรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง’ ต่อยอดมุมมองว่ามนุษย์ก็สามารถที่จะอวตารไปสู่สวรรค์ในโลกจินตนาการที่เรียกว่า Metaverse ได้

โดยตัวอาคารเปรียบดังสวรรค์ที่ลอยอยู่เหนือเขาพระสุเมรุ และในส่วนภูมิทัศน์ได้ไอเดียมาจากเขามอ (ภูเขาหินจำลอง) และอาคารลอยอยู่เหนือน้ำ ที่เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทย ที่ปรับตัวอยู่กับน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นับเป็นโครงการประกวดที่ส่งเสริมการสร้างศูนย์รวมการใช้ชีวิตของคนไทย และผลักดันกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ให้มีทักษะด้านอาชีพอย่างน่าสนใจ