คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก เจมาร์ท-เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery

โจทย์ของธุรกิจอาจผันแปรไปตามบริบทของสังคมโลก ยิ่งเฉพาะโลกของธุรกิจในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หากใครไม่ปรับเปลี่ยน อาจถูกดีดให้ออกไปจากการทำธุรกิจในระดับสากล

จนไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด

ถึงตรงนี้ จึงทำให้เรา ๆ ท่าน ๆ มองเห็นการเปลี่ยนผ่าน บนความเปลี่ยนแปลงของหลายธุรกิจ ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น หากธุรกิจขนาดกลาง ธุรกิจเอสเอ็มอี ต่างจะต้องดำเนินธุรกิจเพื่อตั้งรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ให้ดี

ผ่านมาตลอดปี 2560 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจอาจโฟกัสเรื่องดังกล่าวในมหานครกรุงเทพเป็นหลัก เพราะนักธุรกิจโดยรวมในก้อนใหญ่ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯต่างทำมาหากินอยู่เมืองหลวง แต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ผ่านมา เราโฟกัสไปที่เชียงใหม่อันเป็นจังหวัดหัวเมืองหลักที่มีนักธุรกิจจากเมืองหลวงขึ้นไปลงทุนในกิจการต่าง ๆ มากที่สุด ขณะเดียวกันก็มีนักธุรกิจท้องถิ่นจำนวนมากที่พยายามปรับตัวเพื่อหาโอกาสบนความเปลี่ยนแปลง

จึงกลายเป็นที่มาของโจทย์สัมมนาแห่งปีครั้งนี้ ในชื่อว่า “เชียงใหม่ 2018 จุดเปลี่ยน…ประตูสู่โอกาส” ที่มีตัวแทนของภาคธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบันที่เติบโตจากธุรกิจขนาดเล็ก กระทั่ง 28 ปีผ่านไป บริษัทของเขาสามารถแตกไลน์ธุรกิจครอบคลุมหลาย business unit จนกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯชื่อว่า บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน)

โดยมี “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมอง พร้อม ๆ กับ “สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ” ผู้ก่อตั้งร้าน เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery ที่ปัจจุบันมีความคิด ความฝัน และเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เบื้องต้น “อดิศักดิ์” บอกเล่าถึงเส้นทางการดำเนินธุรกิจให้ฟังว่า ผมจบมหา’ลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นจึงไปทำทิสโก้อยู่ประมาณ 2 ปี จึงมีแบ็กกราวนด์เรื่องการเงินพอสมควร แต่ยังขาดสิ่งที่ชอบคือเรื่องค้าขาย ผมจึงย้ายไปทำงานที่ฟิลิปส์ 7 ปี เพื่อหาประสบการณ์ ผมเรียนรู้ไปจนถึงระดับหนึ่ง จึงคิดอยากมีธุรกิจของตัวเอง ที่สุดจึงออกมาเปิดบริษัทเองในชื่อเจมาร์ท

“ตอนแรกผมมีเงินทุนอยู่ประมาณ 2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเรามี 5-6 กลุ่มธุรกิจ และจากการที่เราเปิดบริษัทมา 28 ปี ตอนนี้มี 4 บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีอีก 3 บริษัทที่กำลังจะเข้าตลาด ทั้ง 7 บริษัท ผมมีมาร์เก็ตแคปรวมกันประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาททั้ง ๆ ที่ 28 ปีสมัยก่อตั้งเราเริ่มจากห้องแถวเล็ก ๆ แถวถนนพัฒนาการเอง ที่ผมเล่าให้ฟังอย่างนี้เพื่ออยากให้เห็นภาพว่าแม้เราจะเริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ แต่เราสามารถเติบโตขึ้นมาได้”

ถึงตรงนี้ “สุรีรัตน์” จึงเล่าในมุมเดียวกันให้ฟังว่า พอเรียนจบมหา”ลัยก็มาเป็นเซลส์โดยตลอด เพราะชอบขายของ แม้จะทำธุรกิจเจ๊งมา 3 ครั้ง แต่ยังอยากทำอยู่ สำหรับการมาทำเจคิวปูม้านึ่ง เริ่มต้นจากการที่เรานำปูของที่บ้านมาขายส่งให้กับร้านอาหาร และโรงแรม

