TKC เติมความรู้สู่ชุมชน เพิ่มผลผลิต ยกระดับชีวิตเกษตรกร

ระหัดวิดน้ำสีแดงขนาดใหญ่กลางบึงน้ำใสสะอาด กำลังผลักสายน้ำขึ้นไปในอากาศ โดยใช้ปั๊มสูบน้ำพ่นใส่ใบกังหัน มีกังหันตีน้ำพลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ติดตั้งไว้ลอยอยู่ไม่ไกล ทำหน้าที่เพื่อเติมออกซิเจนให้กับน้ำ ไม่ให้เกิดภาวะน้ำเสีย

ใกล้ ๆ กันกับกังหันลมรูปแบบน่ารักน่าเอ็นดู หมุนใบพัดตามกระแสลม รอบ ๆ บริเวณยังมีแปลงผักนานาชนิด โรงเรือนเพาะชำต้นกล้า โรงเรือนเพาะปลูกพืชออร์แกนิก

รวมถึงอาคารครึ่งไม้ครึ่งปูน ล้วนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาดต่าง ๆ กันไว้ตามจุดรอบอาณาบริเวณในที่ทำการของ “มูลนิธิณัฐภูมิ” ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

มูลนิธิแห่งนี้ก่อตั้งโดย “ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย” เจ้าของบริษัท ต๊อกกวง นักธุรกิจตัวแทนจำหน่ายเพชร และนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ โดยเขามีความตั้งใจอยากช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดลำปางให้มีสุขภาพที่ดี

รวมทั้งมีคุณภาพชีวิต และรายได้สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงรวบรวมเพื่อนฝูงคนที่รักนับถือมาช่วยกันสร้างความฝันให้เป็นจริง “บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC” จึงเป็นหนึ่งบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมสานฝันกับมูลนิธินี้

“สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ TKC บอกถึงการเข้ามาช่วยงานมูลนิธิณัฐภูมิว่าไม่ได้รู้จักมูลนิธิ แต่รู้จักคนก่อตั้งมูลนิธิ เพราะครอบครัวมีความสนิทสนมกัน จึงเข้ามาช่วยงาน โดยนำเทคโนโลยีของบริษัทมาช่วยพัฒนา สร้างโรงเรือนปลูกผัก สร้างระบบต่าง ๆ และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในโครงการของมูลนิธิตั้งแต่ปี 2563

สยาม เตียวตรานนท์

สิ่งที่ “สยาม” มองเห็นคือ เกษตรกรไทยเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น อเมริกาหรือโซนยุโรปแล้ว คนที่ประกอบอาชีพการเกษตรกรรมในประเทศเหล่านั้นมีรายได้ค่อนข้างสูง แต่เกษตรกรไทยกลับตรงกันข้าม และส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

ที่สำคัญ วิธีการทำการเกษตรก็เป็นแบบเดิม ๆ เช่นที่เคยทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ไม่มีความรู้ที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาในการปลูก หรือเพิ่มคุณภาพผลผลิตเพื่อสร้างรายได้

“บริษัทเราทำเกษตรไม่เป็น แต่เรามีเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าถ้าเรานำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการปลูก หรือนำเอาความรู้มาสอน มาอบรมให้เกษตรกรมีความรู้ ในแง่ของการลดต้นทุน เพิ่มรายได้

“ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นการยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรบ้านเรา สุดท้ายแล้วคนที่ประกอบอาชีพการเกษตรสามารถมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

TKC ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการงานวิศวกรรมด้านงานสื่อสารโทรคมนาคม วางระบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้งและพัฒนาซอฟต์แวร์ จึงเริ่มต้นด้วยการเลือกนำเทคโนโลยีมาช่วยทำ “สมาร์ทฟาร์มมิ่ง” สร้างพื้นที่สาธิตต้นแบบทางการเกษตร

เริ่มต้นจากการทำระบบน้ำหยดในแปลงผัก, มีการวิเคราะห์ดิน, วิเคราะห์สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการปลูกผัก, ติดตั้งระบบคอนโทรลเชื่อมกับ IOT เพื่อจะให้เป็น “พื้นที่สาธิตต้นแบบทางการเกษตร”

พร้อมกันนั้น ยังติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในการลดต้นทุนการใช้พลังงานในมูลนิธิ ปรากฏว่าผลผลิตที่ออกมาได้คุณภาพตามที่ตั้งใจ ขายได้ราคาดี อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการเพาะปลูกในจังหวัดลำปางคือ เกษตรกรมักเผชิญกับสารพิษ ยาฆ่าแมลง

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ TKC หันมาส่งเสริมเป็นเรื่องของเกษตรอินทรีย์ต่อเนื่องกันไป และเทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้คือ “โดรนเพื่อการเกษตร” เพื่อช่วยในการพ่นปุ๋ยสารอินทรีย์ที่เป็นของเหลว หรือสารละลายน้ำต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นสารเคมีเพื่อฆ่าศัตรูพืช

ข้อดีของโดรนชนิดนี้คือ เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสกับยาฆ่าแมลงโดยตรง ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภค เพราะจากสถิติปี 2563 เกษตรกรในจังหวัดลำปางใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงมาก

ส่งผลให้เกิดการสะสมในร่างกายจนกลายเป็นมะเร็งในที่สุด จังหวัดลำปางจึงมีผู้ป่วยใหม่ที่เป็นโรคมะเร็งมากที่สุดในพื้นที่ภาคเหนือ

ในอนาคตโดรนเพื่อการเกษตรจะมีการพัฒนาให้มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังจะสนับสนุนให้มูลนิธิใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยจะสนับสนุนการติดตั้งและใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นในบริเวณพื้นที่มูลนิธิ

อีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก และจะสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรในมูลนิธิคือ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร”

“สยาม” อธิบายตรงนี้ว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าในแปลงเกษตรได้มากขึ้น โดยการใช้ระบบกล้องออนไลน์คือ เริ่มต้นจากการจัดสรรพื้นที่ให้คนสามารถเป็นเจ้าของแปลงผักได้โดยไม่ต้องลงมือปลูกเอง และสามารถมาพักผ่อนท่องเที่ยวได้ทุกเวลาตามต้องการ

“มูลนิธิจะเป็นผู้ปลูกให้ แล้วเจ้าของแปลงผักเข้าออนไลน์มาดู และสามารถเลือกว่าจะปลูกอะไร ให้เกษตรกรปลูกให้อย่างไร ผลผลิตเป็นอย่างไร โดยดูแลผ่านกล้องทางมือถือ นี่คือสิ่งที่อยู่ในแผน และหากสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ เชื่อว่าเกษตรกรในโครงการของมูลนิธิจะอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มีรายได้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญ ไม่ต้องผจญกับสารพิษที่อันตราย”

ขณะเดียวกันก็สามารถทำการเกษตรแบบปลอดภัย ส่งผลให้ผู้บริโภคในชุมชนได้ผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ เป็นสังคมเกษตรปลอดภัย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด