สิทธิแรงงานและความเท่าเทียม

แรงงาน
Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP
คอลัมน์ : CSR TALK

ยังมีแรงงานอีกมากมาย ที่ยังไม่รู้ถึงสิทธิที่ตนเองควรได้รับ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิของแรงงานในภาคก่อสร้าง เป็นเรื่องที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และสังคมไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามให้ความรู้ และความเข้าใจกับแรงงาน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้ทราบสิทธิที่พึงได้รับของตน และสามารถเข้าถึงการบริการได้ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน

ในประเทศไทย มีแรงงานในธุรกิจก่อสร้างอยู่ที่ 2.7 ล้านคน โดยเป็นแรงงานไทยจำนวน 2.2 ล้านคน และแรงงานข้ามชาติ 500,000 คน หรือคิดเป็น 17% ของภาคแรงงานทั้งหมด (ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน) และมีแรงงานข้ามชาติหญิงในธุรกิจก่อสร้างสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คือ 200,000 คน หรือ 40% ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด

โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา, เมียนมา และลาว ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิที่พึงมีมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มแรงงานด้วยกัน

การใช้แรงงานที่ถูกกฎหมาย และดูแลการจ้างงานให้สวัสดิการอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นเรื่องที่อาจเพิ่มต้นทุนให้กับนายจ้าง แต่ถ้าคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิตามสมควร จึงเป็นประเด็นที่ทุกองค์กรในภาคอสังหาริมทรัพย์ ควรให้ความสำคัญ

“ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง” ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตฯ กล่าวว่า การให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิแรงงานเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการนำพาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่ UN SDGs กำหนดให้ถึงเป้าหมายไว้ในปี 2030 ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิศุภนิมิตฯดำเนินพันธกิจในการช่วยเหลือเด็กมากว่า 70 ปี และมีประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือในกลุ่มประชากรข้ามชาติมากกว่า 20 ปี ผ่านโครงการต่าง ๆ

อาทิ โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและรูปแบบสาธารณสุขมูลฐาน (Development of Primary Health Service of the Migrants) รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group-MWG) ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ประชากรข้ามชาติได้รับเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้น มูลนิธิจึงจับมือร่วมกับแสนสิริเพื่อระบุต้นเหตุปัญหาของการเข้าถึงสิทธิของแรงงานในภาคก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงสิทธิในฐานะแรงงานและสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลพื้นฐาน ผ่านการลงเยี่ยมแรงงานเพื่อทำแบบสอบถาม และการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้รับเหมาและตัวแรงงาน เพื่อเป็นการยกระดับสิทธิแรงงานไปสู่ระดับสากล และสร้างมาตรฐานในการสนับสนุนสิทธิแรงงานและสิทธิเด็กในพื้นที่ก่อสร้าง

อย่างน้อยการจับมือกับแสนสิริครั้งนี้ สามารถช่วยให้องค์กรได้เข้าถึงหลายข้อ จาก 17 ข้อของ UN SDGs ที่กำหนดไว้ เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (good health and well being), การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (decent work and economic growth) รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ (reduced inequality)

ที่ผ่านมาวางแผนในการดำเนินการ 2 ปี โดยมุ่งเน้นสิทธิแรงงานทางด้านการประกันสังคม, การใช้วันลา, การจ้างงาน, ค่าจ้าง และค่าล่วงเวลา, สิทธิสตรี อาทิ การจ้างงานที่เท่าเทียม, การไม่กระทำความรุนแรง, สุขภาพ และอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงเรื่องสิทธิเด็ก

อาทิ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด, สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา, สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง, สิทธิที่จะมีส่วนร่วม นอกจากนั้น ยังให้การอบรมทักษะพื้นฐานสำหรับเด็กและทักษะอาชีพเสริมให้แรงงานอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2022 จะดำเนินการนำร่องโครงการสนับสนุนสิทธิแรงงานใน 10 ไซต์ก่อสร้างของแสนสิริ พร้อมกับเจาะกลุ่มแรงงานหญิงก่อนเป็นกลุ่มแรก จากนั้นจึงขยายผลต่อไปยังกลุ่มลูกคนงานก่อสร้าง ก่อนที่ในปี 2023 จะต่อยอดไปยังแรงงานข้ามชาติชาย และแรงงานไทยในโครงการก่อสร้างอื่น ๆ ของแสนสิริต่อไป

เพื่อยกระดับสิทธิแรงงานในภาคก่อสร้างอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าจะได้ข้อมูลครบถ้วนทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพเกี่ยวกับต้นเหตุปัญหาของการเข้าถึงสิทธิแรงงานในภาคการก่อสร้าง

ทั้งยังสามารถสร้างมาตรฐานการดูแลสิทธิแรงงานก่อสร้างในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และตอบโจทย์พันธกิจของมูลนิธิศุภนิมิตฯในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของเด็ก, การบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน, การส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม, การเสริมสร้างจิตสำนึกแก่มวลชนเพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม, การให้, การแบ่งปันช่วยเหลือเด็กเปราะบางยากไร้ และร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

เพราะคนเราทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนจึงมีสิทธิเข้าถึงสิทธิที่พึงมี เพื่อช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม