เช็กที่นี่ วิธีรักษาโควิดใช้ประกันสังคม หาเตียง และรับค่าชดเชย

เครดิตภาพ: Mufid Majnun/Unsplash

ผู้ประกันตนติดโควิด-19 ระลอกใหม่ สำนักงานประกันสังคมเตรียมเตียงรองรับ-รักษาฟรี

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะในขณะนี้ที่มีผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมจะให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ในอยู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดโควิด-19 โดยได้รับการดูแลและรักษาฟรี

พร้อมทั้งความพร้อมในการบริหารจัดการเตียง ซึ่งเป็น Hospitel เพื่อรองรับสถานการณ์ไว้แล้ว โดยในแต่ละวันจะมีผู้ประกันตนหมุนเวียนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา เมื่อผู้ประกันตนรักษาหายและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านก็จะทำให้มีเตียงว่างเพิ่ม ขณะเดียวกัน สปส.จะประสานหาเตียงสำรองเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถรองรับการรักษาผู้ประกันตนได้อย่างเพียงพอ

เตรียมเตียง-รักษาฟรี

นายสุชาติกล่าวว่า ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัยหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 6 มีคณะทำงานประสานสถานพยาบาล Hospitel เพื่อเป็นช่องทางรองรับบริการให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงที

รวมทั้งเป็นช่องทางติดต่อให้กับผู้ประกันตนที่ไม่สามารถหาสถานที่ตรวจ และสถานพยาบาลเข้ารับการรักษาในกรณีติดเชื้อได้ ซึ่งหลังการรับแจ้งเรื่องแล้ว เจ้าหน้าที่จะรีบประสานส่งตัวผู้ติดเชื้อ เข้าสู่ระบบการรักษาจะอยู่ที่โรงพยาบาล หรือ Hospitel ก่อนลำดับแรก

“ขอให้ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลและมั่นใจได้ว่า รัฐบาล กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถให้การดูแลทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเท่าเทียม มีเตียงรองรับเพียงพอแน่นอน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า หากผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนแจ้งเข้ามาผ่านสายด่วน 1506 กด 6-7 ทาง สปส.จะประสานหาเตียงให้ และมีรถแอมบูแลนซ์ไปรับตัวเพื่อส่งโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง ตอนนี้ 1 วัน มียอดรับประมาณ 300 เตียง

ติดโควิด รักษาโรงพยาบาลไหน?

1. สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิฯ และสถานพยาบาลที่รับรักษาไม่สามารถให้การรักษาได้ หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

รับเงินชดเชย

มาตรา 33 กรณีลาป่วยรับค่าจ้าง 30 วันแรกจากนายจ้าง หากหยุดรักษาตัวเกิน 30 วัน สามารถเบิกสิทธิประโยชน์กรณีขาดรายได้ จากประกันสังคมนับตั้งแต่วันที่ 31 ของการลาป่วย (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่) ซึ่งจะได้รับเงินทดแทนร้อยละ 50 ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน

มาตรา 39 รับเงินทดแทนขาดรายได้ร้อยละ 50 โดย คิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบ (4,800 บาท) ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่โรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วัน (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่)

มาตรา 40 รับเงินทดแทนขาดรายได้ตามทางเลือก 1-2-3 โดยต้องนำส่งเงินสมทบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนเดือนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย (ยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01/ม.40 โหลดแบบฟอร์มได้โดยคลิกที่นี่)