“ช่วงแรก ๆ โดนยกเลิกออร์เดอร์ บางวันสั่งมา 50 กิโลกรัม ลดเหลือ 30 กิโลกรัม อีก 20 กิโลกรัมไม่สนใจเลย เราจึงนำสินค้าไปแจกเพื่อน ๆ พอแจกบ่อย ๆ ก็ขาดทุน จึงคิดว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างกับตรงนี้ ถ้าเปิดร้านอาหารก็เสี่ยงเกินไปกับงานประจำที่กำลังทำอยู่ พอดีไปอ่านงานวิจัย เพราะตัวเองชอบมองหาโอกาสตลอดเวลา และเนื้อหาของงานวิจัยธนาคารแห่งหนึ่งบอกว่าธุรกิจดีลิเวอรี่จะเติบโตในเมืองใหญ่ เขาอ้างอิงจากร้านอาหารปิ่นโต จริง ๆ คนไทยมีการดีลิเวอรี่อยู่แล้วด้วยการผูกปิ่นโตทาน แต่ด้วยระบบที่ซับซ้อนจึงไม่สามารถขยาย หรือเติบโตได้”

“พอเราอ่านก็พบว่าเป็นเรื่องจริง และตอนนั้นรู้สึกสับสนกับธุรกิจ แม้จะมีปูม้าที่พอจะขายได้ แต่มองไม่เห็นว่าจะใช้วิธีไหนขายดี เพราะตอนนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างโซเชียลมีเดียที่กำลังเข้ามา กับชีวิตในความเป็นจริง แต่สิ่งที่เตือนเราเสมอคือถ้าจะทำอะไรสักอย่าง ควรไม่เหมือนเดิม เนื้อหาในงานวิจัยก็ซัพพอร์ตความคิดของเรา จนวันหนึ่ง เราสั่งพิซซ่ามากิน เอ๊ะ…มันง่ายมาก แค่สั่ง เขาก็มาส่ง และก็จ่ายตังค์ ดิฉันคิดเดี๋ยวนั้นเลยว่า เราน่าจะทำได้ แค่เปลี่ยนจากพิซซ่ามาเป็นปูม้านึ่งก็เท่านั้นเอง”

“เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery จึงเริ่มต้นจากตรงนั้น ที่สำคัญ เราเป็นคนไม่เคยกลัวปัญหา ไม่มองว่าทุกอย่างยาก ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังไม่มีระบบโลจิสติกส์อะไรทั้งสิ้น เราก็ใช้วินมอเตอร์ไซค์จากหน้าปากซอยเป็นคนส่งของ โทรศัพท์ก็รับออร์เดอร์เอง ขณะเดียวกันเราก็ลงมือนึ่งปูเองตั้งแต่วันนั้น”

แต่กระนั้น ให้เกิดคำถามตามมาว่า การหาข้อมูลเพื่อข้ามจากสเต็ปหนึ่งไปอีกสเต็ปหนึ่งมีวิธีการอย่างไร “อดิศักดิ์” บอกว่า จริง ๆ อยู่ที่ความบ้าในตัวพอสมควร อย่างตอนที่ผมออกจากฟิลิปส์มาเริ่มธุรกิจที่เจมาร์ท แม้ผมจะถนัดเรื่องขายเครื่องใช้ไฟฟ้า และผมยังเคยมาขายให้ร้านนิยมพานิช และสหพานิช จ.เชียงใหม่ด้วย ตอนนั้นผมคิดอย่างเดียวว่าจะขายเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้อยู่ได้ ก็เลยไปลอกเลียนแบบวิธีขายเงินผ่อนของซิงเกอร์

“ผมมองซิงเกอร์เป็นเทวดา ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นทุกอย่างของธุรกิจที่ผมทำด้วย ปรากฏว่าทำไปได้เพียง 5 ปี เริ่มเจอคู่แข่งเข้ามาอย่างอิออน เมื่อก่อนดอกเบี้ยเงินผ่อนอยู่ที่ 4-5% แต่พออิออนเข้ามาเหลือแค่ 2-2.5% เราคิดว่าคงสู้ไม่ได้ จึงปรับเปลี่ยนธุรกิจของตัวเอง ด้วยการหันมาขายมือถือแทน เพราะว่ามือถือมี high margin แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าเงินผ่อนแบบซิงเกอร์ไม่เวิร์กแล้ว พอผมปรับเปลี่ยนธุรกิจ ทำให้ผมค้นพบว่าการเข้ามาสู่ธุรกิจร้านมือถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องอย่างยิ่ง”

“ผมถือว่าโชคดี จากวันนั้นที่เข้าไปจนถึงวันนี้ ยังไม่พบว่าธุรกิจนี้เป็นขาลง ฉะนั้นธุรกิจนี้จึงติดลมบนมาจนถึงปัจจุบัน หลายคนเข้าใจว่าเจมาร์ทขายมือถืออย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วธุรกิจของเราคือธุรกิจการเงิน เพราะหลังจากที่เรานำประสบการณ์ในช่วงแรกมาใช้ระบบผ่อนมือถือ จนทำให้ลูกค้ามาใช้บริการของเจมาร์ทมากขึ้น กระทั่งขยายสาขาไปทั่วประเทศ”

