คิดแบบ ‘SHARGE’ กล้าคิด กล้าทำ มีความรับผิดชอบ

พีระภัทร ศิริจันทโรภาส
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส
สัมภาษณ์

รถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle : EV) กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจ ทั้งยังมีโอกาสทางธุรกิจสูง เพราะจำนวนรถอีวีทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยปัจจุบันมีรถอีวี 16 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าผสม (ไฮบริด) ส่วนใหญ่ แต่จากนี้รถอีวีจะเพิ่มขึ้น 100%

โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติกำหนดเป้าหมายส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งตั้งเป้าในปี 2568 จะมีราคาเทียบเท่ากับรถยนต์สันดาป และตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถไฟฟ้า 100% ภายในปี 2578

ปัจจุบันข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า จำนวนรถยนต์ไฟฟ้า 100% จดทะเบียนในปี 2564 มีทั้งสิ้น 3,994 คัน โดยจะส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการที่ชาร์จสูงขึ้น และคาดว่าปี 2563 ถึงปี 2568 สถานีชาร์จจะโต 1,000%

“พีระภัทร ศิริจันทโรภาส” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้บริหารธุรกิจสตาร์ตอัพที่เห็นโอกาสในการสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการให้บริการด้านการชาร์จครบวงจรในไทย กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปี 2561 จุดเริ่มต้นมาจากความสนใจส่วนตัวเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า

โดยช่วงที่ศึกษาปริญญาตรีที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เป็นช่วงที่เทสลา (Tesla) กำลังเริ่มทำตลาดพอดี และเห็นโชว์รูมของเทสลาเกือบทุกวัน จึงจุดประกายให้อยากทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอีวี เพราะเทรนด์รักษ์โลกเป็นเทรนด์น่าจับตามอง และคนต้องการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะช่วยลดคาร์บอนในอากาศได้

“ผมต้องการทำให้ธุรกิจของชาร์จตอบโจทย์ระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า จึงมีทั้งการจัดจำหน่ายเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วที่เหมาะใช้ส่วนตัวที่บ้าน, ให้บริการหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะตามพื้นที่ส่วนกลางของโครงการที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า และเป็นผู้ให้บริการ total solution ด้วยแอปพลิเคชั่น SHARGE ซึ่งพัฒนาขึ้นจนสามารถค้นหาสถานีชาร์จ และทำการจองได้”

ช่วงแรก ๆ ที่ก่อตั้งบริษัทยังไม่มีคนสนใจสินค้าประเภทที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเท่าไหร่ สถานีแรกที่เปิดคือในห้างเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ติดตั้งไป 2 เครื่อง ตั้งใจทำเป็นสถานที่โชว์สินค้าว่าใช้งานอย่างไร และจากนั้นลูกค้าคนแรกที่สนใจสินค้าอย่างจริงจังคือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

เพราะ คุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มีวิสัยทัศน์อยากให้บริการใหม่แก่ลูกบ้าน จึงกลายมาเป็นพาร์ตเนอร์คนแรก โดยปีที่ผ่านมา แสนสิริลงทุน 15 ล้านบาท ในชาร์จ

“กลยุทธ์ของชาร์จอยู่ภายใต้แนวคิด night, day, on the go โดย night คือการชาร์จรถที่บ้านขณะหลับ ส่วน day คือ การชาร์จระหว่างวัน ตามสถานีชาร์จที่ทำงาน ห้าง และมหาวิทยาลัย และ on the go คือ การชาร์จระหว่างทาง ที่จุดชาร์จตามเส้นทางเดินทางไปต่างจังหวัด”

“พีระภัทร” กล่าวต่อว่า ผมตั้งเป้าเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ของไทย สำหรับส่วนแบ่งการตลาดตามจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 40% โดยเราเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มลูกค้าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และคอนโดมิเนียม ตอนนี้มูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท และปีนี้จะโตอีก

