ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่

หนังสือ
คอลัมน์ : Matichon book club


ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

 

ผ่านมา 4-5 วันแล้วสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 20 ณ สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งในปีนี้ต้องยอมรับว่าแฟนานุแฟนหนอนหนังสือของสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต่างเดินทางมาเลือกซื้อหนังสืออย่างคับคั่ง

โดยเฉพาะบูท A16 ของสำนักพิมพ์มติชนที่ตั้งอยู่ชั้น 1 บริเวณทางเชื่อมต่อ MRT สถานีกลางบางซื่อที่เหล่าบรรดาหนอนหนังสือต่างมากัดแทะ 6 หนังสือไฮไลต์ และหนังสืออื่น ๆ จนทำให้บูทของสำนักพิมพ์ดูคับแคบถนัดตา

กล่าวกันว่า 6 หนังสือไฮไลต์ของสำนักพิมพ์มติชนปีนี้ อันได้แก่ ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส ผู้เขียนคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล, ทหารของพระราชา ผู้เขียนคือ เทพ บุญตานนท์, Who We Are and How We Got Here ดีเอ็นเอปฏิวัติ ผู้เขียนคือ David Reich ส่วนผู้แปลคือ ก้อง พาหุรักษ์, เล่นแร่แปลภาพ ผู้เขียนคือนักรบ มูลมานัส, สิ่งที่เคยมอง แต่ไม่เคยเห็น ผู้เขียนคือ หนุ่มเมืองจันท์ และ My Brain Has Too Many Tabs Open ปิดแท็บชีวิตแค่ปิดโซเชียล ผู้เขียนคือ Tanya Goodin ส่วนผู้แปลคือ พรรษรัตน์ พลสุวรรณา

เพียงแต่ในที่นี้ ผมขออนุญาตแนะนำ 2 เล่มก่อนคือ “Who We Are and How We Got Here ดีเอ็นเอปฏิวัติ” และ “เล่นแร่แปลภาพ” เพราะหนังสือทั้ง 2 เล่มนี้ต่างเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เพียงแต่เล่มแรกเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเผ่าพันธุ์มนุษย์เชิงลึกอันเกี่ยวเนื่องกับดีเอ็นเอของคนโบราณ ขณะที่เล่มสองเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ภาพถ่ายตั้งแต่เริ่มมีกล้องเข้ามาครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่มาได้รับความนิยมจริง ๆ คงราวสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

ดังนั้น ภาพที่เห็นเบื้องหน้า จึงมีความหมายแห่งเบื้องหลังซ่อนอยู่อย่างน่าสนใจ

สำหรับเล่มแรกผู้เขียนต้องการนำเสนอแง่มุมใหม่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ผ่านกรอบการศึกษาดีเอ็นเอโบราณ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีเทคโนโลยีในการศึกษาเพียงพอ แต่หลังจากนักวิจัยร่วมกันพัฒนาวิธีสกัดดีเอ็นเอจากกระดูกมนุษย์โบราณ และลองผิดลองถูกมานับสิบ ๆ ปี

จนที่สุด โลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของพันธุศาสตร์ที่เปิดเผยให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นเคยอพยพถิ่นฐานอย่างไร ? และกลุ่มประชากรต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ?

ซึ่งความสนุกของการอ่านอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่ตัวหนังสือค่อย ๆ ถูกอธิบายโดยผู้เขียน ขณะที่เราในฐานะผู้อ่านก็จะพลอยตื่นเต้นไปกับตัวหนังสือที่ค่อย ๆ ถูกเฉลยในแต่ละบท แต่ละตอน

ส่วนเล่มที่สองจะแตกต่างจากเล่มแรก เพราะผู้เขียนต้องการแปลภาพถ่ายของสยามยุคแรก ๆ ให้ออกมาเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โดยมีเรื่องราวของชนชั้นสูง และความเกี่ยวพันกับช่างภาพชาวตะวันตกที่มีโอกาสเยือนสยามเมื่อหลายร้อยปีก่อน

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงอยู่ที่ภาพถ่ายที่ปรากฏในแต่ละบท หากยังอยู่ที่ความนัยที่ซ่อนอยู่ในแต่ละภาพด้วย เพราะทุกภาพล้วนเป็นสิ่งที่น่าค้นหาคำตอบทั้งสิ้น และไม่เฉพาะแต่ตัวบุคคลเท่านั้น หากยังซ่อนถึงความสัมพันธ์ของบุคคลชั้นสูงในราชวงศ์, พระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงอาคารทางด้านสถาปัตยกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ผมจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านไปหาซื้อหนังสือทั้ง 2 เล่ม…แล้วจะทราบว่าน่าสนใจเพียงใด