“ต่อจากนั้นเราเริ่มมีธุรกิจใหม่เรียกว่า ธุรกิจติดตามหนี้ด้อยคุณภาพ ตอนนั้นเรามีพนักงานอยู่ส่วนหนึ่งที่ต้องออกไปเก็บเงิน แต่ปรากฏว่าเราทยอยดรอปธุรกิจเช่าซื้อ เราจึงมีพนักงานเหลือ จนมาเปิดบริษัท เจเอ็มทีเน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส จํากัด (มหาชน) ปรากฏว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในหมวดของการเงิน และวันที่เราเข้าตลาดปี 2012 มาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท แต่วันนี้บริษัทซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมา 1.2 แสนล้านบาท โดยเราใช้เงินของเราเอง 5 พันกว่าล้านบาท แต่ปัจจุบันมาร์เก็ตแคปของบริษัทนี้อยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท”

“อดิศักดิ์” บอกว่า แม้เจมาร์ทจะเข้าตลาดเมื่อปี 2009 ด้วย valuation 540 ล้านบาท แต่วันนี้เราอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 8 ปี โดยระหว่างทางเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เรามีอีกบริษัทหนึ่งชื่อบริษัท เจเอเอสแอสเซ็ท จํากัด (มหาชน) ทำหน้าที่บริหารพื้นที่เช่า และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังทำหน้าที่เก็บเงินที่ค้างชำระของหลาย ๆ บริษัท

“บริษัทนี้ได้พื้นที่มาจากบิ๊กซี เขาให้โอกาสเราซอยพื้นที่ออกเป็นห้อง ๆ และให้คนขายมือถือเช่า ช่วงแรกเจ๊ง ไม่มีใครเช่า เราจึงหาวิธีเปิดเอง กระทั่งเริ่มมีกำไร และบิ๊กซีให้เราเปิดพื้นที่เพิ่มอีก 50 แห่ง ต่อจากนั้นเราจึงไปเปิดคอมมิวนิตี้มอลล์อีก 3 แห่ง ผมลงทุนไปประมาณ 1,500 ล้านบาท และในปี 2015 เราทำอีก 2 เรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมาก เพราะผมเข้าไปซื้อซิงเกอร์ที่ครั้งหนึ่งผมเคยมองบริษัทนี้เป็นเทวดา”

“ปีเดียวกันนั้น ผมเปิดอีกหนึ่งบริษัทเพื่อมาทำธุรกิจเกี่ยวกับฟินเทค เป็นธุรกิจสินเชื่อผ่านมือถือเรียกว่า บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ปัจจุบันเราปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.4 แสนราย มูลค่า 3,000 กว่าล้านบาท ภายใต้แอปพลิเคชั่น เจ มันนี ส่วนบริษัทสุดท้าย คือ บริษัท เจเวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเราลงทุนไป 100 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทนี้มีหน้าที่ทำแอปพลิเคชั่นให้กับทุกบริษัทในกลุ่ม ทั้งยังเป็นบริษัทสตาร์ตอัพไปในทางเดียวกันด้วย”

เพราะ “อดิศักดิ์” เชื่อว่าถ้าจะทำอะไร ต้องเป็นที่หนึ่งให้ได้ ผมมีคำที่ใช้สอนตัวเองอยู่คำหนึ่ง คือ “Make the dust, don”t eat the dust” คำนี้จริง ๆ มีความหมาย แต่ถ้าฟังเผิน ๆ เหมือนไม่รู้แปลว่าอะไร แต่ถ้าคุณลองจินตนาการตามดูว่า ถ้าเรามีรถ 3 คัน ทุกคันวิ่งไปทางดอยสะเก็ด เข้าซอยลึกไปในหมู่บ้าน ถนนเป็นดินลูกรัง ผมอยากถามว่ารถ 3 คันนี้ คุณจะนั่งคันไหน

“ทุกคนคงตอบเหมือนกันคือคันที่ 1 เพราะจะได้ไม่กินฝุ่น ฉะนั้นในการทำธุรกิจ ถ้าเราไม่เป็นที่ 1 ผมคิดว่าไม่ควรทำ ตรงนี้จึงตอบทุกคนได้ว่าเมื่อ 28 ปีที่แล้ว เราคือโนบอดี้ ไม่มีใครรู้จัก แต่วันนี้ธุรกิจของเราอยู่ในระดับต้น ๆ ของประเทศ ผมจึงอยากบอกว่าใครที่คิดว่าตัวเองยังเล็ก คิดใหม่เลยนะครับ เราต้องเชื่อใจตัวเราเอง เพราะผมยังใช้เวลา 28 ปี กว่าจะพิสูจน์ตัวเองจนก้าวมาถึงวันนี้”