โดยจำนวนหัวบ้านปีนี้ประมาณ 2,000 หัว เพิ่มจากปีที่แล้วที่มีเพียง 22 หัว นับว่าเติบโตประมาณ 100 เท่า ส่วนสถานีบริการที่ชาร์จปีนี้ติดเพิ่มไปแล้ว 110 หัว ปีที่แล้วที่มีเพียง 2 หัว และจะติดตั้งสถานีเพิ่มอีก 400-600 หัว

ส่วนปีนี้จะสร้างสถานีที่ชาร์จไฟฟ้าขนาดใหญ่ และมีกำลังการจ่ายไฟฟ้าเร็วที่สุด ติดตั้งตามทางไปต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 100-200 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ เป็นจุดพักรถไปในตัวด้วย โดยก่อตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตอนนี้บริษัทชาร์จกำลังเติบโตอย่างมาก ความสำเร็จนี้มากับความท้าทาย

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเลือกทีมที่ใช่ มองหาคนที่รู้สึกตื่นเต้นกับรถยนต์ไฟฟ้า และแสวงหาความรู้เกี่ยวกับบริษัทชาร์จ ผ่านมาผมสัมภาษณ์ผู้สมัครทุกคนด้วยตนเอง ทั้งหมดเป็นนักศึกษาจบใหม่ เพราะมองว่าสอนงานง่าย รวดเร็ว และสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรได้เต็มที่

ตอนนี้บริษัทมีพนักงาน 22 คน อายุเฉลี่ย 27 ปี ที่ผ่านมาเราโฟกัสสร้างทีม operation ให้มากขึ้น และเร่งการให้บริการติดตั้งเร็วกว่าเดิม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มคนมาช่วยงานบริการมากขึ้น บางส่วนเราก็ใช้ outsource ที่บริษัท หรือหน่วยงานจ้างภายนอกจัดหาให้

เพื่อมาเป็นแขนและขาให้กับพนักงานประจำของเราที่อยู่ในสำนักงาน ซึ่งมีหน้าที่คอยดูแล กำกับ และหาวิธีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เราจะไม่จ้างฟรีแลนซ์ เพราะผมอยากทำงานกับทีมที่สามารถแชร์ความลับให้กันได้ มีความไว้ใจกัน และรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกัน

“ผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดแบบคนรุ่นเก่าในตัว ผมจะเน้นทำงานแบบพบปะกัน ระดมสมองแบบเจอหน้ากัน โดยผมใช้เวลาอยู่กับทีมอย่างน้อย 10 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 6 วันต่อสัปดาห์ ขณะเดียวกันก็ให้อิสระกับพนักงานในการออกความคิดเห็นเต็มที่ กล้าคิด กล้าทำ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ ขยัน และตรงเวลา”

“พีระภัทร” บอกว่า การบริหารคนต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมาย วินัย และความเร็ว ผู้บริหารต้องแน่ใจว่าสามารถให้คำปรึกษากับลูกน้องได้ แสดงให้พวกเขาดูเป็นตัวอย่างได้ ทั้งนี้ ผมมองว่าความสุขของพนักงานที่ได้ทำงานที่ชาร์จ คือการเอาชนะความท้าทาย และการสร้างความสำเร็จ เพราะคนที่นี่มี success driven สูง ส่วนวัฒนธรรมจะมีความเฮฮา แต่พอทำงานก็จะจริงจัง

ขณะที่ความท้าทายในการทำงานจะเป็นเรื่องการดีลกับภาครัฐ เพราะพวกเขาจะมองว่าพวกเราเด็กเกินไป ดังนั้น ทีมของผมจึงต้องทำงานหนักขึ้น ต้องพรีเซนต์ตัวเองทุกครั้งเวลาไปเสนองาน จะต้องแสดงให้องค์กรต่าง ๆ เห็นว่าความคิดของเราไม่ใช่เด็ก มีทักษะ และมีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ

นับว่าความผสมผสานวัฒนธรรมการทำงานที่มีทั้งวินัย และกล้าคิด กล้าทำ ล้วนทำให้ชาร์จต่างจากสตาร์ตอัพหลายแห่ง จนสามารถดำเนินตามเป้าหมาย เป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ไม่ยาก