คิดแบบ เพลา เพลิน ชูสมุนไพรไทยสร้างชุมชนยั่งยืน

เมื่อปี 2564 กระแสกัญชาเป็นที่พูดถึงกันมากภายหลังจากภาครัฐปลดให้เป็นพืชถูกกฎหมาย ส่งผลให้ธุรกิจกัญชาคึกคัก เช่นเดียวกับ “เพลา เพลิน” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องพืชพรรณสมุนไพร มีโซนชมไม้ดอกไม้ประดับ เพาะเลี้ยงขยายพืชพันธุ์หลายประเภท ทั้งจัดแสดงในอาคารและแปลงผลิต ก่อนขยายมาสู่ธุรกิจโรงแรมรองรับนักท่องเที่ยว

โดยช่วงปีที่ผ่านมา “เพลา เพลิน” หันมาโฟกัสเรื่องเชิงการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากมีโรงปลูกกัญชาระบบปิดเกรดทางการแพทย์ (medical grade)ไม่เพียงเท่านั้นยังมีศูนย์เรียนรู้เรื่องกัญชาเพื่อการแพทย์ ส่งผลให้มีคนเข้ามาศึกษาดูงานจำนวนมาก

“ธนัชชา ชลายนนาวิน” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท เพลา เพลิน บูติค รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่ากระแสกัญชาส่งผลให้เพลา เพลินกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากซบเซาเพราะพิษโควิด-19 ทำรายได้หายไปถึง 100% เพราะรายได้หลัก ๆ ของเรามาจากศูนย์การเรียนรู้ ตามด้วยโรงแรม

โชคดีที่ปี 2564 ธุรกิจของเราเริ่มฟื้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง อย่างแรกคนรู้จักเราในฐานะเป็นแหล่งปลูกกัญชา เนื่องจากเราทำงานร่วมกับโรงพยาบาลคูเมือง ซึ่งเป็นโรงผลิตยาสมุนไพรที่ได้รับมาตรฐานจาก GMP แห่งเดียวในบุรีรัมย์ ทดลองปลูกกัญชาเกรดการแพทย์ ประจวบเหมาะกับเรื่องกัญชาถูกพูดถึงมาก

ธนัชชา ชลายนนาวิน

“โดยเราปลูกกัญชาในห้องที่เป็นระบบปิด เป็นห้องเดิมที่เราเคยใช้ปลูกดอกทิวลิป ส่วนกัญชาที่เราปลูกเป็นสายพันธุ์ Charlotte’s Angel นำเข้ามาจากต่างประเทศ เนื่องจากสายพันธุ์นี้มีระดับสาร CBD (cannabidiol) ที่สูงและมีส่วนผสมของ THC (tetrahydroconnabinol) น้อย เหมาะกับการนำไปต่อยอด

แต่มีข้อเสียคือเป็นสายพันธุ์ไม่ทนร้อน ทำให้เลือกที่จะปลูกในระบบปิดเพื่อควบคุมแสง อุณหภูมิ มีระบบควบคุม สามารถใช้แอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยในเรื่องของการให้น้ำและปุ๋ยได้ เมื่อถึงเวลาก็เก็บช่อดอกส่งขายให้กับทางโรงพยาบาลนำไปพัฒนาต่อ”

“แต่ทั้งนั้นก็อยู่ที่เป้าหมายว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไร ถ้าเน้นเอา THC หาได้ง่ายในสายพันธุ์ไทย เช่น หางกระรอก, ตะนาวศรี แต่ถ้าเน้น CBD ต้องยอมรับว่าตอนนี้ยังต้องนำเข้าสายพันธุ์ต่างประเทศ และยังต้องพัฒนาสายพันธุ์กันอยู่ อย่างน้อย 3-5 ปีถึงจะได้เห็นสายพันธุ์ไทยที่ CBD สูง ทนร้อน และปลูกแบบ outdoor ได้”

“นอกจากนั้น ก็ทำงานร่วมกับหลาย ๆ หน่วยงาน ทำวิจัยหาสารสกัดของส่วนที่เป็นลำต้น ใบ ราก มีสกัดเป็นน้ำมันกัญชาทางการแพทย์จนได้การยอมรับจากองค์การเภสัชกรรม ปัจจุบันเริ่มกระจายให้กับคลินิกและสาธารณสุขจังหวัดได้ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชัก โรคมะเร็ง และอีกหลากหลายโรค และก็มีงานวิจัยเพื่อเป็นส่วนผสมคอสเมติกร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นครีมบำรุง เจลอาบน้ำ สบู่ ฯลฯ ตอนนี้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ภายใต้แบรนด์ AKAYA มีสินค้าที่เป็นส่วนผสมของกัญชาราว 17 รายการ วางขายในศูนย์การเรียนรู้ และก็มีขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแล้ว”

“ธนัชชา” กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเพลา เพลินไม่ได้มีจุดขายแค่เรื่องกัญชาอย่างเดียว เพราะรายได้จากกัญชาไม่ได้มีเข้ามาทุกวัน เราปลูกแค่รอบละ 200-300 ต้น ไม่ใช่จำนวนมาก เรามองว่าประเทศไทยยังมีสมุนไพรไทยอีกเยอะมากที่เป็นพืชมหัศจรรย์ เรามีเครือข่ายวิสาหกิจ ศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพร เพลา เพลิน เพื่อชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนที่อยู่รอบ ๆ เพลา เพลิน จำนวนกว่า 30 คน

“ส่วนใหญ่เน้นปลูกสมุนไพรและผักเป็นหลัก มีไม่กี่คนที่มาช่วยดูแลโรงปลูกกัญชาภายในศูนย์ แล้วเราก็มีเครือข่ายชุมชนโนนมาลัยโมเดล ตามนโยบายปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ที่ไปช่วยเรื่องการปักชำ และเน้นให้ปลูกเพื่อนำไปทำอาหาร ทำยาไทย สูตรสมุนไพรไทย แต่ถ้าจะปลูก-ผลิตเพื่อไปทำยาต้องมีออร์เดอร์จากเรา คือต้องปลูกแบบมีพาร์ตเนอร์ ไม่ใช่ปลูกแล้วไม่รู้จะไปขายให้ใคร”

“สำหรับชาวบ้านที่ปลูกพืชสมุนไพรทั่วไป เราช่วยในเรื่องการปลูกเช่นกัน ด้วยการพาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเทรนว่าปลูกอย่างไรให้ได้คุณภาพ ดินเป็นอย่างไร ความชื้นเท่าไหร่ โดยตั้งเป้าว่าพืชทุกชนิดที่ปลูกได้จะต้องเป็นเกรดที่อุตสาหกรรมต้องการปลูกแล้วก็ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ภายใต้แบรนด์ AKAYA

เพราะเราไม่อยากให้สมุนไพรของชุมชนทำแล้วไปอยู่แค่ใน OTOP แต่อยากให้มีมาตรฐานมากกว่านั้น คือได้รับการยอมรับที่ถูกต้องและส่งออกได้”

“ธนัชชา” กล่าวอีกว่า ตอนนี้เทรนด์สุขภาพมาแรง ล่าสุดเพลา เพลินเปิด “เอกยาสหคลินิก” ภายในศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นศูนย์ Wellness แห่งแรกในบุรีรัมย์ โดยเป้าหมายหลัก ๆ คือ

หนึ่ง อยากให้ความรู้คนไทยในเรื่องการดูแลสุขภาพ

สอง ยกระดับสมุนไพรไทย โดยภายในเอกยาสหคลินิก มีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องยา สมุนไพรต่าง ๆ พร้อมทั้งให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมทั้งแพทย์แผนไทย แผนจีน และห้องหัตถการ 3 ห้อง ซึ่งมีคลิกนิกกัญชาทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลคูเมืองด้วย

อีกทั้งยังปั้น AROKAYA Wellness Sala เป็นโครงการด้านการดูแลสุขภาพผสมผสานเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเรียนรู้ร่วมกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์และชุมชน

“สิ่งที่ต้องการนำเสนอในโครงการ คือ นำเสนอจุดเด่นของพื้นที่ในการเชื่อมโยงตำนานรักษาอโรคยาศาล 2 ยุค ซึ่งอโรคยาศาล แปลตามตัวอักษร คือ ศาลาไร้โรค หรือสถานพยาบาล สิ่งที่เสนอคือการรักษาโรค 2 ยุค ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ดูว่ามีการรักษาโรคอย่างไรในสมัยนั้น

กว่าจะได้ยาแต่ละตัวต้องมีการผสมสมุนไพรสูตรต่าง ๆ จนมาสู่ยุคนี้ที่มีศูนย์สุขภาพองค์รวม AROKAYA Wellness Sala แห่งบุรีรัมย์ และเป็นยุคของกัญชา-กัญชงทางการแพทย์”

“เราต้องการให้คนสนใจเรื่องสุขภาพตนเอง ต้องป้องกันก่อนรักษา และเข้าใจถึงศาสตร์ธรรมชาติ และสมุนไพรที่ใช้นวัตกรรมเข้าไปสร้างมาตรฐานและความปลอดภัยที่นำมาใช้ในการรักษาทั้งแผนไทย แผนจีน แผนปัจจุบัน รวมถึงคลินิกกัญชา และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เราพัฒนา”

“ธนัชชา” กล่าวในตอนท้ายว่า เป้าหมายต่อไปของ “เพลา เพลิน” คือการส่งต่อความรู้ทั้งในเรื่องศาสตร์ชีวิต สมุนไพรไทย เพื่อจะได้เห็นเรื่องตัวผลิตภัณฑ์ที่เราจะพัฒนาออกมาเป็นการยกระดับสมุนไพร เราอยากพัฒนาบุรีรัมย์ให้เป็นฮับ wellness tourism ในภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านที่น่าจะได้เห็นภายในไม่เกิน 3-5 ปี

“ถ้าเปิดประเทศเราน่าจะพร้อม เพราะประเทศเพื่อนบ้านมักจะข้ามฝั่งมารักษาในประเทศไทยไม่น้อย ตอนนี้มีตลาดต่างประเทศเริ่มสนใจอยากมาดูงานที่เพลา เพลิน เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, สิงคโปร์ แล้วก็มีบางประเทศอยากได้วัตถุดิบสมุนไพรจากเรา และผลิตภัณฑ์ของเราไปจำหน่าย”

“หากเป็นเช่นนี้ก็จะเกิดการสร้างรายได้ให้แก่วิสาหกิจชุมชนของเราด้วย”