“ดังนั้นก้าวต่อไปในธุรกิจของเราจึงพยายาม synergy ของในกลุ่มธุรกิจ ทุกวันนี้เราไม่เคยกลัวว่าใครจะเป็นหนี้เรา เพราะเราอยากให้ทุกคนเป็นหนี้เรา (หัวเราะ) เพราะถ้าคุณทำธุรกิจการเงิน คุณต้องปล่อยเงิน แต่ถ้ากลัวว่าคุณเก็บเงินไม่ได้ เราไม่กลัว เพราะเรามีบริษัทเก็บเงิน ผมไปซื้อพอร์ต 6,000 ล้าน จากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด หนี้ดีทิสโก้เอาไป หนี้เสียเขาส่งมาให้เรา ที่สุดผมซื้อมาในราคา 300 กว่าล้านบาทเอง ขนาดหนี้เสียเรายังซื้อเลย”

“ผมถึงกล้าพูดว่าลูกค้าในเมืองเจมาร์ทจะครอบคลุมทั้งหมด แต่ถ้าต่างจังหวัดผมจะให้ซิงเกอร์ครอบคลุมแทน แล้วเราจะทรานส์ฟอร์มในเมืองเป็นฟินเทคผ่านแอปพลิเคชั่นให้มากที่สุด ต่างจังหวัดอาจเป็นแอนะล็อกบ้าง ดิจิทัลบ้าง แต่ถ้าง่ายที่สุดคือการทำธุรกิจผ่าน e-Catalog หรือผ่านแท็บเลต โดยไม่ต้องพรินต์อะไรมากมาย ทั้งยังสามารถออนไลน์การส่งสินค้าไปยังที่ต่าง ๆ กว้างไกล สิ่งเหล่านี้ผมเชื่อว่าคือ what next ของเราที่จะเป็นไฟแนนซ์ บิสซิเนสในอนาคต”

ขณะที่ “สุรีรัตน์” บอกว่า สินค้าของเรามีตามธรรมชาติ และตามธรรมชาติปูม้าไม่ได้มีเยอะอยู่แล้ว แต่วิธีการเติบโต เราจึงต้องพัฒนาตัวเอง ตั้งแต่การรับออร์เดอร์ เรามีเบอร์เดียวทั่วประเทศ ผ่านระบบคลาวด์คอลเซ็นเตอร์ เราเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งด้วยการเลิกใช้กล่องโฟม โดยการหันมาใช้กล่องกระดาษ และกำลังพัฒนามาใช้ถาดฟอยล์ที่รีไซเคิลได้ 100% โรงน้ำจิ้มของเราผ่านระบบคลีนรูม และรับรองผ่าน อย.เรียบร้อยแล้ว ตรงนี้อาจทำให้เราเข้าคอนวีเนี่ยนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ตได้มากขึ้น เพื่อรองรับลูกค้าที่กำลังเติบโตตามมาด้วย

“นอกจากนั้นเรายังทำธุรกิจจัดเลี้ยง ด้วยการนำอาหารของเราไปจัดบนเรือยอชต์ที่พัทยา และภูเก็ต เราพบว่าเรือยอชต์ที่พัทยา หรือภูเก็ตออกทุกวัน และยังไม่เคยมีใครทำตลาดตรงนี้ เรามองว่าน่าจะเติบโตในตลาดตรงนี้ด้วย แม้ผ่านมาเราเข้ามาในธุรกิจนี้เมื่อปี 2012 หรือประมาณ 5 ปี เราอาจเริ่มต้นจากเล็ก ๆ แต่เรามีเป้าหมาย และมีความฝันในการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะปีที่ผ่านมาเราทำยอดขายถึง 600 ล้านบาท จึงทำให้มองว่าเป้าหมายอยู่เพียงแค่เอื้อมเท่านั้น”

“เพราะถ้าเจคิว ปูม้านึ่ง Delivery เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำให้คนรุ่นใหม่อีกหลายคนกล้ารุกที่จะขึ้นมาทำอะไรบ้าง เพราะดิฉันตั้งเป้าหมายว่าเจคิว ปูม้านึ่ง จะเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยที่มีมาตรฐานเดียวกับแบรนด์ระดับโลก ทั้งดิฉันยังเชื่อในคำพูดหนึ่งเสมอ คือคำว่า คุณจะไม่แพ้”

อันไปสอดคล้องกับ “อดิศักดิ์” ที่เขาใช้บอกตัวเองอยู่เสมอว่า…เราต้องเป็น winner เราจะแพ้ไม่เป็น