ชุมชนบ้านดอกบัว พัฒนาจากปัญหา

คอลัมน์ ตามรอยฟ้า

“การทำงานใด ๆ เราไม่เอาเงินมาเป็นตัวตั้ง แต่เอาใจของคนในชุมชนมาเป็นตัวทำงาน เพื่อให้เกิดความรัก และความหวงแหน”

คำกล่าวข้างต้นเป็นคำพูดของ “บาล บุญก้ำ” ผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอกบัว ต.บ้านตุ่น อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งเป็นชุมชนตัวอย่างที่มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริคัดเลือกให้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับชาวบ้านใน จ.แพร่ และพะเยา ในการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ และเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนของตนเอง

“บาล” เล่าถึงหลักการดำเนินโครงการของชุมชนว่า เริ่มจากการนำปัญหาเป็นที่ตั้ง โดยก่อนที่จะมาเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง เดิมทีเราทำนาโดยการซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าหญ้า แต่จุดเปลี่ยนของหมู่บ้านคือเมื่อปี 2532 มีชาวบ้านป่วยไปนอนที่โรงพยาบาล 1 คน และต้องการเลือดเร่งด่วน จึงได้ส่งคนในหมู่บ้านไปบริจาคเลือดจำนวน 10 คน ปรากฏว่ามีเพียง 1 คนที่สามารถให้เลือดได้ เพราะผลเลือดอีก 9 คนมีสารพิษตกค้าง

“จากนั้นเราจึงประสานสาธารณสุขตำบลให้เข้ามาทำการเจาะเลือดชาวบ้าน 763 คน ปรากฏว่า 90% มีสารพิษอยู่ในร่างกาย เราจึงนำเอาปัญหาตรงนี้มานั่งคุยกัน และทำเวทีประชาคมหมู่บ้าน พร้อมกับน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ จนนำไปสู่การสร้างโครงการ ลด ละ เลิก ด้านสารเคมี เมื่อปี 2532-2540 โดยให้ทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวแบบปลอดสารเคมี กระทั่งปัจจุบันชาวบ้านในหมู่บ้านไม่มีสารพิษในร่างกายแล้ว ทั้งยังมีการตรวจเลือดอยู่ตลอดทุก 6 เดือน”

“ปี 2549 เราจึงต่อยอดโครงการลด ละ เลิก ด้านสารเคมีมาสู่การรวมกลุ่มทำนาข้าวอินทรีย์ จนมาถึงปี 2560 มีสมาชิกทั้งหมด 169 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ทั้งยังจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินบ้านดอกบัว จำกัด โดยตอนนี้สหกรณ์มีเงินกว่า 2,700,000 บาท”

“โดยเราจัดให้มีการออมเงินทุกวันที่ 5 ของเดือน อัตราดอกเบี้ยฝากประจำ ร้อยละ 4 ฝากเพื่อถอนร้อยละ 3 และสมาชิกกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 6 ทั้งยังมีการรวบรวมการซื้อข้าวจากกลุ่มสมาชิกของสหกรณ์ที่ปลูกข้าวอินทรีย์แพงกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อนำมาแปรรูปส่งขายตลาดรับที่รับซื้อแน่นอน ส่วนเศษปลายข้าวที่เหลือ เราแปรรูปมาทำเป็นสบู่ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้”

“บาล” ยังบอกอีกว่าจุดอ่อนของชาวบ้านคือวิชาการ เราจึงประสานกับหน่วยงานภายนอก ส่วนใหญ่เป็นภาครัฐเพื่อให้มาช่วยสอนคนในชุมชน นอกจากนั้น ยังประสานกับสถาบันการศึกษามาร่วมทำวิจัย พร้อมกับขอข้อมูลกลับมาให้ชุมชนเพื่อจะได้รู้ว่าต้องพัฒนาอะไรต่อไปอีก

“ขณะที่จุดแข็งของชุมชนบ้านดอกบัวคือมีพื้นที่ป่าไผ่รวก 500 ไร่ ในเขตพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เราจึงพัฒนาฝีมือชาวบ้านในการสานผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่มาตั้งแต่ปี 2530 เพราะหากขายเป็นลำต้นจะตกเพียงลำละ 10-15 บาท แต่เมื่อแปรรูปเป็นเข่ง และสุ่มไก่ ไม้ไผ่ 1 ลำจะทำเงินได้ 90-100 บาท โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละครัวเรือนจะสานได้ถึง 30 ใบ”

“นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวไปอีกหลายตำบล เพื่อนำกลับมาขายที่บ้านดอกบัว โดยมีการหักรายได้จากการขายเข่งเข้ากลุ่มใบละ 1 บาท ส่วนสุ่มไก่จะหักใบละ 2 บาท และสมาชิกลงหุ้นได้ไม่เกินคนละ 10 หุ้น หุ้นละ 10 บาท จากนั้นจะให้สมาชิกกู้ สิ้นปีมีการปันผลให้สมาชิกตามจำนวนหุ้นที่มี เพื่อจะได้ไม่ต้องไปกู้เงินข้างนอก ทั้งยังมีการบริหารเงินบางส่วนไปช่วยกิจกรรมแข่งกีฬาต้านยาเสพติดในชุมชนอีกด้วย โดยถึงตอนนี้ทางบ้านดอกบัวมีกลุ่มที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ กลุ่มสานเข่ง, กลุ่มสานสุ่มไก่, กลุ่มโคพันธุ์พื้นบ้าน, โคพันธุ์พระราชทาน และกลุ่มโรงสีข้าวชุมชน”

“บาล” อธิบายเพิ่มว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ชุมชนบ้านดอกบัวลงมือทำ ส่งผลให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบดีเด่นชนะเลิศตามโครงการเชิดชูเกียรติผู้นำเครือข่ายพัฒนาดีเด่น ทั้งยังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เย็นเป็นสุข และหมู่บ้านพึ่งตนเองดีเด่นระดับจังหวัดพะเยา ในปี 2551

“ส่วนผมเองได้รับรางวัลผู้นำยอดเยี่ยมแหนบทองคำ และได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมถึงการประกาศเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงดีเด่นระดับประเทศ ปี 2553 และรางวัลชนะเลิศการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กระดับประเทศเมื่อปี 2554 ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย”

“ผมจึงเชื่อว่าจิตสำนึกของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ เพราะถึงแม้ชุมชนบ้านดอกบัวจะได้รับรางวัลมามาก แต่ถ้าไม่สืบทอดวิถีชีวิต ไม่เอาใจคน และมีคนมาทำ ก็ไม่ทางจะเกิดความยั่งยืน ดังนั้นหมู่บ้านของเราจึงส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่กลับมาทำงานในท้องถิ่น และตอนนี้เราส่งเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชนไปอบรม 4 คน กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้พวกเขากลับมาพัฒนา และสืบสานวิถีชีวิตของชุมชน”

“นอกจากนั้น ยังมีการกระจายอำนาจให้ลูกบ้านช่วยกันดูแล โดยตั้งประธานกรรมการแต่ละกลุ่มงาน จำนวน 10 กลุ่ม เมื่อถึงเวลาประชุมประจำเดือน ประธานของแต่ละกลุ่มจะต้องมาชี้แจงปัญหา และแผนงานต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้แก่สมาชิกฟัง ทางหนึ่งก็เพื่อรับรู้ปัญหาร่วมกัน ขณะที่อีกทางหนึ่ง ก็เป็นการพัฒนาคนไปพร้อม ๆ กันด้วย”

ยังมีการบริหารจัดการธุรกิจโฮมสเตย์ในหมู่บ้านอีกด้วย โดยบ้านของชาวบ้านจำนวน 25 หลัง และมีการใช้รถราง 1 คัน เพื่อพานักท่องเที่ยว เที่ยวตามฐานการเรียนรู้ 12 ฐาน เช่น ฐานชีวมวล เตาจากแกลบ ที่สามารถปรับใช้เตาแก๊สได้, ฐานสานเข่ง, ฐานข้าวอินทรีย์, ฐานเลี้ยงวัวพื้นเมือง และอื่น ๆ

นอกจากนั้น ยังมีตลาดสินค้าปลอดภัย ไร้สารเคมีในทุกวันศุกร์ ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมภายในชุมชนบ้านดอกบัว จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เฉลี่ยคนละ 5,000-7,000 บาทต่อเดือน โดยขายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดได้ปีละ 3,500,000-3,800,000 บาท ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียว

จะเห็นได้ว่าหากแต่ละชุมชนมีการวิเคราะห์ปัญหา รวมกลุ่มกัน และมีแนวทางที่ชัดเจน ก็จะทำให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการทำงานแบบบูรณาการ